ส.ว. เสนอจ่ายคนละ 500 บาท ค่าเดินทางไปเลือกตั้ง หวังช่วยแก้ปัญหาซื้อเสียง

"วุฒิสภา" ถก รายงานกมธ. ปมเลือกตั้งสุจริต หนุน จ่ายค่าเดินทางคนละ500 บาท สร้างประชาธิปไตยกินได้ - สำนึกตอบแทนคุณแผ่นดิน เลือกคนดี ด้าน "จรุงวิทย์" รับมีโกงเลือกตั้ง แนะ กกต. เปิดแนวรบระดับหมู่บ้าน

23 ม.ค.2566 - ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ในการนำเสนอรายงาน โดยว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. ฐานะเลขานุการ กมธ. ย้ำเนื้อหารายงานที่มีผลศึกษาจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมา ว่า ยอมรับว่าการเลือกตั้งส.ส.นั้น ไม่สุจริตเที่ยงธรรม พบข้อเท็จจริงว่าทุกเขตเลือกตั้งที่ศึกษามีการซื้อหัวคะแนนล่วงหน้า โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นพบการซื้อหัวคะแนนรายละ 20,000 บาท ขณะที่การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมาเลือกตั้ง พบปัญหา โดยเฉพาะการได้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้สมัครที่ซื้อเสียง หรือผู้ที่ถูกใช้ให้ไปซื้อเสียง เช่น ในการเลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า ลูกถ่ายคลิป พ่อรับเงิน เมื่อแจ้งไปยัง กกต. พบว่า พ่อติดคุก ผู้สมัครได้ใบเหลือง และไม่สามารถเอาผิดคนทำผิดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องมีกฎหมายเพื่อกันผู้ให้เบาะแสไว้เป็นพยาน และมีรางวัลค่าตอบแทน

ว่าที่ร.ต.วงศ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาการรับเงินของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องของความจำเป็น เพราะปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ ดังนัั้นกมธ.มีข้อเสนอให้ กกต. หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จ่ายค่าเดินทางให้ผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละ 500 บาท เบื้องต้นจะใช้เงิน 2หมื่นล้านบาทจากคาดการณ์ที่จะมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 66 ล้านคน

“นโยบายของรัฐบาล ให้เงิน 200 - 500 บาท ต่อเดือน ใช้เงินปีละแสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นการให้ค่าเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ 4 ปีมีครั้ง จะทำให้ประชาชนได้ตอบแทนคุณแผ่นดินตอบแทนหลวงให้คนเลือกคนดี มีความรู้ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เพราะยอมรับว่าในต่างจังหวัดต้องเดินทางไกล มีค่าใช้จ่าย 80- 100 บาท ดังนั้นควรให้เขารู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ ตั้งแต่วันที่ออกมาใช้สิทธิ” ว่าที่ร.ต.วงศ์สยาม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานส.ว.ได้อภิปรายสนับสนุนเนื้อหา พร้อมแสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งที่เป็นธุรกิจการเมือง ใช้เงินซื้อเสียง ขณะที่การทำงานของ กกต. โดยเฉพาะ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ไม่มีความรู้และไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งที่สุจริตได้ จึงมีข้อเสนอให้ กกต. ปรับวิธีทำงาน โดยเฉพาะการจับตาหัวคะแนนนักการเมืองที่เป็นผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล ส.ว. อภิปรายว่า ขอสนับสนุนให้ กกต.จ่ายค่าเดินทางเพื่อตอบแทนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รายละ 500บาท พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งที่ปราบปรามไม่ได้ เนื่องจาก กกต. ประจำหน่วย หรือผู้อำนวยการเลือกตั้งในพื้นที่ไม่มีความรู้ ควบคุมการเลือกตั้งให้ยุติธรรมไม่ได้ พร้อมระบุว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางพื้นที่พบว่ามีนายตำรวจเป็นหัวคะแนน ทำหน้าที่จ่ายเงินซื้อเสียง

ขณะที่นายจรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว. ในฐานะอดีตเลขาธิการ กกต. ฐานะกมธ. ชี้แจงว่า ในการเลือกตั้งล่วงหน้าตามต่างจังหวัดมีการทุจริต ส่วนประเด็นที่เคยเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การขนหีบบัตรเลือกตั้งไม่ทันเวลาปิดหีบ ซึ่งตามกฎหมายให้ถือเป็นบัตรเสีย ดังนั้นต้องถามกระทรวงการต่างประเทศว่ามีความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือไม่

นายจรุงวิทย์ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา กระบวนการป้องกันการซื้อเสียงได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง แต่ตนมองว่าขณะนี้ต้องเปิดแนวรบที่หมู่บ้าน โดยกกต.ต้องประสานติดป้ายในหมู่บ้าน แจ้งประชาชนให้ทราบถึงการได้รางวัลตอบแทนหากแจ้งเบาะแสคนซื้อเสียง จำนวน 1แสนบาท เพราะที่ผ่านมาพบการสอบสวน และทำได้แค่แจกใบเหลือง ใบแดงเท่านั้น โดยที่ผ่านมาพบว่าการตรวจสอบของกกต.ยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกลับอีก ดังนั้นตนเชื่อว่าหากเปิดแนวรบที่หมู่บ้าานได้จะทำให้เห็นว่าในชาตินี้เลือกตั้งไม่ซื้อเสียงเกิดขึ้นจริง

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า นักการเมืองปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทั้งการแจกกล้วย และจ่ายเงินซื้อตัว ทำให้เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึงประชาชนจะเลือกเพราะการแจกกล้วยมากกว่าเลือกคนดี ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ได้พบกับนักการเมืองท้องถิ่น ได้ทราบถึงประเด็นข้อเเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกการจำกัดวาระของนายก อบต. และเทศบาล รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ที่จำกัดอายุไม่เกิน 60 ปี ดังนั้นหากรัฐบาลชุดต่อไปเสนอแก้รัฐธรรมนุญ ตนจะนำเสนอปลดล็อคการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของนักการเมืองท้องถิ่น และพิจารณาแก้ไขว่าด้วยคุณสมบัติของ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ต่ออายุออกไปอีก 4 ปี จากเดิมที่กำหนดให้ครบวาระเมื่ออายุ 60 ปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปาร์ตี้ลิสต์ พปชร. สลับกันนัว 'บิ๊กป้อม' ขยับเพดานจาก 70 ขึ้นเป็น 100 ที่นั่ง!

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

รทสช. ตั้งอดีตนายก อบจ.พิษณุโลก นั่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ลั่นคว้า ส.ส. ให้ได้ทั้ง 5 เขต

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค สวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติให้กับ นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ อดีตนายก อบจ.พิษณุโลก

'เจ๋ง ดอกจิก' ลุยอีสาน เปิดเวทีปราศรัยชี้แจงนโยบาย รทสช. ลั่นดับฝันแลนด์สไลด์

นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ ซึ่งให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่เปิดเวทีปราศรัยที่บ้านเวียงทอง อ.สูงเม่น และบ้านร้องเข็ม อ.ร้องกวาง จ.แพร่

'ไทยสร้างไทย' พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง จัดปฐมนิเทศผู้สมัครทั่วประเทศ ย้ำจุดยืนไม่เอาเผด็จการ

พรรคไทยสร้างไทย จัดประชุมปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยสร้างไทยทั่วประเทศ นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ,นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ,น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค

'วิรัช' ชี้ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย ย้อนอดีตเพื่อไทยเคยเสนอชื่อ 'ธนาธร' แข่งนายกฯ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้ถึงข่าวพรรคเพื่อไทย (พท.) จะยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้กับพรรคอื่น ว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากตนเคยไปออกรายการทีวีช่องหนึ่ง