นายกฯ ปาฐกถาเวที 'GCNT Forum 2022' มุ่งบรรลุ 'เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจBCG'

นายกฯ ปาฐกถาพิเศษเวที GCNT Forum 2022 มุ่งบรรลุ 'เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจBCG' ลดภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

2 พ.ย.2565 - ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมGlobal Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุม GCNT ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญและเป็นช่วงของการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด – 19 เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่มุ่งผลักดัน คือการสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ “ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ” โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย


นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประสบการณ์ของไทยที่เป็นสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงขึ้น ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด – 19 โรคอุบัติใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไทยตระหนักดีว่าการลดภาวะโลกร้อนมิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งได้เสนอหลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปค ที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” ทั้งนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบที่ไทยได้เริ่มแบ่งปันกับประชาคมโลกเพื่อเป็นหนทางสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าเป้าหมายกรุงเทพฯจะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้การขับเคลื่อนประเด็นทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือของทุกคนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ให้ทุกคนจับมือก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งที่สุด


จากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพและร่วมรับฟังผู้เข้าร่วมประชุมในการประกาศเจตนารมณ์และความร่วมมือของสมาชิก GCNT ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ