30 ปี ‘SIIT ธรรมศาสตร์’ มอบ 100 ทุน พร้อมปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ‘การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน’

“สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ธรรมศาสตร์” ประกาศมอบ 100 ทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ พร้อมปรับลดเกณฑ์ GPA ผู้เข้าสอบชิงทุน จาก 2.75 เหลือ 2.5 เพื่อทลายข้อจำกัดและสร้างโอกาสให้ประเทศ พร้อมปรับปรุงหลักสูตรใหม่ “Business and Supply Chain Analytics” ตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ของ SIIT ในฐานะผู้ที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ “วิศวะอินเตอร์” แห่งแรกของประเทศไทย ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตซึ่งเป็น นวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและการแก้โจทย์ภาคอุตสาหกรรมออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ศิษย์เก่า SIIT จึงเป็นทั้งผู้บริหารหน่วยงาน ผู้นำองค์กร ตลอดจนเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติ

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้ เทรนด์ความสนใจ รวมถึงอาชีพในโลกอนาคตมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้มีวันหมดอายุและหมดอายุเร็วมาก ความรู้ในอดีตไม่สามารถนำมาใช้จัดการปัญหาในปัจจุบันได้ นั่นทำให้สถาบันการศึกษาต้องตื่นตัวอย่างถึงที่สูงสุดที่จะอัพเดทความรู้ใหม่ล่าสุดมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษา ขณะที่คณาจารย์ก็ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าไปคลุกวงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง จึงจะสามารถนำมาออกแบบการเรียนการสอนได้ ส่วนนักศึกษาต้องมีประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ

ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา กล่าวว่า ที่ผ่านมา SIIT ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันพลวัตของโลก องค์ความรู้ที่ SIIT ถ่ายทอดให้กับนักศึกษานั้นเป็นองค์ความรู้ที่ใหม่ที่สุด โดยล่าสุดในปีการศึกษา 2566 นี้ SIIT ได้ปรับปรุงหลักสูตร “การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน” หรือ Business and Supply Chain Analytics (International Program) : BA เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งมีความสำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการในทุกๆ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย

“เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า เรามีความรู้ที่อัพเดทที่สุด มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด มีคณาจารย์ที่ยืนอยู่ในชั้นแถวหน้า เรายังมีคอนเนคชันกับภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วโลก และเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่นักศึกษา SIIT จะได้รับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในสถาบันฯ” ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยด้วยการสร้างกำลังคนที่เข้มแข็ง และเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับนักเรียนที่มีศักยภาพ แต่อาจมีข้อจำกัดด้านการเงินหรือทุนทรัพย์ SIIT จะมอบทุนการศึกษาจำนวน 100 ทุน ภายใต้ โครงการสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (Outstanding Student Program :OSP) และยังมีทุนการศึกษาจากทั่วโลกอีกมากมายให้สอบแข่งขันในระหว่างที่เป็นนักศึกษา SIIT

รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ จันทร์วราสุทธิ์ ประธานหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน SIIT กล่าวว่า ปัจจุบันโจทย์ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป SIIT จึงต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ากับการผลิตบัณฑิตยุคใหม่ ดังนั้นหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจฯ จึงตั้งต้นมาจากความต้องการของตลาดแรงงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้พบว่าหลายองค์กรธุรกิจไม่มีบุคลากรทำหน้าที่วิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถนำข้อมูลออกไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดกิจการได้ ฉะนั้นนอกจากความรู้พื้นฐาน และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ อาทิ การเงิน บัญชี การตลาด ฯลฯ แล้ว ภายใต้หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่ “การใช้เครื่องมือจริง” ในการวิเคราะห์ข้อมูล อาทิ ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise resource planning :ERP) ซึ่งเป็นระบบที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้อยู่ หรือหลักสูตรการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเอง (Machine learning) เป็นต้น

สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเข้าไปมีบทบาทได้ใน 4 กลุ่มภาคธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มงานประเภทซัพพลายเชน โลจิสติกส์ 2. กลุ่มงานเทคโนโลยี และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ปรับปรุงข้อมูล และหาทางออกให้กับปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ 3. กลุ่มงานดำเนินธุรกิจโดยตรง เช่น นักการเงิน นักการตลาด ที่ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขในการวิเคราะห์ และ 4.กลุ่มงานสตาร์ทอัพ ที่หลายคนประสบความสำเร็จจากการใช้ความรู้ด้านข้อมูลเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ

“มากไปกว่านั้น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของ SIIT ยังมีทางเลือกอื่นในการสำเร็จการศึกษา ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องทำวิจัยเท่านั้น โดยจะมี 4 ทางเลือก คือ 1. การทำ Senior Project 2. การเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับสถาบันวิชาการต่างประเทศ 3. การฝึกงานระยะยาวกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม 4. การสร้างธุรกิจ Start up ให้สำเร็จ แล้วเทียบโอนเป็นหน่วยกิตการเรียน” รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ภานุวัฒน์วนิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรับเข้าศึกษาและประชาสัมพันธ์ SIIT กล่าวว่า SIIT ตั้งเป้าที่จะยกระดับสู่การเป็น Education Hub ของภูมิภาค ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยแล้ว ยังจะช่วยเชื่อมต่อประเทศไทยเข้ากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนานาชาติ โดยที่ผ่านมา SIIT ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือการเปิดสอบชิงทุนการศึกษา OSP ซึ่งถือเป็นการตอบแทนสังคมด้วยการ “สร้างโอกาส” ให้นักเรียนที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้ามาศึกษาในสถาบันที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล โดยในปีการศึกษา 2566 SIIT จะมอบทั้งสิ้น 100 ทุน

รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากจำนวนทุนการศึกษาที่มากถึง 100 ทุนแล้ว SIIT ยังได้ทลายข้อจำกัดอื่นๆ ของนักเรียนด้วย โดยในปีนี้ได้ “ปรับลด” เกณฑ์เกรดการเรียนเฉลี่ยสะสม หรือ GPA ลง จากเดิมที่กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ต้องมีเกรดไม่ต่ำกว่า 2.75 จึงจะมีสิทธิเข้าสอบชิงทุน OSP ซึ่งล่าสุดได้ปรับลดลงมาเหลือเพียง 2.50 เท่านั้น

“เรามองว่า GPA ไม่ได้ชี้วัดความรู้ความสามารถของนักเรียนได้ทั้งหมด และอาจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เราจึงปรับลดเกณฑ์ลงมาเหลือเพียง 2.50 เท่านั้น แล้วค่อยมาวัดผลกันที่ข้อสอบของ SIIT เอง หากสอบผ่านหรือพิสูจน์ตัวเองในกติกากลางนี้ได้ ก็จะได้รับทุนการศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

สำหรับ โครงการ OSP ปีการศึกษา 2566 มีทั้งสิ้น 100 ทุนการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ทุนเต็มจำนวน 2.ทุนครึ่งจำนวน และ 3.ทุนบางส่วน โดยเปิดรับสมัครสอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2565 - วันที่ 30 กันยายน 2565 สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www..siit.tu.ac.th

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ SIIT / 065-543-0379 / [email protected]
MEDIA HOTLINE: พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

ดร.นิว เฮลั่น! หยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมธ. 'ปริญญา' ได้ที่โหล่

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "โชคดีของ