'สมศักดิ์' ไขก๊อกพ้นรมว.ยธ.-พปชร. เพ้อกลับคอกแม้วเพราะมีโอกาสแลนด์สไลด์

17 มี.ค.2566 - เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ร้านกินเส้น สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงถึงอนาคตทางการเมือง พร้อมกับโชว์ใบลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตนตัดสินใจ ใน 3 ประเด็นคือ ฟ้า ดิน และอากาศ เรื่องของฟ้ากับดินได้อธิบายไปแล้ว เหลือเรื่องอากาศ ซึ่งอากาศ คือแนวนโยบายและทีมงาน ถ้าเรามีทีมงานที่ดี แต่การทำนโยบายต่างๆ ไม่ชัดเจน มีความขัดแย้ง แนวนโยบายเหล่านั้นจะไม่สามารถส่งผลสำเร็จให้เกิดกับประเทศและประชาชน

นายสมศักดิ์ อ้างว่า อย่างการตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นยอมรับว่า มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มีโควิด-19 เข้ามาทำให้มีการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก รัฐบาลแก้ไขในเรื่องเศรษฐกิจได้ไม่ดีเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พปชร.ได้ ส.ส.มา 118 ที่นั่ง แต่จำนวนนี้ไม่สามารถทำเรื่องเศรษฐกิจให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจได้ เหตุมาจากว่าเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค มีการต่อรอง โควตาต่างๆ พปชร.ไม่ได้ดูกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ถูกใจประชาชน เพราะต้องแบ่งกระทรวงเศรษฐกิจให้พรรคการเมืองอื่นช่วยกันดูแล

"เราคิดว่าการที่จะทำให้สิ่งต่างๆ สัมฤทธิ์ผลต้องมองพรรคการเมืองที่แลนด์สไลด์ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ต้องช่วยประคับประคองให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวมดี อย่างทุกวันนี้ไทยมีจีดีพีแทบจะต่ำสุดในอาเซียน เราจึงต้องดูในเรื่องแลนด์สไลด์ พรรคการเมืองที่จะเดินหน้าได้ในเรื่องแลนด์สไลด์คงต้องเป็นพรรคเพื่อไทย เราจึงตัดสินใจว่าถ้าเราไปรวมกันตรงนี้ ถ้าเดินงานการเมืองให้แลนด์สไลด์ได้ จะทำให้แนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ประสบความสำเร็จ เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงได้ตัดสินใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมแนวทางในการขับเคลื่อนในแนวนโยบายต่อไปในวันข้างหน้า"

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันเดียวกันนี้ ได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม โดยไม่ขอรักษาการในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ได้ทำหนังสือกราบเรียนนายกฯแล้วในวันนี้ เข้าใจว่าคงได้รับหนังสือแล้ว อีกทั้งยังได้ทำหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร. ต่อ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ ได้กรอกใบสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย อย่างช้าจะถึงพรรคเพื่อไทยในวันที่ 20 มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ตนได้ไปกราบลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ได้มีการพูดคุยกัน ท่านไม่มีปัญหา และให้ศีลให้พรตามอัตภาพ ส่วนเรื่องความแตกแยก ความไม่พึงพอใจอะไรต่างๆนั้น ยืนยันว่าไม่มี

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคเป็นปัญหา และการมีทีมงานที่ไม่สามัคคี คนหนึ่งไปซ้าย คนหนึ่งไปขวา มันจะเป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายได้ แต่ตนดูแล้วว่าพรรคเพื่อไทยมีทีมงานเข้มแข็ง ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นสมัครพรรคพวกกัน ไม่ได้มีความรู้สึกผิดที่ผิดทาง เป็นบุคลากรที่เข้าใจและพูดคุยกันได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ออกจาก พปชร. เพราะเห็นว่าการทำงานใน พปชร. มีปัญหาใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาในส่วนของหัวหน้าพรรค แต่บางท่านในพรรคอาจจะมีบ้างที่เกิดความรู้สึกบ้างเล็กน้อย เพราะการอยู่ร่วมกันถ้าสามัคคีจะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้ อย่างตนเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เวลาจะขอร่วมมืออะไร ซึ่งหากยังมีอะไรไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะทำงานยาก แต่การเดินไปพรรคเพื่อไทยอุปสรรคที่จะมีนั้นน้อย

เมื่อถามว่า การย้ายไปพรรคเพื่อไทย ทำให้มั่นใจได้หรือไม่ว่าจะแลนด์สไลด์และตั้งรัฐบาลได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนดูจากโพลเมื่อสองเดือนที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้ 220 ที่นั่ง แต่วันนี้ยังไม่มีตรงไหนเอามาให้ดู แต่ถ้าเราไปช่วย จะทำให้ตัวเลขของ ส.ส. ได้สูงขึ้น มันจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายได้มาก เชื่อว่าประชาชนเข้าใจและทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันง่ายขึ้นต่อการพัฒนา ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาต่อบ้านเมือง

ถามว่า เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลแน่นอนใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าถ้าเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน มั่นใจว่าจะได้มากขึ้น อาจเข้าสู่เป้าหมายที่ผู้บริหารพรรคพรรคเพื่อไทยวางไว้ เราเป็นแรงหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุน ไม่ใช่ตนเก่งกล้าสามารถอะไร จะเข้าไปช่วยให้ดีที่สุด การเป็นรัฐบาลเป็นความใฝ่ฝันของทุกพรรค แต่จะเป็นได้หรือไม่ได้บางพรรคก็มีเงื่อนไขมาก บางพรรคก็ไม่มีใครเข้าไปร่วมเลยต้องตั้งเงื่อนไขให้ยากขึ้นไปอีก แต่มั่นใจถ้าประชาชนช่วยกันเลือกให้มากๆ ให้แลนด์สไลด์ พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล

เมื่อถามว่า เป้าหมายจะถึง 310 ที่นั่งหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่กล้าที่จะไปคิด เพราะไม่ได้ถือโพล และยังไม่ได้ลงพื้นที่ในนามพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ถ้าจะถามตัวเลข วันนี้ยังคงตอบไม่ได้ แต่ตนจะช่วยให้ผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยได้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ผู้สื่อข่าว ถามว่า ถ้าหลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยกับ พปชร. จับมือกัน จะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริหารพรรคและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่จะคุยกัน ตนไม่สามารถตอบได้ ต้องให้เกียรติผู้บริหารพรรค และดูเหมือนขณะนี้ยังไม่ได้คุยกัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ให้ฟัง ซึ่งตนพยายามถามแต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แสดงว่ายังไม่มีการคุยกัน

เมื่อถามถึงกรณี ผอ.นิด้าโพลระบุว่า การที่กลุ่มสามมิตรย้ายไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยทำให้ได้ 310 เสียง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อาจจะให้เกียรติสามมิตร แต่ตนเรียนว่าพรรคเพื่อไทยมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่สามารถช่วยกันสร้าง ส.ส.ในพื้นที่ได้ ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้ยึดแนวทางเรื่องของนโยบายเป็นหลักมากนัก เช่น มีผู้ใหญ่ บ้านใหญ่เข้าไปเยอะแยะ ใช้ปัจจัยอื่นๆ ในการหาเสียง แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยใช้นโยบาย ไม่ได้ใช้ปัจจัยอื่น เชื่อว่าแลนด์สไลด์จะทำได้สำเร็จ และมั่นใจว่าตัวเลขอาจจะมากกว่านั้นก็ได้

ถามว่า กลุ่มสามมิตรถูกมองว่าไปจับมือกับพรรคไหน พรรคนั้นมีแนวโน้มที่จะได้เป็นรัฐบาล เลยมองว่าเสียงอาจจะเทไปที่กลุ่มสามมิตร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราจะไปหาพื้นที่ใหม่ มีคนตามมาเท่าไหร่นั้น ตนไม่รู้ ไม่ได้นับ เพราะ ส.ส.ทั้งหลายมีเอกสิทธิส่วนตัว ไม่สามารถเกี่ยวนำไปไหนมาไหนได้ อยากไปก็ไป ถ้าไม่ไปก็ไม่ต้องไป แต่ในเขตจังหวัดนั้นมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่สามารถสร้างพื้นที่นั้นให้เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่น ครั้งที่แล้วตนดูแลภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ให้ตนจังหวัดเดียวคือ จ.สุโขทัย เพราะพื้นที่อื่นเขายึดหมด นอกจากนี้ ให้ตนไปดูในพื้นที่ที่ไม่มีใครช่วย จนไปสร้าง ส.สในพื้นที่ใหม่ๆ ได้หลายคน ถ้าไม่ได้พื้นที่ใหม่ช่วยตนคงแย่ไปแล้ว และสถิติการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมี ส.ส.ใหม่เข้ามา 50%

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าการตัดสินใจลาออก ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมหรือยัง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้พูดคุยกับนายกฯ แต่นายกฯพูคคุยกับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งนายสุริยะถ่ายทอดให้ฟังว่านายกฯไม่ได้ติดใจอะไร และขอให้โชคดี และฝากนายสุริยะให้มาบอกกับตนด้วย

ทั้งนี้ ขอบคุณนายกฯ ที่ให้พวกตน และตนมีโอกาสได้ทำงาน ได้แสดงฝีมือ เพราะตนเมื่อย้ายไปอยู่ตรงไหน ตนทำงานเต็มที่ อย่างตอน พปชร. อยู่กระทรวงยุติธรรม ประธานวุฒิสภายังบอกว่าเดิมเป็นกระทรวงเกรดซี แต่วันนี้เป็นเกรดเอแล้ว มีคนมาเล่าให้ตนฟัง นอกจากนี้พล.อ.ประวิตรที่ให้การสนับสนุนในเรื่องงานต่างๆ อย่างดียิ่ง ตนทำงานเต็มที่ ไปพรรคเพื่อไทยก็เต็มที่ ไม่มีย่อหย่อน

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ดูพื้นที่ไหนบ้าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้เข้าไปพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้พูดคุยกับผู้บริหารของพรรค แต่ตนมีแนวทาง และพบว่าหลังมีข่าวว่าตนและนายสุริยะจะเข้าไป พี่ๆ น้องๆ ในพรรคเพื่อไทยก็ขานรับ โทรศัพท์มาดีใจและแสดงความยินดี ให้การต้อนรับ ส่วนจะให้ตนไปดูภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ สุดแล้วแต่ผู้บริหารของพรรคจะเห็นเหมาะสม ตนไม่เลือก คนทำงานทำได้ทุกที่

เมื่อถามว่า ครั้งหน้าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล มีเก้าอี้ที่คาดหวังจะทำประโยชน์ให้ประชาชนหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวัง เพราะการคาดหวังจะทำให้เราเสียใจ ตนเคยคาดหวังไว้กระทรวงหนึ่ง แต่ถึงเวลาได้อีกกระทรวง และถ้าเราเป็นรัฐมนตรีโดยที่ทีมงานของรัฐบาลไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกันแล้วไม่สามารถขับเคลื่อนได้มันจะยาก ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ไม่มีประโยชน์ ทำการเมืองอยากให้เป็นทีมเดียวทีมใหญ่ อยากให้แลนด์สไลด์ อยากได้ 300 กว่าที่นั่ง

เมื่อถามว่า กังวลเรื่องความรู้สึกของคนเสื้อแดงหรือไม่ เพราะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์มา และย้ายมาพรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็มีบ้าง เพราะเราเปลี่ยนที่ในขณะที่คนอื่นเขาอยู่กัน แต่ส่วนใหญ่ที่ตนได้รับข้อมูลมา ถ้าคิดเป็น % ก็สูงมาก จากการได้แสดงความรู้สึก อย่างไรก็ตาม ตนไม่ประสงค์จะดำเนินการทางการเมืองในแบบกลุ่ม แต่จะดำเนินการตามแนวนโยบายของพรรค เพราะมั่นใจแนวปฏิบัติในพรรคเพื่อไทยจะทำให้เกิดความสมดุลได้

ถามว่า ไปพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังเรียกกลุ่มสามมิตรได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะใช้แล้ว ไม่น่าจะมีกลุ่มด้วย และที่มาของกลุ่มสามมิตรนั้น เริ่มต้นจากการเมืองครั้งที่แล้ว นายภิรมย์ พลวิเศษ มาแวะรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่นี่ และได้นัดพูดคุยกับตนเกี่ยวกับปัญหาของประชาชน เลยชวนนายสุริยะมายืนถ่ายภาพด้วยกันสามคน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสามมิตร ไม่คิดจะเป็นกลุ่มใหญ่โตอะไร แต่วันนี้เหลือสองมิตรคือ ตนกับนายสุริยะ เพราะนายภิรมย์ได้จากไปแล้ว และตนไม่คิดจะไปตั้งกลุ่มอะไรแล้ว

เมื่อถามว่า ถ้าเกิดแลนด์สไลด์ขึ้นมา แล้วทหารไม่ยอมรับจนมีการรัฐประหาร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องนอกระบบ เป็นเรื่องของประชาชนและสื่อมวลชน และตนไม่เคยเดินขบวน เป็นผู้แทนตั้งแต่ปี 26 เป็นคนเดียวที่ไม่เคยเดินขบวน ไม่มีนอกระบบ ไม่เคยต้องไปถือไม้ไล่ตี ตนชอบดูมวย ชกมวยได้ เก่งด้วย แต่ไม่เคยไปเดินข้างถนน ฝักใฝ่แต่เรื่องทำงาน ถึงได้เป็น ส.ส.ได้นาน

เมื่อถามว่า อุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยคืออยู่ตรงข้ามพรรคพลังประชารัฐ และพล.อ.ประยุทธ์ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถึงเวลาการเลือกตั้งจบแล้ว รัฐบาลมันอยู่ที่ตัวเลขของ ส.ส. โกรธกันแทบตาย ถ้าเหลือสองพรรคก็ต้องหาทางลดหย่อน ต้องลดและปรับแนวทางเป็นรัฐบาลร่วมกัน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลหลายพรรค การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจะทำได้ไม่เต็มที่ ฉะนั้น เลยอยากให้ประชาชนมาช่วยทำแลนด์สไลด์ให้สมหวัง แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เลิกกันไป

ถามว่า คิดว่าจะได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่เท่าไหร่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกิน 50 ก็ได้เป็น ส.ส. เมื่อถามว่า มีการมองว่านายสมศักดิ์น่าจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ พปชร. นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้กลุ่มสามมิตรมีอยู่ทุกพรรคการเมือง ทุกพรรคการเมืองมันสามารถเชื่อมกันได้ทุกพรรคอยู่แล้ว เมื่อถามว่า แสดงว่าวางไว้หมดทุกพรรคแล้วใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้วางแต่มันบังเอิญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

พปชร. ยื่นร่างพรบ.ลำไย เข้าสภาฯ หวังช่วยแก้ปัญหา ลดภาระเกษตรกร

พรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ , นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส และนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ลำไย พ.ศ. …

เดือด! โฆษกพรรคหญิงหน่อยจี้ 'สุภาพร' ลาออกหลังโผล่ไปรับทักษิณ

'ภัชริ' ซัด 'สุภาพร' ไม่มีความละอาย ไม่สำนึกถึงสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชน โผล่ถ่ายรูป 'ทักษิณ' ทั้งที่ยังสังกัด ไทยสร้างไทย ลั่นพฤติกรรมเป็นงูเห่าชัดตั้งแต่ต้น จี้ลาออกหลังพรรคให้โอกาสแต่ไม่สำนึก

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า