'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้ง 'องค์กรก๊าซแห่งชาติ-ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป' แก้ราคาไฟฟ้าแพง

'ธีระชัย' ชงรัฐบาลตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ แก้ปัญหาราคาไฟฟ้าแพง เป็นผู้มีสิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียว พร้อมประกาศนโยบายให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปแบบnet metering

29 พ.ย.2566 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง 1 มีเนื้อหาดังนี้

รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแพง โดยปรับโครงสร้างระบบอย่างแท้จริง
ในข่าวข้างล่าง

"สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอถึงรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาว 3 ข้อ ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรเร่งแก้ไขโครงสร้างต้นทุนต้นทุนเชื้อเพลิง
โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคาพูลก๊าซ (ราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก)
เนื่องจากก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ การปรับลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 20 – 25 ปีโดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าล้นเกินเพราะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์แต่ใช้ไฟฟ้าจริงเพียงแค่ 3 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น

3. รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาดโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

ถ้าท่านรัฐมนตรีพลังงาน นายพีระพันธุ์ อยากจะสวมหัวใจสิงห์ อยากสร้างคุณูปการให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน และทำให้ท่านนั่งอยู่ในใจของประชาชนไปอีกนาน
ผมมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ
รัฐบาลควรจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ ให้เป็นผู้มีสิทธิ์รับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียว
เนื่องจากเอกสิทธิ์ดังกล่าวเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินอย่างหนึ่ง จึงถึงเวลาที่ควรยกเลิกการมอบให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ใช้สิทธิ์นี้
เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติแล้ว ก็กำหนดให้องค์กรฯ เป็นผู้ขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยไปให้แก่ผู้ใช้ภายในประเทศ โดยกำหนดราคาต่างกัน
-ส่วนที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ควรขายโดยองค์กรฯ ไม่เอากำไร
-ส่วนที่ขายให้กลุ่ม ปตท. กรณีนำไปใช้ผลิตก๊าซหุงต้ม ควรขายโดยองค์กรฯ ไม่เอากำไร
-ส่วนที่ขายให้แก่โรงงานปิโตรเคมี องค์กรฯ ควรบวกกำไร โดยขายในราคาตลาดโลก
-ส่วนที่ขายให้โรงไฟฟ้าเอกชน องค์กรฯ ควรบวกกำไร โดยขายในราคาตลาดโลก

วิธีนี้ คือถือหลักการว่า ประชาชนเป็นเจ้าของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย จึงต้องตั้งราคาให้ประโยชน์แก่ประชาชนก่อนอื่น
นอกจากนี้ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ก็ควรให้องค์กรฯ เป็นผู้ดำเนินการ โดยไม่บวกกำไร
แนวคิดนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซหุงต้ม ลดต่ำลงอย่างยั่งยืน โดยภาคธุรกิจจะไม่สามารถบวกกำไรเกินควรอีกต่อไป

สอง ประกาศนโยบายให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปแบบ net metering
รัฐบาลควรประกาศนโยบาย อนุญาตให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป โดยให้สามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ ให้แก่ กฟผ. ในราคาใกล้เคียงกับที่ประชาชนซื้อไฟฟ้า
เรียกว่าระบบ net metering คือหักกลบลบหน่วย

นโยบายนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงเวลาที่รักษาการเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยประกาศไว้แล้ว
แต่น่าเสียดาย ภายหลังจากพ้นรักษาการณ์ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่นำไปปฏิบัติ
การใช้ระบบหักกลบลบหน่วย จะลดค่าไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนทันที อย่างยั่งยืน และจะทำให้การติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป คืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น
ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ครัวเรือนสามารถกู้เงินจากธนาคารมาใช้เพื่อการนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลควรดำเนินการตามนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอประชาชนไว้ก่อนหน้าการเลือกตั้ง
คือรัฐควรจัดแหล่งเงินจากธนาคารของรัฐ เพื่อสนับสนุนให้ อบต. หรือเทศบาล เพื่อลงทุนสร้างโซล่าร์ฟาร์ม ให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกินที่ชุมชนใช้อยู่
ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ชุมชนในชนบทสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ทันที อย่างยั่งยืน และยังจะมีรายได้เข้ามาพัฒนาชุมชนต่อเนื่องได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในแง่มุมของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน ย่อมไม่เห็นด้วย ย่อมคัดค้านว่า ในเมื่อกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เกินความต้องการใช้อยู่แล้วมากมาย
จึงย่อมคัดค้าน ไม่ให้รัฐบาลเปิดเสรีให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองเพิ่มเติม
แต่ผมขออธิบายว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มเติมโดยประชาชนนั้น ประชาชนย่อมเป็นผู้ใช้เอง
ดังนั้น จะเป็นกำลังการผลิตที่ไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน

ส่วนเอกชนที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้ เมื่อประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตเอง ตลาดการใช้ไฟฟ้าที่เหลือสำหรับบริษัทเอกชน ต้องยอมรับว่าจะลดลง
ซึ่งบริษัทเอกชนเหล่านี้ สามารถปรับตัวได้ โดยการลดราคาขายไฟฟ้าลง ยอมลดกำไรลงบ้าง
เพื่อจูงใจให้ประชาชนส่วนที่เหลือ มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น หันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

และนโยบายนี้ จะกระตุ้นให้มีการพัฒนาธุรกิจดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนอีกด้วย

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' แนะทางเลือกเหมือน ไทย- มาเลเซีย

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' ชี้ไม่มีการระบุว่าเป็นการกำหนดแนวเขตทางทะเล ถ้าไทยฟ้องศาลโลกก็ไม่แน่ว่าจะชนะ แนะทางเลือกเจรจายุติปัญหาข้อพิพาท เช่น กรณีไทย- มาเลเซีย