'จุรินทร์' กัดฟันฝ่ามรสุม ปชป.ประชุมใหญ่ชั่วโมงเดียวจบ ชี้ลาออกเท่ากับทิ้งปัญหาพรรค

“ปชป.” ประชุมใหญ่พรรคชั่วโมงเดียวจบ แกนนำรุ่นใหญ่ 'ชวน-บัญญัติ-' มากันครบ ด้าน 'อภิสิทธิ์-อภิรักษ์' ประชุมผ่านระบบซูม ขณะที่ “สาทิตย์” ยกสโลแกน “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” เตือนคนของพรรคมีปัญหาก็ต้องรับผิดชอบ 

23 เม.ย.2565 - พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำการพรรค ปชป. โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค (ปชป.) เป็นประธานการประชุม และมีบรรดาแกนนำพรรค ปชป. เข้าร่วม อาทิ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายไพฑูรย์ แก้วทอง กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ซึ่งสมาชิกพรรคบางส่วนประชุมทางอิเลคทรอนิกส์ผ่านระบบซูม เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีวาระเพื่อเป็นการรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญพรรค ปชป. ประจำปี 2564 และดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง มาตรา 43 และ มาตรา 61 โดยมีรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา และรับรองงบการเงินประจำปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีวาระแผนยุทธศาสตร์ของพรรคแผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป โดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง และแผนการพัฒนาบุคลากรทางการเมืองตามข้อบังคับพรรคข้อ 79 จนกระทั่งเวลา 15.00 น. ที่ประชุมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามวาระการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อที่ประชุมดำเนินการถึงวาระที่สาม เรื่องแผนยุทธศาสตร์ของพรรค 10 แผน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รู้สึกติดใจแผนข้อที่ 8 และข้อที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศที่พรรคได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด หากจะให้สังคมเชื่อถือพรรคต้องปฎิบัติให้สังคมเห็นเป็นตัวอย่างก่อน แต่ขณะนี้มีเรื่องของอดีตรองหัวหน้าพรรคที่กำลังเป็นข่าวฉาวโฉ่ แม้หัวหน้าพรรคจะออกมาขอโทษสังคมแล้วก็ตาม ในฐานะที่เป็นคนผลักดันให้บุคคลดังกล่าวก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารพรรค แต่สังคมก็ยังไม่จบ เพราะสื่อและสังคมเรียกร้องขอให้หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจากพรรคใช้สโลแกน “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ถ้าคนของพรรคมีปัญหาพรรคก็ต้องรับผิดชอบ หัวหน้าพรรคในฐานะที่ผลักดันบุคคลนี้เข้ามา และมีปัญหาในเรื่องจริยธรรม แม้จะแถลงขอโทษ แต่หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควร เช่นนี้สังคมจะเชื่อถือพรรคได้อย่างไร

“ยังไม่รวมถึงกรณีประเด็นแชทไลน์ของกรรมการบริหารพรรคหญิงคนหนึ่งที่กล่าวหาบุคคลภายในพรรคกับส.ส.ของพรรค ในเชิงลักษณะชู้สาว สร้างความเสียหายมาก แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินการ แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง หัวหน้าพรรคก็ต้องลงโทษผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวในไลน์กก.บห. แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ผมพูดเรื่องนี้ เพราะคาดว่ากรณีแชทไลน์จะส่งผลกระทบต่อพรรคในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าอย่างมากแน่นอน ทั้งสองกรณีนี้เชื่อมโยงถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้นำพรรค ผมรู้ว่าตำแหน่งนี้ได้มายาก แต่ตำแหน่งไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับเกียรติภูมิและอุดมคติ กับจุดยืนทางจริยธรรมของพรรค” นายสาทิตย์ กล่าว

จากนั้นนายจุรินทร์ได้ตอบกลับว่า ตนไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีการแถลงขอโทษและลาออกจากคระกรรมการ ทั้ง 2 ชุดแล้ว ส่วนกรณีนายปริญญ์ก็ได้แสดงความรับผิดชอบไปแล้ว ถ้าตนลาออกก็เป็นการทิ้งปัญหาพรรค ทั้งนี้ ได้มีส.ส.อีกหลายคนขออภิปรายในเรื่องนี้ อาทิ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก แต่แอดมินปิดไมค์ไม่ให้พูด และนายจุรินทร์ก็สั่งปิดการประชุม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นความผิดปกติของการประชุมใหญ่พรรค ทุกครั้งที่ผ่านมาจะเป็นการเปิดประชุมให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ แต่ครั้งนี้กลับมีการเชิญออก โดยให้เข้ามาเพื่อเก็บภาพบรรยากาศในการประชุมตอนต้นเท่านั้น และไม่มีการปิดไมค์ไม่ให้สมาชิกพรรคแสดงความเห็นมาก่อน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. พร้อมซักฟอก นโยบายประกาศแล้วไม่ทำ-ดิจิทัลวอลเล็ต-หลักนิติรัฐ

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอ

‘ราเมศ’ แย้ง ‘วิโรจน์’ ถ่วงดุลโดยศาลรธน. ยึดกฎหมาย แนะไม่ทำผิดอย่ากลัว

หลักการสำคัญในระบบประชาธิปไตยได้มีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจนฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ตามครรลองในระบบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการย่อมถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอำนาจหลัก