'สุชาติ' เตือนอย่าหลงเชื่อนายหน้าเถื่อน หลอกคนไทยไปทำงานต่างประเทศ ระบาดหนักในโซเชียล

รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน เร่งตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมโฆษณาจัดหางาน ชวนคนไทยทำงานต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมแจงช่องทางร้องทุกข์

19 ก.ค.2565 - นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มสายไหมต้องรอด นำโดยนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ นำหญิงไทยเหยื่อนายหน้าเถื่อนหลอกลวงคนสมัครงานเพื่อไปทำงานโรงงาน งานนวด และงานเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 50 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม.แล้วจำนวน 2 ราย โดย สาย – นายหน้าเถื่อนจะมีพฤติการณ์ไม่ต่างกันคือโฆษณาชวนเชื่อผ่านเพจเฟซบุ๊ก และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการลงรูปภาพคนไทยที่ได้ไปทำงานที่เกาหลีโดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ใช้บริการกับทางเอเจนซี่และเดินทางไปทำงานเกาหลีสำเร็จ

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ปรากฎว่าไม่สามารถเดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ได้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียหายสูญเงินตั้งแต่ 15,000 บาท ถึงประมาณ 100,000 บาท เบื้องต้นกองทะเบียนจัดหางานกลางฯ ได้ประสานกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ตลอดมาพบคนไทยถูกหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีผิดกฎหมาย และต้องตกเป็นเหยื่อทำให้เสียทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย บังคับใช้แรงงาน บังคับค้าประเวณี ซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์จำนวนมาก ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศอย่างยิ่ง ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอฝากถึงพี่น้องคนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศใด หากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์แนะนำให้ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง และโปรดอย่าหลงเชื่อ”นายสุชาติกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รมว.แรงงาน ได้สั่งการกรมการจัดหางานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง และตรวจสอบสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 101 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 136 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 11,566,340 บาท

ทั้งนี้ คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้ 1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas 2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

3. ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd 4. ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 และ 5. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี!! “พิพัฒน์” รมว.แรงงาน จัดให้บริการตรวจเช็คสภาพรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจทุกเส้นทาง ก่อนเดินทางช่วงสงกรานต์ 2567

วันที่ 11 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ ตนมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และพี่น้องประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมทั้งผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันนั้น

"พิพัฒน์" เชื่อมขยายผล ทันที! หลังบริษัทอาหารญี่ปุ่น ชื่นชมแรงงานไทยมีทักษะ เปิดรับแรงงาน เริ่มวุฒิ ม.6 รายได้ 3 หมื่นขึ้นไป

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายอัครพงศ์ เฉลิมนนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา นางสาวสดุดี กิตติสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน)

“พิพัฒน์” รุกเปิดตลาดแรงงานญี่ปุ่นภาคท่องเที่ยว เจรจา รร.ดุสิตธานี เกียวโต ดันส่งแรงงานไทยไปทำงานเพิ่ม

วันที่ 8 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์

ทำได้แน่ ! "พิพัฒน์" ยืนยัน ค่าแรงขั้นต่ำผ่านกลไกไตรภาคี ถึงเป้าหมาย 400 บาทในสิ้นปี 2567

นายพิพัฒน์ รัขกิจประการ รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี 400 บาท ทั่วประเทศ ในปี 2567 กำลังดำเนินการอยู่