รัฐบาลไฟเขียว 5 ข้อแก้ปัญหาบุคคลากรสาธารณสุขขาดแคลน

รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข เห็นชอบ 5 ข้อ ไฟเขียวเพิ่มหมออีก 10,929 คน ภายในปี 2569 มีหมอเพิ่มเป็น 35,578 ตำแหน่ง แก้ปัญหาภาระงานล้นมือ

22 มิ.ย.2566 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนอย่างหนักมาโดยตลอดทั้งสถานการณ์ปกติและช่วงสถานการโควิด-19 ทำให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ รวมทั้งได้รับความชื่นชมและยอมรับจากต่างประเทศในมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งนี้ จากกรณีที่พบว่าปัจจุบันภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากซึ่งมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การให้บริการผู้ป่วยยาเสพติดตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้การบำบัดดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นบทบาทหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 1 ล้านคน การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่พบปัญหาว่าบางแห่งยังไม่สามารถจัดบริการตามที่ประชาชนคาดหวังได้ ทำให้ประชาชนกลับมารับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น ตลอดจนประชาชนมีความคาดหวังต่อรับบริการสาธารณสุขมากขึ้นด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อปรับเปลี่ยนและปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงให้ความสำคัญกับแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้หารือร่วมกันในการหาแนวทางแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้นแล้ว โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันในประเด็นสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น

2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่ 3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ รวมทั้งจะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 48 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ. ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ

4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ ได้รับจัดสรรไม่ถึง 70% จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น 85% และ 5.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่าแพทย์คงอยู่ในระบบมากถึง 90% ดังนั้นจะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2 พันคน ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะมีการเสนอกับแพทยสภาต่อไป โดยหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันทำงานในการแก้ไขปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ ให้มีความคืบหน้าภายใน 30 วัน

“นายกฯ ให้ความสำคัญและชื่นชมแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจ ปฏิบัติภารกิจในการรักษา ดูแลประชาชนมาอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี รวมถึงการร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้มาได้ จนประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก โดยเชื่อว่าด้วยจรรยาบรรณและจิตวิญญาณของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนงานสาธารณสุขไทยอย่างไม่ย้อท้อ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายอนุชากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

เร่งทำงานหนัก 'ชลน่าน' ลงพื้นที่ปัตตานีพาหมอไปหาประชาชนฯ

หมอชลน่านลงปัตตานีเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ จัดคลินิกคัดกรองความผิดปกติบนใบหน้าและมือเด็ก ช่วยเข้าถึงการผ่าตัดแก้ไขปัญหา