นักวิชาการแนะรัฐดึงเอกชนร่วมตรวจโครงสร้างพื้นฐาน เร่งเช็กความปลอดภัย ‘เขื่อน-ประปา’ ทั่วประเทศ

นักวิชาการธรรมศาสตร์ชี้แผ่นดินไหวยังอยู่ในระดับวางใจได้ แต่ต้องเร่งตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความปลอดภัย แนะรัฐดึงเอกชนร่วมมือแก้ปัญหากำลังเจ้าหน้าที่ไม่พอ ย้ำหากปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารเคร่งครัด ความเสียหายจะไม่รุนแรง

30 มีนาคม2568 – รศ. ดร.สายันต์ ศิริมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนถึงขณะนี้ อาฟเตอร์ช็อกได้เกิดขึ้นไปพอสมควรแล้ว จึงสามารถวางใจได้ระดับหนึ่ง โดยสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนถัดจากนี้คือการระดมบุคลากร-กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างขั้นพื้นฐานทั้งหมดที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งถนน ทางด่วน ระบบราง ระบบรถไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ท่อน้ำ สนามบิน รันเวย์ ตลอดจนท่อประปาที่อาจเกิดการปนเปื้อนในน้ำได้ และที่สำคัญก็คือโครงสร้างเขื่อนทั่วประเทศว่ามีความเสียหายหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

รศ.ดร.สายันต์ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ บุคลากรของหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อาจมีจำกัดและอาจไม่เพียงพอ จึงขอเสนอให้เชิญผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการตรวจสอบให้ครบถ้วนและรอบด้าน และหากพบความเสียหายก็ให้ปรับปรุงแก้ไข โดยในสถานการณ์นี้ บทบาทของภาครัฐควรมีหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคเอกชน มากกว่าการลงไปดำเนินการเองทั้งหมด

รศ.ดร.สายันต์ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีอยู่หลายระดับ ทั้งในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ระดับปานกลาง และระดับที่รุนแรง หากตรวจสอบพบว่ามีความเสียหายเล็กน้อยก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แล้วค่อยๆ ทยอยซ่อมแซมไป แต่หากความเสียหายอยู่ระดับปานกลางถึงรุนแรงก็ควรที่จะระงับการเข้าใช้พื้นที่ชั่วคราว จนกว่าการปรับปรุงจะเสร็จสมบูรณ์ และภาครัฐก็ควรจะมีการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นระยะ เพื่อไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป 

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า บทเรียนจากการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการระยะยาวในการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้รับทราบ ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น ควรจะต้องมองหาที่หลบภัยแบบไหน ควรหมอบอยู่ใต้โต๊ะก่อนหรือไม่เพื่อป้องกันของแข็งหล่นทับร่างกาย เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว หากโครงสร้างของตึกไม่มีความแข็งแรงและแผ่นดินไหวมีระดับที่รุนแรง ถึงอย่างไรก็คงจะหนีไม่ทัน ในบางกรณีการพยายามหลบหนีอาจทำให้บาดเจ็บหรือสุ่มเสี่ยงมากกว่าการอยู่กับที่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่4) พ.ศ. 2550 ซึ่งมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและมีการปรับปรุงกฎหมายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีการกำหนดโซนพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวทั่วประเทศส่งผลให้อาคารที่มีการก่อสร้างหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา ต้องปฏิบัติตามหากผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ผู้ออกแบบปฏิบัติตามข้อกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้เกิดความเสียหายน้อย หรือไม่ได้เกิดความเสียหายที่รุนแรง ซึ่งนับเป็นความโชคดีโดยในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว อาคารส่วนใหญ่ยังคงมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะไม่ถล่มลงมาในทันที โดยอาจมีความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถตรวจสอบ ประเมินความแข็งแรงและพิจารณาซ่อมแซมหรือเสริมกำลังให้โครงสร้างกลับมาใช้งานได้ตามเดิม

เมื่อถามถึงกรณีที่อาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม รศ. ดร.สายันต์ กล่าวว่า คงยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าเพราะอะไร สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ อาทิ ข้อผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้าง แต่ผู้ออกแบบอาคารใหม่ๆ จะต้องพิจารณารับมือผลกระทบของแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ถ้าไม่พิจารณาเรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนอีกประเด็นคือความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงต้องรอคอยการพิสูจน์ จึงยังไม่อยากให้ประชาชนหรือสังคมด่วนตัดสินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม.ธรรมศาสตร์ มอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากร 7 สาขา ตอกย้ำความก้าวหน้าทางวิชาการ

กองบริหารการวิจัย ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) จัดงาน วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2567 เพื่อยกย่อง สร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับ คณาจารย์และนักวิจัย ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและสร้างผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม

คิกออฟ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อม เป็นกำแพงพิงหลังใน ‘สังคมสูงวัย’

มธ. เปิดโครงการ “TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย” ประกาศ ระดมทรัพยากรทั้งมหา’ลัย เป็นหนึ่งเดียว เ

แม้ได้สัญญาณบวกจาก World Bank แต่ต้องระวังไม่ให้ 'หวยเกษียณ' กลายเป็นนโยบายพนันที่แฝงการออม

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ World Bank ชม ‘หวยเกษียณ’ เป็นสัญญาณบวก เหตุสร้างวินัยการออมโดยไม่บังคับ ผสมผสานเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับเป้าหมายเศรษฐกิจ คาดนำไปปรับใช้กับประเทศแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือเอเชียใต้ เตือน! รัฐต้องระวังไม่ให้กลายเป็นนโยบายการพนันที่แฝงมากับการออม เสนอ

‘นิด้าโพล’ ชี้คนกรุงกังวลใจแผ่นดินไหว ห่วงระบบเตือนภัยไม่มีประสิทธิภาพ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง “Post-Aftershock” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป