นักวิชาการ ชี้ปรากฏการณ์ 'พิมรี่พาย' ไม่ส่งผลเพิ่ม 'จีดีพี' ยก 'น้ำเต้าหู้' ยังมีมูลค่ามากกว่า

9 ธ.ค.2564 - รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความเรื่อง "กรณีศึกษาของพิมรี่พาย" เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเนื้อหาดังนี้ กรณีของพิมรี่พายเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะเข้าใจถึงคำว่า “พัฒนา” (development) มิใช่ การเจริญเติบโต (growth) ของอะไรสักอย่าง เช่น GDP หรือ ความสูงใหญ่ของคน แต่เพียงลำพัง หากแต่หมายรวมถึง คุณภาพ เพราะ ขนาดของคนที่เติบโตสูงใหญ่ขึ้นมามิได้หมายรวมถึงขนาดของ “สมอง” แต่อย่างใดไม่ เป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ประพฤติปฏิบัติยังเป็นเด็กอยู่ก็โตแต่ตัว (เจริญเติบโต) แต่ไม่มีพัฒนาการ

การขยายตัวหรืออีกนัยหนึ่งคือการเจริญเติบโตของ GDP เกิดได้หลายทาง แต่โดยหลักแล้ววัดจาก "มูลค่าเพิ่ม" (value added) ในสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา เมื่อนำไปเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วคิดเป็นร้อยละก็จะได้ อัตราการเจริญเติบโตเช่น ปี 2564 GDP มีมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท เมื่อนำไปเทียบกับ ปี 2563 ที่หากมีมูลค่า 1.0 ล้านล้านบาท ก็จะได้อัตราการเจริญเติบโต(growth rate)เท่ากับร้อยละ 5 แต่ใส้ในของร้อยละ 5 นี้มาจากแหล่งใด ในเชิงพัฒนาแล้วมีความสำคัญมากกว่าตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 5

การเพิ่มขึ้นของมูลค่าบริการรักษาความปลอดภัยเองจากมีการก่อการร้ายมากขึ้น หรือ ต้องใช้จ่ายในงบตำรวจ/ทหารเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยเนื่องจากเกิดม็อบ 3 นิ้ว แม้จะมีส่วนทำให้ GDP ขยายตัว แต่มิได้ทำให้เกิดการพัฒนาแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม หากงบวิจัยที่ใช้จ่ายเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 แม้จะไม่ได้ผลสำเร็จตามที่คาดหมายเอาไว้ แต่ก็มีความหมายต่อการพัฒนาเพราะอย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าแนวทางที่ทดลองค้นคว้าอยู่นี้มันไปไม่ได้

การสร้างยี่ห้อหรือแบรนด์สินค้า/บริการ หรือ การลงทุนในการศึกษาของคน จึงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทุนที่จับต้องไม่ได้(intangible capital)ซึ่งจะมีผลต่อGDPและการพัฒนาในระยะยาว

สินค้าญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีว่าจากสินค้าที่มีคุณภาพชั้น 2-3 ในอดีต(เหมือนสินค้าจากจีนในปัจจุบัน)ได้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพและขายในยี่ห้อของตนเองจนบัดนี้กลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าของคู่แข่งทั้งที่สามารถใช้งานได้ไม่แพ้กัน กล้องถ่ายรูป รถยนต์ รถจักรยานยนตร์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างยี่ห้อ ลองเอ่ยชื่อมาดู

ส่วนการศึกษาก็เช่นกันเป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพมิใช่โตแต่ตัวแต่ขาด ค.ว.ย. คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ เช่นไทยในปัจจุบัน ที่เรียกร้องแต่ประเด็นที่เป็นกระพี้ ไว้ผมยาว ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ หรือไปเลยเถิดจนถึงล้มเจ้าเพราะไม่แยกแยะหรือคิดวิเคราะห์ไม่เป็นว่า ระหว่างสถาบันฯกับนักการเมืองอันใดเป็นอุปสรรคในการพัฒนามากกว่ากัน เอาแต่เชื่อเพราะหลงใหลเชื่อในคำสอนของศาสดาตนเอง

ปรากฏการณ์ "พิมรี่พาย" จึงมิใช่ตัวอย่างของการพัฒนาและมิใช่การเจริญเติบโตเสียด้วยซ้ำเพราะเธอขายแต่สินค้ายี่ห้อของคนอื่นและส่วนใหญ่น่าจะมาจากต่างประเทศ ไลฟ์สดก็ด้วยแพลทฟอร์มและเทคโนโลยีของคนเช่นกัน

มีอะไรบ้างที่เธอสร้างขึ้นมานอกจากซื้อมาขายไป? ดังนั้นไม่ว่าจะสร้างส่วนต่างกำไรได้มากเท่าใดก็หาได้เกิดผลต่อ GDP ไทยไม่

ทำน้ำเต้าหู้ขายยังมีมูลค่าเพิ่มกับ GDP ไทยมากกว่าเพราะมีการใช้วัตถุดิบและแรงงานจากภายในประเทศแถมยังอาจมียี่ห้อและเทคโนโลยีของตนเองอีกด้วย

ดังนั้นการขายสินค้านำเข้าหรือสินค้ามือสอง เช่น เล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ดิจิตอล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี หรือ การพนันไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ล้วนไม่ได้ส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มที่จะเพิ่มขึ้นใน GDP แต่อย่างใด

การพนันเป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจซื้อ(ได้-เสีย) ระหว่างผู้เล่น ส่วนสินค้ามือสอง เช่น หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ถูกนับไปแล้วตั้งแต่การทำ IPO ตอนนำหุ้นมาขายในรอบแรก ดังนั้นไม่ว่าจะมีการซื้อขายอีกกี่ทอดก็ไม่นับเพราะนับไปแล้ว

ประเทศเราที่ต้องแข่งขันกับคนอื่นต้องการอะไรมากกว่ากัน?

ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการ' ยกรายงานสศช.ชี้คนหลายสิบล้านที่เสพสื่ออินฟลู 2 ล้านคนคือเหยื่อที่ถูกล่า

ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ผลกระทบของ "อินฟลูเอนเซอร์" 2 ล้านคนที่มีต่อสังคมไทย มีเนื้อหาดังนี้