เปิดโรดแมป หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

เปิดโรดแมป หลังโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เตรียมแก้กฎหมายลูกสองฉบับ ยาวโลด 6 เดือน เสร็จหมดกลางปีหน้า เปิดทาง ‘บิ๊กตู่’ ยุบสภาฯ-เลือกตั้งในกติกาใหม่ บัตรสองใบ

22 พ.ย. 2564 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหรือไทม์ไลน์การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ที่มีการโปรดเกล้าฯและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ที่มีเนื้อหาหลักๆ คือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) บัตร 1 ใบ เป็นระบบการเลือกตั้งแบบผสม (MMM) บัตร 2 ใบ อีกทั้ง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องจำนวนของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ใหม่ จากเดิมมีส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150คนรวมเป็น 500 คน ได้มีการแก้ไขเป็น ส.สระบบเขตให้มี 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน รวมเป็น 500 คน

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับคือ พ.รบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ เพื่อให้สอดรับกับระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ใช้ระบบบัตรใบเดียวที่เคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่คิดคะแนนรวมทั้งคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่งหรือสัดส่วนของ ส.ส.ในสภาฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ แต่หลังจากนี้จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบบบัตรสองใบ แยกคะแนนออกจากกันระหว่างบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตกับบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ

โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จะมีการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ เช่น วิธีการคำนวณคะแนนและหลักเกณฑ์วิธีการในการนับคะแนนเสียง – การรวมคะแนนเสียงและการประกาศผลการเลือกตั้ง รวมถึงการแก้ไขเรื่องกระบวนการขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งส.ส. – การออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้ง

แต่ที่สำคัญที่สุดที่ถูกจับตาคือ ระบบวิธีคิดคะแนนผลการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพลังประชารัฐ และเพื่อไทย ต้องการให้ใช้ระบบแบบตอนเลือกตั้งปี 2544, 2548 และ 2554 ซึ่งเป็นการคำนวณคะแนนเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนในบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดของทุกพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มาหารด้วย 100 โดยพรรคการเมืองก็จะได้ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน จากนั้นก็ไปดูว่าพรรคการเมืองไหนที่ได้จำนวนคะแนนทั้งประเทศเท่าไร หากหารแล้วได้จำนวนเต็มหรือ 1% ขึ้นไป ก็จะได้ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนน ซึ่งหากไม่ได้ 1% ก็จะไม่ได้ ส.ส. ส่วนในกรณีที่เหลือเศษ ก็จะดูว่าที่ได้ 1% ขึ้นไปนั้น พรรคไหนที่เหลือเศษมากที่สุดก็จะได้ ส.ส.เพิ่ม

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 34,000,000 ล้านคน ก็นำคะแนนรวมทั้งหมดดังกล่าว ไปหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญคือ 100 เก้าอี้ จึงเท่ากับเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเก้าอี้ จะต้องได้คะแนนเสียงขั้นต่ำ 340,000 คะแนน หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว ก็จะไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

ซึ่งระบบวิธีคิดคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าวที่จะต้องไปพิจารณาในตอนแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ พบว่า หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กเช่น พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้ โดยพยายามจะผลักดันให้ใช้ระบบคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP เพื่อให้ใช้การจัดสรรส.ส.แบบพึงมี ภายใต้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ที่จะทำให้พรรคขนาดเล็ก ยังมีโอกาสได้เก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อบ้าง ไม่เกิดการสูญพันธุ์อย่างที่มีการคาดการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ จนเริ่มมีหลายพรรคการเมืองขนาดเล็กเดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” คือเลิกพรรคการเมืองแล้วไปอยู่กับพรรคขนาดใหญ่ ที่มีให้เห็นมาแล้ว เช่นกรณี พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชานิยม – พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก พรรคประชาธรรมไทย ได้เลิกพรรคและยุบรวมพรรคไปอยู่กับพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว รวมถึงพรรคขนาดกลาง อย่างพรรคก้าวไกล ก็ถูกมองว่ามีโอกาสจะได้สัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นกว่าที่จะใช้ระบบแบบที่พรรคพลังประชารัฐต้องการผลักดัน

สำหรับการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พบว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 131 บัญญัติให้ การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. จะทำได้สองทางคือ หนึ่ง เสนอร่างแก้ไขในนามคณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีดังกล่าวที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ทำให้ผู้จะต้องเสนอคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอีกช่องทางคือ เสนอโดย ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเสนอแก้กฎหมาย

โดยขณะนี้มีรายงานว่า สำนักงาน กกต. ได้มีการหารือร่วมกับฝ่ายรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ในการที่จะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ โดยผ่านการเสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็มีความเห็นร่วมกันให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ในนามพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่าเริ่มมีการเตรียมยกร่างฯ เสนอต่อรัฐสภาแล้วเช่นกัน โดยคาดว่าทั้งหมดน่าจะยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะเสนอตรงไปยังรัฐสภาได้เลย ไม่ต้องเสนอผ่านสภาฯและวุฒิสภา และเมื่อเสนอแล้ว รัฐสภามีเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน แต่หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอมา

และหลังจากนั้น ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขแล้ว ให้รัฐสภาส่งร่างที่แก้ไข ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น โดยหากไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ก็เข้าสู่ขั้นตอนเรื่องการนำร่างที่แก้ไขและรัฐสภาเห็นชอบแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

เมื่อดูจากไทม์ไลน์ดังกล่าว จึงเท่ากับว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเดือนธันวาคมนี้ การพิจารณาหากใช้เวลาเต็มพิกัดคือภายในไม่เกิน 180 วัน หรือหกเดือน บวกกับขั้นตอนทางธุรการต่างๆ อีกประมาณ 15-20 วัน ทำให้คาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า คือช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาดังกล่าว ทางรัฐสภา สามารถเร่งรัดการพิจารณาให้เร็วกว่านั้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับท่าทีของฝ่ายรัฐบาลว่าต้องการจะแก้ไขกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือไม่

ทั้งนี้ ช่วงกลางปีหน้าดังกล่าว เคยถูกคาดหมายทางการเมืองว่า หากสุดท้ายจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ก็น่าจะเกิดขึ้นช่วงดังกล่าว เพราะถึงตอนนั้น เท่ากับอายุของสภาฯ ที่นับจากมีนาคม 2562 ผ่านมาสามปีเศษแล้ว แต่ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรียืนกรานมาตลอดว่า จะอยู่ครบเทอม ไม่ยุบสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปธ.วันนอร์' ให้คะแนนซักฟอก 2 วัน ภาพรวมดี ชมเปาะสภาชุดนี้มีคุณภาพ

'วันนอร์' รับมีโอกาสเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ช่วง พ.ค. - มิ.ย. ถกงบปี 68 หลังรัฐบาลทำร่างเสร็จ ชี้สภาชุดนี้ทำงานดีมีประสิทธิภาพ ล่มแค่ครั้งเดียว ซักฟอก 2 วัน ภาพรวมดี ประท้วงแค่สีสัน

สีสันจบแล้ว! นายกฯ สั่งสรุปข้อมูลซักฟอก ปัดโต้ทุกดอก กลัวเดือดไป

'เศรษฐา' สั่งทีมงานสรุปข้อมูลซักฟอก สีสันจบแล้วจากนี้ขอทำงานต่อ ออกตัวยังไม่เก่งการเมือง ปัดโต้ทุกดอก กลัวเดือดมากไป ลั่นรับทราบฝ่ายค้านแนะปรับ ครม.

จับตา 'สว.' โหวต ปธ.ศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ คาดถกเดือดภูมิหลัง 'แนวคิดการเมือง'

ลุ้นสว.โหวต “วิษณุ”จะได้นั่ง ปธ.ศาลปกครองสูงสุดคนใหม่หรือไม่ จันทร์นี้ คาดประชุมลับ อภิปรายเดือด พบ สภาสูงชุดนี้  สอยร่วง ตีตก ตุลาการศาลสูง มาแล้วสามครั้ง แต่ระดับประมุขยังไม่เคยมีในประวัติศาสตร์

เดินหน้าเอาผิด 'บิ๊กต่อ-ภรรยา' ประเคนข้อมูลก้าวไกล แฉส่วยกลางสภา

“ทนายตั้ม” ดีเดย์ 1 เม.ย.เอาผิดฟอกเงิน บิ๊กต่อ  – ภรรยา  พร้อมยื่นข้อมูลให้หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยันให้ความร่วมมือทุกฝ่ายหากเป็นประโยชน์

'บิ๊กรอย' ประเดิมทำงานวันแรก ถกผู้บริหาร สมช. พบผู้ใหญ่ทำเนียบฯ

'บิ๊กรอย​' เข้าปฏิบัติหน้าที่​ 'เลขาฯ ​สมช.' วันแรก​ เรียกประชุมผู้บริหาร​ เดินสายพบผู้ใหญ่ในทำเนียบฯ ก่อนหลบสื่อฯ​ ไปสภา

'เซลส์นิด' แจงสภาสูง ขยันทัวร์นอกเหตุจำเป็น เมินตอบปม 'ทักษิณ'

'เศรษฐา' ปัดแก้ตัวงบไม่มางานไม่เดิน เคลมราคายางพุ่งผลงานรัฐบาล ชี้ดึงต่างชาติลงทุนล้านล้านบาท ใช้เวลามากกว่า 7 เดือน แถลงความก้าวหน้าทัวร์นอก 26 มี.ค.