กรมอนามัยหวั่นยอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งสูง ยัน XBB.1.16 ไม่มีอาการรุนแรง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นยอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งสูง หลังประชาชนเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะให้สังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ก่อนเริ่มกลับเข้าทำงาน รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัย

18 เม.ย. 2566 – ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโรงพยาบาล จำนวน 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน เพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่าจากสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 2-8 เมษายน 2566 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 168 คน เฉลี่ยวันละ 24 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ หลังห่างหายจากเทศกาลสงกรานต์มานาน การเดินทางไปท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา รวมทั้งสถานประกอบการ สถานบันเทิง มหกรรมรื่นเริงกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะที่ประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ จำนวน 6 ราย ทั้งนี้เชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่น แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรงอื่นๆ เพิ่มเติม กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการเตรียมความพร้อมรับมือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการรักษา

ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการของโรค ผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาตามอาการ และกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและโรคประจำตัว จะได้รับการวินิจฉัยให้ยาต้านไวรัสตามความเหมาะสม แต่จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ที่มีปอดอักเสบรุนแรง และมีภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ร่วมด้วย ซึ่งจากข้อมูลวันที่ 8 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยปอดอักเสบ จำนวน 19 คน และใส่ท่อช่วยหายใจ จำนวน 14 คน สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่อยู่บ้าน อาจได้รับการแพร่เชื้อจากบุคคลในครอบครัวที่เดินทางมาเยี่ยมตามประเพณี หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขทันที

“อีกทั้ง กรมอนามัยขอให้ประชาชนเฝ้าระวังตนเอง โดยสังเกตอาการ หากไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ให้ตรวจ ATK เพื่อความมั่นใจ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อกลับเข้าไปทำงาน และล้างมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะหากเกิดการระบาดเป็นวงกว้างอาจส่งผลต่อการทำงาน ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานอาจพิจารณาให้พนักงานที่ป่วยทำงานที่บ้าน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นระยะเวลา 4 เดือน สามารถเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งสามารถลดอาการรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

เร่งทำงานหนัก 'ชลน่าน' ลงพื้นที่ปัตตานีพาหมอไปหาประชาชนฯ

หมอชลน่านลงปัตตานีเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดคลินิกคัดกรองความผิดปกติบนใบหน้าและมือเด็ก ช่วยเข้าถึงการผ่าตัดแก้ไขปัญหา

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย