เปิดคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรธน.หนึ่งเดียว ชี้ 'พรก.ฉุกเฉิน' ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


17 ส.ค.2565 - สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตน ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัย 6/2565 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มีมติเสียงข้างมากว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ทั้งนี้ความเห็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ราย พบว่ามี 8 รายมีความเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , นายปัญญา อุดชาชน , นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย คือ นายนภดล เทพพิทักษ์ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

โดยคำวินิจฉัยของ นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ หรือไม่

ความเห็น

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ได้กำหนดเงื่อนไขที่จะตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพไว้ให้ชัดเจน กล่าวคือ ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดได้แต่เฉพาะตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แตในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้โดยเฉพาะ มาตรานี้ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ 4 ประการ คือ(1) ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม (2) ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ (3) จะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ และ (4) ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

เมื่อพิจารณาจากหนังสือส่งคำโต้แย้งและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ในส่วนที่โต้แย้งว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 และมาตรา 11ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 นั้น

เห็นว่า มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติทั่วไปโดยมิได้มีข้อความที่เป็นการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ ประกอบกับหลักการตรากฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมมีการบัญญัติไว้แล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน จนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติสาธารณะ และการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย รัฐจึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นบางประการ เพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาในแต่ละสถานการณ์ และมีความเป็นอิสระ อันมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้อำนาจบริหารราชการในสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวยุติไปโดยเร็วและประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่ 1. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

การที่ผู้ขอให้ส่งคำโต้แย้งให้เหตุผลสรุปได้ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเป็นบทบัญญัติที่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองหรือคุ้มครองไว้นั้นขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ " และวรคสองบัญญัติเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทสอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"

แต่เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรากฏว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามมาตรา 44 วรรคสอง นั้น บัญญัติว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น"

จากบทบัญญัติที่แตกต่างกันระหว่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ เห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีข้อจำกัดที่แคบกว่าและมีข้อยกเว้นที่น้อยกว่า ประการสำคัญคือไม่มีข้อยกเว้นให้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกเช่นที่เคยมีในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 โดยหลักแห่งการหยั่งทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีหนึ่งมีว่า ในกรณีที่กฎหมายใหม่นั้นยกเลิกข้อความใดในกฎหมายฉบับเดิม ย่อมหมายถึงว่ากฎหมายใหม่นั้นประสงค์อย่างชัดแจ้งที่จะยกเลิกหลักการดังกล่าวของกฎหมายฉบับเดิมนั้น เช่นนี้อาจพิจารณาได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ที่จะมิให้มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเพียงเฉพาะในเหตุเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสองนี้ กำหนดเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และต้องมีเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย

เมื่อพิจารณาพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้ ... (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย..." นั้น คงต้องพิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรคสอง หรือไม่ เห็นได้ว่า การที่มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ซึ่งเนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร จึงอาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่มีผลเป็นการห้ามมิให้มีการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่มีขอบเขตหรือเงื่อนไข เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารโดยปราศจากหลักประกันการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคสองบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) ดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการลิดรอนและจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคสอง จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

ประเด็นที่ 2 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ หรือไม่

การที่ผู้ขอให้ส่งคำโต้แย้งให้เหตุผลสรุปได้ว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 (6) เป็นบทบัญญัติซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไว้ โดยกำหนดให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางที่จะมีอำนาจในการประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือกระทำการใด เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะได้เป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารซึ่งมิใช่วิถีทางที่น้อยที่สุด เนื่องจากฝ่ายบริหารสามารถสั่งให้กระทำการใดก็ได้ทุกอย่างในบางกรณีอาจเป็นการลิดรอนเสรีภาพส่วนบุคคลหรือในบางกรณีอาจก่อให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุและขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเนื้อหาของบทบัญญัติมาตรา 11 (6) มีลักษณะที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตเนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือ อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยปราศจากเหตุผลโดยรัฐ ขัดต่อหลักการจำกัดอำนาจรัฐอันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

เห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11วางหลักเกณฑ์กรณีที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีลักษณะตามมาตราดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง โดยให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มเติมนอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 โดยมาตรา 11 วรรคสอง (6)บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี "ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน" การกำหนดว่าการกระทำใดจะถือเป็นความผิดและมีโทษทางอาญาตามมาตรา 11 วรรคสอง (6) นั้นเป็นการใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางเกินไปและไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าการกระทำใดที่กฎหมายห้ามว้ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นความผิด และการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษสถานใดโดยมีอัตราโทษหนักเบาตามพฤติกรณ์แห่งกรณีอย่างไร เนื่องจากการห้ามมิให้กระทำการหรือสั่งให้กระทำการนั้นสามารถสั่งการได้ทุกเรื่อง

แม้จะมีกรอบว่าต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน ก็เป็นเรื่องอัตวิสัยที่ผู้ออกคำสั่งจะอ้างว่าคำสั่งของตนเป็นไปโดย "จำเป็น" เพื่อการนั้นแล้วก็ได้ โดยไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าว่าการห้ามกระทำการหรือให้กระทำการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพใดตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อยกเว้นให้กระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกันสำหรับสิทธิหรือเสรีภาพแต่ละประเภท และการฝ่าฝืนประกาศที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 วรรคสอง (9) ที่ไม่มีความชัดเจนดังกล่าวก็มีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษสูงเกินกว่าระดับความผิดที่อยู่ในอำนาจขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครองเช่นพนักงานสอบสวนที่จะเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีอาญาเลิกกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 กรณีเช่นนี้ผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศที่กำหนดโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งในบางเรื่องบางกรณีอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงพอที่จะถูกดำเนินคดีในศาลเช่นเดียวกันกับผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่ตราขึ้นโดยพระราชบัญญัติ บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้จึงเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถประกาศกำหนดลักษณะการกระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษเกินกว่าระดับที่ฝ่ายปกครองจะชำระคดีเองได้

อีกทั้งยังเป็นบทบัญญัติที่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือที่อาจเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศกำหนดให้การกระทำใดหรือการงดเว้นการกระทำใดเป็นความผิดอาญาที่มีโทษร้ายแรงได้โดยไม่ต้องตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 วรรคสอง (6) เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุและขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 11 วรรคสอง (6) เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้วิญญูชนเข้าใจได้ว่า การห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร การห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชนเป็นเช่นไร ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1)ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ

นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ประกาศขยายระยะเวลาออกไปอยู่เรื่อย ๆ เป็นคราว ๆ ไป จนปัจจุบันเป็นคราวที่ 18 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราโทษที่สูงการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน อันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๔ เป็นเหตุให้ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมถูกจับกุมคุมขังและถูกดำเนินคดีอยู่ในศาลจำนวนหนึ่ง กฎหมายที่ไม่มีความซัดเจนและมีการบังคับใช้มายาวนานเช่นนี้ก็ควรที่จะเสนอต่อรัฐสภาอันเป็นระบบดุลคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจน ต่อไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 11 วรรคสอง (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26

อ่านต้นฉบับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ

ศาลรธน. ยังมุ่งมั่นรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

'นครินทร์' ปลื้มผลงานศาลรัฐธรรมนูญ 26 ปี นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชน ขัดต่อนิติธรรม 76 ฉบับ ลั่นศาลยังมุ่งมั่นรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป