'บิ๊กตู่' ชงความร่วม 3 ข้อประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนยุโรป

นายกฯ เสนอความร่วมมือ 3 ด้าน ในการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนยุโรป ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยกระดับมาตรฐานอาเซียนไปสู่การค้าที่ยั่งยืน

14 ธ.ค.2565 - เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 12.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณ โรงแรมโซฟิเทล บรัสเซลส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงในช่วงอาหารกลางวัน (C-Suite Roundtable Luncheon) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) พร้อมนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย

นายกฯ กล่าวยินดีที่ได้พบกับผู้บริหารของสหภาพยุโรปและผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำของยุโรปในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ระหว่างภูมิภาคอาเซียน-ยุโรป และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริบทโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียม สภาวะเงินเฟ้อ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ความขัดแย้ง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นความสมดุล ซึ่งรวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุม และเอื้อประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ประเทศไทยเดินหน้าสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยในฐานะประธานเอเปกปีนี้ได้ผลักดันเรื่องนี้ในกรอบเอเปกจนบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จึงยินดีที่สหภาพยุโรปมีข้อริเริ่ม Global Gateway ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจ BCG และสามารถสนับสนุนกับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนได้ ซึ่งสหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่จะช่วยสนับสนุนอาเซียนในเรื่องการผลิตและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขนส่ง พลังงานทดแทน และการจัดการของเสีย

โอกาสนี้ นายกฯ ได้เสนอความร่วมมือหลัก 3 ด้าน เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนและสหภาพยุโรปควบคู่ไปกับความยั่งยืน ดังนี้ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยอาศัยการเงินสีเขียวหรือการลงทุนเพื่อความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่หลายองค์กรและธนาคารในสหภาพยุโรปร่วมสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่า สหภาพยุโรปยังสามารถสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนา และสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งสอดคล้องกับหลัก ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) พร้อมหวังว่า ข้อริเริ่ม Global Gateway จะนำไปสู่การลงทุนของสหภาพยุโรปในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในอาเซียนและในไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อาเซียนมีเครือข่ายพลังงาน คมนาคม และดิจิทัล ที่ทันสมัย สะอาด และยั่งยืนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนยุโรปในอาเซียนด้วย

นายกฯ เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปร่วมกับเขตเศรษฐกิจในเอเชียที่มีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LNG สูง พิจารณาความร่วมมือในการจัดทำ LNG ในตลาดโลก รวมทั้งบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการนำเข้า LNG เช่น ท่าเรือ และคลังเก็บ LNG เพื่อช่วยลดความผันผวนด้านราคา และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของทั้งสองภูมิภาค

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาเซียนมีเป้าหมายสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ของสัดส่วนพลังงานในอาเซียน ภายในปี 2568 และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ไทยได้เริ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศให้ผลิตสินค้าจากพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการใช้และการส่งออกสินค้าเหล่านี้ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรม EV โดยไทยยังมุ่งพัฒนาพลังงานกรีนไฮโดรเจน และยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการพัฒนาพลังงงานสะอาดนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในอาเซียน นายกรัฐมนตรีหวังว่า สหภาพยุโรปจะพิจารณาสนับสนุนความพยายามดังกล่าว ผ่านการอํานวยความสะดวกและลดภาษีสําหรับการนําเข้าและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป รวมถึงพิจารณาให้สิทธิ ช่องทางพิเศษสําหรับสินค้าสีเขียวหรือ GreenLane ด้วย

และ 3.การยกระดับมาตรฐานของอาเซียนไปสู่การค้าที่ยั่งยืน นายกฯ ชื่นชมสหภาพยุโรปในเรื่องการมีมาตรฐานทางการค้าที่สูง ทั้งในด้านกฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน แรงงาน รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อาเซียนกำลังพยายามพัฒนา หวังว่าสหภาพยุโรปจะร่วมมือกับอาเซียนและไทยในการส่งเสริมศักยภาพในเรื่องนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานของอาเซียนให้ทัดเทียมกับสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดทำ FTA ที่มีคุณภาพสูงและครอบคลุม และเป็นแนวทางสําหรับการเจรจา FTA อาเซียน-EU ในอนาคต ทั้งนี้ ไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือด้านวิชาการของภูมิภาค ในการเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับสปิริตของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ขายฝัน 'IGNITE THAILAND' ให้ 'UN- ESCAP'

นายกฯ หารือรองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหาร ESCAP ย้ำศักยภาพไทย ในการขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนในภูมิภาค