ร่างกายจำเชื้อโควิดได้หลังฉีดวัคซีน 'แพทย์ มธ.' การันตี 2 เข็มลดป่วยรุนแรง แต่กระตุ้นเข็ม 3 ดีที่สุด

อาจารย์แพทย์ ม.ธรรมศาสตร์ ชวนทำความเข้าใจ “วัคซีนเข็มกระตุ้น” ช่วยทำให้ร่างกายจดจำเชื้อโควิด-19 ได้ดีขึ้น เผยแม้ฉีดแค่สองเข็มก็ลดป่วยรุนแรงได้ แต่เมื่อเชื้อกลายพันธุ์การฉีดเข็มกระตุ้นย่อมดีกว่า ระบุวัคซีนอยู่ในร่างกายได้ 7-14 วัน ก็จะย่อยสลาย

3 ก.พ.2565 - ผศ.ดร.นพ.สิระ นันทพิศาล สาขากุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบสองเข็มแล้วติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายยังจะสามารถสร้างความจำต่อเชื้อโควิดได้มากหรือน้อยขึ้นกับพื้นฐานแต่ละบุคคล พื้นฐานของวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้ผลิตจากรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ฉะนั้นหากเกิดการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมก็จะสามารถช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อ-ลดความรุนแรงของโรคได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ทำให้โรคแพร่ระบาดง่ายขึ้นและหลบภูมิคุ้มกันได้ ประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนสองเข็มต่อการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์จะลดลง โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของผู้ป่วย อายุ โรคประจำตัว ชนิดและระยะเวลาที่ได้รับวัคซีนก่อนหน้านี้ หากได้รับวัคซีนสองเข็มเกิน 6 เดือนและมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือทานยากดภูมิ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อมีโอกาสรุนแรงได้

ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีข้อแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ได้แก่ แอสตราเซเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ในกลุ่มผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 1-3 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งจะฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยรับวัคซีนมาก่อนหรือยังไม่มีประวัติรับวัคซีนเลย

“แต่สำหรับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หากได้รับวัคซีน 2 เข็มนานเกินสามเดือนระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคจากเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ หรือในผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วนานกว่าสามเดือนก็มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอการป้องกัน การติดเชื้อโอมิครอนในอนาคต เพราะ โอมิครอนสามารถติดเชื้อซ้ำได้ทั้งคนที่ได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก่อน” ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ในปัจจุบันตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม และเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกานั้นจะต้องกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา แต่ถ้าผู้ที่ได้รับวัคซีนมีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ตามทฤษฎีแล้วสามารถรับวัคซีนข้ามชนิดเป็น mRNA เข็มที่ 3 ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วจะไม่มีการสะสมในร่างกาย เพราะวัคซีนจะถูกจับโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย และจะกระตุ้นให้เกิดความจำต่อเชื้อนั้นๆ ฉะนั้นเชื้อจากวัคซีนที่รับเข้าไปจะถูกย่อยเหลือแค่บางส่วนเพื่อให้ร่างกายนำไปสร้างความจำ ส่วนที่เหลือจะสลายตัวและสร้างผลอะไรกับร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำของระบบภูมิคุ้มกันก็จะเปลี่ยนแปลงตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เป็นที่มาที่ทำให้บริษัทวัคซีนต้องเปลี่ยนชนิดของเชื้อไวรัส เช่น วัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อตาย และเอ็มอาร์เอ็นเอก็มีความพยายามที่จะสร้างวัคซีนจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน หรือวัคซีนโนวาแวกซ์ซึ่งใช้พื้นฐานของโปรตีนไวรัสเป็นตัวกระตุ้นเช่นเดียวกับวัคซีนใบยาของประเทศไทย ในอนาคตก็ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โปรตีนของเดลต้าและโอมิครอน จากเดิมทีที่ใช้เชื้อจากสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นฐาน

“เราจำเป็นต้องมีการกระตุ้น เพราะว่าร่างกายเมื่อรับเชื้อไม่ว่าจากวัคซีนหรือการติดเชื้อก็ตามเราต้องมีการกระตุ้นเพื่อให้ร่างกายมีความจำ ปัจจุบันเรายังเข้าใจเรื่องความจำระยะยาว (Long Term Memory) ของโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะเพิ่งได้รู้จักเชื้อโควิด-19 เพียงแค่ 2 ปี ฉะนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าระยะยาวการรับวัคซีนหรือการติดเชื้อไปแล้วจะมีความจำอยู่นานมากแค่ไหน” ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.สิระ กล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อวัคซีนอย่างรวดเร็วในเวลา 1 วัน ฉะนั้นเมื่อร่างกายได้รับสารพันธุกรรมที่อยู่ในวัคซีนแล้วก็จะสามารถกำจัดออกได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สารพันธุกรรมจากวัคซีนที่ฉีดเข้าไปไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้เองเมื่อเข้าในร่างกายเท่าไหร่ก็จะมีเท่านั้น และร่างกายจะใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงสุดภายใน 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน

ทั้งนี้ในปัจจุบันประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นในการรับวัคซีนผู้ฉีดสามารถพิจารณาเองได้ แต่อย่าสละโอกาสด้วยการไม่รับ เพราะการไม่รับวัคซีนมีโอกาสที่จะรับเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเชื้อก็มีการพัฒนาไปมาก

“ประเด็นสำคัญก็คือว่าบุคคลที่ยังไม่ได้วัคซีนแน่นอนคือเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเพิ่งมีมติให้วัคซีนในเด็กอายุ 3-5 ปีด้วยวัคซีนเชื้อตาย ฉะนั้นตัวเราในฐานะผู้ที่มีโอกาสรับวัคซีนถ้าหากไม่รับหรือเลือกที่จะไม่รับ
ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชุดแรกหรือชุดกระตุ้นก็ตามเรามีโอกาสเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่เด็กๆ เหล่านั้นได้ ฉะนั้นอย่างน้อยป้องกันตัวเราป้องกันคนรอบข้าง ก็จะทำให้โอกาสเกิดโรคต่างๆ ในสังคมโดยรวมลดลง” ผศ.ดร.นพ.สิระ ระบุ

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

'บ่อน้ำ' ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ปริญญา

อาจารย์ปริญญา จบกฎหมายมหาชน จากเยอรมัน จึงน่าจะเป็นเหตุผล ที่ทำให้ อาจารย์ มักแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของประเทศไทย อยู่หลายๆครั้ง ทำเหมือนไม่รู้ว่า “เมื่อเป็นคนไทยทำผิด ก็

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย