ห้ามพลาด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ชวนประชาชนรับชม ปรากฏการณ์สุริยุปราคา

18 เม.ย. 2566 – เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า 20 เมษายนนี้ มีปรากฏการณ์ #สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย สังเกตได้บางพื้นที่ทางภาคใต้ อีสาน และตะวันออก

ช่วงเช้า 20 เมษายน 2566 จะเกิด“สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” เวลาประมาณ 10:22 – 11:43 น. คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน แนะชมผ่านอุปกรณ์กรองแสง ห้ามดูด้วยตาเปล่า หรือแว่นกันแดดโดยเด็ดขาด เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITpage)

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2566 เป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 – 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที

ประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10:22 – 11:43 น. สังเกตได้ใน 9 จังหวัดภาคใต้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้ จังหวัดนราธิวาส (ร้อยละ 4.06) ยะลา (ร้อยละ 3.22) ปัตตานี (ร้อยละ 2.82) สตูล (ร้อยละ 1.77) สงขลา (ร้อยละ 1.77) พัทลุง (ร้อยละ 0.93) ตรัง (ร้อยละ 0.61) นครศรีธรรมราช (ร้อยละ 0.32) กระบี่ (ร้อยละ 0.01) และรวมถึงบางส่วนของจังหวัดตราด (ร้อยละ 0.02) อุบลราชธานี (ร้อยละ 0.1) และศรีสะเกษ (ร้อยละ 0.01)

#สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ #สุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง

สำหรับ #สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น

เน้นย้ำ สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ #ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทะลุผ่านและทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะเบอร์ 14 หรือมากกว่า และอุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน

หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ #ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสงทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา
สดร. เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย” ในวันที่ 20 เมษายน 2566 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา 09:00-12:00 น. (ช่วงเวลาเกิดปรากฏการณ์ 10:31-11:33 น.) จะเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุดร้อยละ 1.82 (เวลาประมาณ 11:01 น.) โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัยไว้บริการประชาชน ผู้สนใจเข้าร่วมฟรี! ลงทะเบียนร่วมงานที่ https://bit.ly/41rOwZT ลุ้นรับแว่นดูดวงอาทิตย์ภายในงาน (จำนวนจำกัด)
นอกจากนี้ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ https://www.facebook.com/NARITpage ได้อีกทางหนึ่งด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สดร.เผยภาพดาวหาง ฝีมือคนไทยบันทึกจากยอดดอยอินทนนท์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เป็นฝีมือคนไทยบันทึกได้ช่วงหัวค่ำวันที่ 11 มีนาคม 2567 จากยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

IRPC เยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

แห่ชม 'ฝนดาวตก' คึกคัก! มากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยบรรยากาศและภาพกิจกรรมคืนฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้มีปริมาณมากสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธ.ค.นี้ เฉลี่ย 120-150 ดวง/ชม. เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 2 ทุ่ม มาถี่หลังเที่ยงคืน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)แจ้งชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าค่ำคืนเดือนธันวาคมกับ ฝ

รอชม 'ดาวศุกร์สว่างที่สุด' รุ่งเช้า 18 ก.ย. สังเกตได้ด้วยตาเปล่า

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า รุ่งเช้า 18 กันยายนนี้ #ดาวศุกร์สว่างที่สุด อีกครั้ง 18 กันยายน 2566 ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง