อากาศเย็นหลงฤดู! 16-20 มี.ค. อุณหภูมิลดฮวบถึง 8 องศา

14 มี.ค. 2568 -ที่ศูนย์ปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงว่า ในช่วงวันที่ 16-20 มีนาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลด 5-8 องศาลเซลเซียส (ซ.) ส่วนภาคอื่น ๆ จะลดลง 2-4 °ซ. เนื่องจากมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน แต่เนื่องจากขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้รู้สึกอากาศเย็นลงวูบวาบ โดยเฉพาะภาคอีสานที่จะได้รับผลกระทบก่อนภาคอื่น ๆ ในช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสูงสุดต้นทุนเดิม 38-39 °ซ. อาจจะลดลงเหลือ 30-31 °ซ. ส่วนตอนเช้าอุณหภูมิต่ำสุด 16-17 °ซ.

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัย ‘มวลอากาศเย็นที่เคลื่อนลงมาผ่านประเทศจีน’ เป็นหลัก แต่ปัจจัยทางอ้อมคือ ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ (Polar Vortex) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อากาศเย็นขนาดใหญ่ซึ่งหมุนวนอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ โดยปกติจะถูกกั้นไว้ด้วยกระแสลมกรดขั้วโลก (Polar Jet Stream) แต่เมื่อกระแสลมวนขั้วโลกขาดเสถียรภาพ ทำให้กระแสลมกรดถูกรบกวนจนมีกำลังอ่อนลงไปด้วย อากาศเย็นบริเวณขั้วโลกดังกล่าวจึงสามารถแผ่ขยายลงมายังละติจูดต่ำ ๆ ได้ สร้างความหนาวเย็นให้กับเขตพื้นที่ที่อุ่นกว่า อีกทั้งจากภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยและกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจาก ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ บ้าง แต่ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีเทือกเขาหิมาลัยขวางกั้น แต่ปัจจัยความหนาวเย็นที่สำคัญของไทยคือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมเป็นระลอกๆ ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นระลอกเช่นกัน ระยะเวลาที่อุณหภูมิลดลงรอบนี้จึงยาวขึ้นจากเดิม 2-3 วัน เป็น 3-5 วัน

โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยได้สัมผัสอากาศเย็นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปี 2554 ปี 2559 และปี 2565 สถิติจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุสภาวะอากาศประเทศไทยเดือนมีนาคม 2554 อุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ 12 °ซ. ที่อําเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 17 และ 18 มีนาคม 2554 ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิต่ำสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 อยู่ที่ 18 °ซ. ต่อมาในเดือนเมษายน 2554 ไทยได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระยะทําให้อุณหภูมิลดลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 16 °ซ. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ที่อําเภอเมือง จังหวัดเลย

ถัดมาในปี 2559 แม้ไทยจะได้รับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบอุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้ 10.2 °ซ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่จังหวัดนครพนม โดยหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงแผ่อิทธิพลปกคลุมประเทศไทยต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2559 และในปี 2565 ไทยเจออากาศเย็นในฤดูร้อนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2-3 เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดพื้นราบวัดได้ 14.8 °ซ. ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565

ดังนั้น ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวนที่มีฝนตกหนักและอุณหภูมิลดลง และดูแลรักษาสุขภาพในระยะนี้ไว้ด้วย หากมีข้อสอบถามเพิ่มเติมสามารถโทร. 02 399 4012-14 และสายด่วน 1182 ตลอด 24 ชั่วโมง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุ ประกาศฉบับ 10 เตือน 36 จังหวัด ระวังอันตรายพายุฤดูร้อน 29 เม.ย.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568) ฉบับที่ 10

เปิด 10 อันดับ พื้นที่ร้อนจัด! 'แม่ฮ่องสอน' ทะลุ 42.3 องศา

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า อุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทย เมื่อวานนี้ (27 เม.ย. 68) วัดได้ 42.3 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 9 เตือน 'พายุฤดูร้อน' ถล่มถึง 1 พ.ค.

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2568) ฉบับที่ 9 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนพายุฝนฟ้าคะนอง 64 จังหวัด ลมแรง ลูกเห็บตก ฟ้าผ่า

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก

ศปช.เตือน 59 จังหวัด เตรียมรับพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง ถึง 1พ.ค.

ศปช.เตือน 59 จังหวัด เตรียมรับพายุฤดูร้อนคาดการณ์วันนี้ถึง1พ.ค. สั่ง ปภ. เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดสถานการณ์