ถ่ายโอน รพ.สต.แล้ว 8 จังหวัด 577 แห่ง ยังไม่พบปัญหา

16 ต.ค. 2565 – นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 3,263 แห่ง ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 จังหวัด ว่า ประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญสูงสุด คือ ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ ยังสามารถไปรับบริการต่างๆ กับ สอน.และรพ.สต.ที่โอนไปสังกัด อบจ.ได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ โดยตนเป็นประธานเอง เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานในภาพรวม และตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริหารจัดการ มี นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ดูแลทั้งเรื่องบุคลากร การเงินการคลัง ครุภณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และการจัดระบบบริการ 2) ด้านกฎหมาย มี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ปัญหาและจัดทำแนวทาง/ข้อเสนอด้านกฎหมาย 3) ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล มี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) เป็นประธาน จะรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาด้านวิชาการ และติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอน และ 4) ด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ มี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการถ่ายโอน เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งบุคลากรของสถานบริการที่ถ่ายโอนและประชาชนผู้รับบริการ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า หลังมอบอำนาจให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในการลงนามถ่ายโอนภารกิจ สอน.และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ. ล่าสุดถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2565 มีการถ่ายโอนเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ เชียงราย และนนทบุรี ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา มีการถ่ายโอนภารกิจ สอน.และ รพ.สต.แล้ว 8 จังหวัด รวม 577 แห่ง (ภูเก็ต 12 แห่ง สกลนคร 142 แห่ง นครปฐม 36 แห่ง ศรีสะเกษ 117 แห่ง ระยอง 40 แห่ง ปราจีนบุรี 94 แห่ง เชียงราย 118 แห่ง และนนทบุรี 18 แห่ง) จากการติดตามยังไม่พบปัญหาในการจัดบริการประชาชน ได้ย้ำสสจ.ที่จะลงนามถ่ายโอนว่า อบจ.ที่จะรับถ่ายโอนต้องมีความพร้อมและมีคุณสมบัติตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม และที่สำคัญ ต้องพร้อมที่จะจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราวต่อจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การบริการประชาชนมีความต่อเนื่อง และบุคลากรไม่ได้รับผลกระทบ

เพิ่มเพื่อน