สปสช.เร่งหา รพ.รับส่งต่อใหม่แทน รพ.เอกชนถูกเลิกสัญญา หลังจัดหา รพ.ชั่วคราวดูแล 3 เดือน

13 ต.ค.2565-พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สปสช. ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งในพื้นที่ กทม. เนื่องจากเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น โดยโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเป็นทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และรับส่งต่อทั่วไป ซึ่งในส่วนของหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำนั้นมี 7 โรงพยาบาล และมีประชาชนจำนวน 2.3 แสนรายที่ลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำกับโรงพยาบาลเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ซึ่ง สปสช. ได้เตรียมมาตรการรองรับ โดยเปิดให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ รพ.เอกชนทั้ง 7 แห่งประกอบด้วย รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท

อย่างไรก็ดี ตามระบบที่วางไว้นั้น โรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งนั้นมีจำนวน 8 แห่งที่มีสถานะเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้วย ทำหน้าที่รับดูแลผู้ป่วยต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายในกรณีที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการในเครือข่ายนั้น ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ จะมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองส่วนหนึ่งที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นแต่มี 8 โรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ

ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมีหลักประกันว่าจะมีโรงพยาบาลรับส่งต่อรองรับเมื่อเจ็บป่วยหนัก สปสช. ได้หารือร่วมกับกรมการแพทย์ และกรุงเทพมหานคร จัดหาหน่วยบริการรับส่งต่อชั่วคราวมารองรับช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ โดยมีรายละเอียดคือ

  1. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น โรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสิน และ รพ.ตากสินแทน
  2. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.กล้วยน้ำไท เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน
  3. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน
  4. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน
  5. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน
  6. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน
  7. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน
  8. ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน

สำหรับ รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 นั้นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำเท่านั้น ไม่ได้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป

“โรงพยาบาลรับส่งต่อเหล่านี้จะเข้ามาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นการดูแลชั่วคราวในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ ขณะเดียวกัน สปสช. ก็จะประสานหาโรงพยาบาลใหม่ๆมาเพิ่มเติม และจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับยาและตรวจติดตามอาการต่อเนื่องนั้น สามารถไปรับยาและรับการรักษาได้ตามที่สถานพยาบาลที่ สปสช.ได้แจ้งให้ทราบแล้ว โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 ไลน์ไอดี @nhso หรือ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”พญ.ลลิตยา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน