นักวิชาการพระปกเกล้า เปิด 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตามีดีลข้ามขั้ว

นักวิชาการพระปกเกล้า คาดดีลกันวุ่นจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเผยแนวทาง 3 สูตร จับตาต่อสายข้ามขั้วการเมือง ชี้ตัวแปร ภูมิใจไทย

14 พ.ค.2566 – ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับหนึ่งไปคุยนอกรอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งฝ่ายที่คงจะเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็คือ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล และอาจเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการคุยข้ามขั้ว เพราะต่อให้แลนด์สไลด์กันอย่างไร พรรคการเมืองอดีตฝ่ายค้านเดิม ก็ไม่น่าจะรวมเสียงกันได้เกิน 376 เสียง(โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง)  ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล ก็ต้องไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วยเช่น ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทย 

ดร.สติธร กล่าวว่า แต่พรรคที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ก่อนก็คือพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแล้วหากดึงมาร่วมตั้งรัฐบาล กระแสต่างๆที่จะย้อนกลับไปที่เพื่อไทยน่าจะเบากว่าที่จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคของสองลุง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ)หรือแม้แต่กับ ประชาธิปัตย์ แต่ก็คงไม่ง่ายเพราะอาจติดเงื่อนไขต่างๆ เพราะช่วงหาเสียงก็ลุยใส่กันเยอะ และต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงกันไว้สูงพอสมควร จนอาจเกิดกรณีงูกินหางทางการเมืองตามมาเช่น เพื่อไทย อาจต้องยอมกลืนน้ำลายบางส่วน เพื่อชวน ภูมิใจไทยมาร่วมตั้งรัฐบาล ส่วนภูมิใจไทย ก็ต้องมาโดยอาจมีเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่แตะเรื่องแก้ 112 ที่ก็คือ พรรคก้าวไกล ส่วนก้าวไกล ก็ให้ร่วมกับภูมิใจไทยได้ แต่จะยื่นเงื่อนไขไม่ให้ภูมิใจไทยคุมกระทรวงสำคัญเช่น กระทรวงคมนาคม มันก็เป็นงูกินหางแบบนี้ ส่งผลให้การรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. มันจะไม่ง่าย 

ดร.สติธร กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตนายกฯ ว่า ตราบใดที่เพื่อไทยไม่สามารถเจรจาพรรคการเมืองต่างๆ จนได้เสียงสว. 376 เสียง มองว่าทางสว.ก็อาจเลือกที่จะนิ่งไว้ก่อน เพราะเราก็ได้เห็นท่าทีของส.ว.จำนวนไม่น้อย ในช่วงที่เขาหาเสียงกัน สว.บางคนก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะขอยืนเป็นตัวของตัวเอง คือประชาชนเลือกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ทางสว.ก็ขอใช้เอกสิทธิ์คิดเองคิดแทนโดยบอกว่าจะยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ เขาก็มีจุดยืนแบบนี้

ดร.สติธร ระบุว่า แปลว่าหากเพื่อไทยไม่สามารถปิดสวิตช์สว.ด้วยการรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง ทำให้ถึงตอนโหวตนายกฯ ทางสว.ก็อาจโหวตไปในทางตรงกันข้ามหรือไม่ก็ใช้วิธีเข้าประชุมแต่ถึงตอนโหวต สว.อาจงดออกเสียง จนอาจทำให้คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้เสียงไม่เกิน 376 เสียงของสมาชิกรัฐสภา ทำให้ประธานรัฐสภาต้องไปนัดประชุมร่วมรัฐสภาใหม่อีกครั้ง เพื่อมาลงมติโหวตนายกฯ ถ้าประชุมนัดแรกไม่มีใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ สุดท้ายแล้วจะใช้เวลานานขนาดไหนกว่าจะเสร็จสิ้น ก็ยังคาดเดาไม่ถูก แต่หากฝ่ายต่างๆ มีการพูดคุยกันรู้เรื่องระหว่างที่รอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้ง มันก็อาจทำให้การโหวตเลือกนายกฯจบเร็วในครั้งแรก แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง เราก็อาจจะได้เห็นการโหวตเลือกนายกฯ อาจเกิดขึ้นหลายรอบ 

“จากกติกาการโหวตเลือกนายกฯและท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อ แต่เกมหนึ่งที่ยืดเยื้อไม่ได้ก็คือ การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาฯ ก็อาจอยู่ในฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านเดิม ที่เรียกกันตอนนี้ว่าเสรีนิยม หรืออาจจะไม่ก็ได้ มันอยู่ที่การคุยกันนอกรอบ ว่าเสียง 376 มันจะรวมกันได้หรือไม่เฉพาะส.ส. และเงื่อนไขการรวมเสียง 376 เสียง อาจมีตำแหน่งประธานสภาฯ อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขก็ได้ โดยประธานสภาฯ อาจมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ข้ามขั้วมาก็ยังได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เจรจากันลงตัว ก็เป็นไปได้เช่นกัน” ดร.สติธร ระบุ

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ว่า ถึงตอนนี้มองไว้สามสูตร สูตรแรกคือ ฝ่ายพรรคการเมืองขั้วเสรีนิยมคือเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมเสียงกันแล้วแลนด์สไลด์เกิน 300 เสียง แล้วก็ไปชวนภูมิใจไทยมา โดยที่ภูมิใจไทยกับก้าวไกลตกลงกันได้ มาเป็นรัฐบาลร่วมกัน แบบนี้แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยคนใดคนหนึ่งได้เป็นนายกฯ อันนี้คือ scenario ที่ฝ่ายเสรีนิยมแลนด์สไลด์ และคุยกันลงตัว

“ แต่ภายใต้ scenario นี้ ก็มีรายละเอียดย่อยอีกคือ ภูมิใจไทยเข้ามาโดยการดึงของเพื่อไทย แต่ฝ่ายก้าวไกลไม่โอเคด้วย แต่ก้าวไกลก็ไม่อยากให้ เพื่อไทยไปเอาพลังประชารัฐที่มีลุงป้อมมา ก้าวไกลก็อาจโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทยเพื่อร่วมปิดสวิตช์ลุงป้อม แต่ก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาล” ดร.สติธร ระบุ  

ดร.สติธร ระบุด้วยว่า Scenario ที่สองก็คือ ก้าวไกลไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย  และไม่ร่วมโหวตแคนดิเดตนายกฯให้ด้วย ทำให้เพื่อไทย ต้องไปพึ่งพลังประชารัฐกับลุงป้อม แต่จำนวนเสียงก็อาจยังไม่พอ จนเผลอๆ เพื่อไทย  ต้องไปขอแรงประชาธิปัตย์มาร่วมอีก และถ้ายังไม่พออีก ก็ต้องขอแรงลุงป้อมให้ดึงสว.มาร่วมโหวตให้ด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลผสมแบบ scenario ที่สองก็คือ เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยต้องบวกกับฝ่ายพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทยและอาจจะมีประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นรัฐบาล ซึ่ง scenario สูตรนี้ โอกาสที่เพื่อไทยจะต้องเสียแคนดิเดตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ โดยอาจจะมาจากคนใดคนหนึ่งจากพรรคการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสูตรนี้ ซึ่งภาษีสูงสุดก็น่าจะเป็นพลเอกประวิตร 

นายสติธร กล่าวอีกว่า Scenario ที่สามก็คือ “ลุงตู่อยู่ต่อ” หมายถึงกระแสแลนด์สไลด์แรงก็จริงแต่ผลเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าจะแรงไปทางเดียว คือแรงไปในทางที่ว่า”ก้าวไกลไปตัดเพื่อไทย” จนทำให้เขตเลือกตั้งต่างๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีปัจจัยเช่นความเป็นบ้านใหญ่ มีผู้สมัครแข็งๆ มีกระสุนดีๆ กลายเป็นผู้ชนะแทน คล้ายๆ กับตอนเลือกตั้งปี 2562 กับพลังประชารัฐตั้ง 97 เขต ภูมิใจไทยก็สามสิบกว่าเขต ประชาธิปัตย์ก็สามสิบกว่าเขต รวมๆ กันก็ร่วมๆ ร้อยกว่าเขตเลือกตั้ง ที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันเขาเคยชนะในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว

ดร.สติธร กล่าวว่า จนทำให้พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลรวมตัวเลขส.ส.กันแล้วหลังเลือกตั้งน่าจะไปได้ระดับ 220-225 เสียง ในสี่พรรคการเมือง(พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์) แล้วก็บวกกับพรรคเล็กๆ ที่สนับสนุนรัฐบาล เขาก็มีโอกาสตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพราะเกรงความเสี่ยง ก็อาจใช้วิธียื้อการตั้งรัฐบาลไปก่อน เพื่อหวังว่าจะมีคนย้ายขั้วจากฝ่ายเสรีนิยมมาร่วมในฝั่งนี้ เพราะตัวเลขมันห่างจาก 250 เสียงไม่เยอะเลย 

“ในScenario ที่สาม ก็จะมี 3.1 กับ 3.2 โดย 3.1 คือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปเลย แล้วก็ไปเสี่ยงเอา หวังว่าตั้งรัฐบาลได้แล้วจะมีคนยอมมาร่วมด้วย ด้วยการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ หรือคุยนอกรอบให้เสร็จก่อน แล้วตอนโหวตนายกฯ ก็มาโหวตให้แคนดิเดตนายกฯของฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่น่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ไปก่อนแล้วก็ตั้งรัฐบาล แบ่งเก้าอี้กันไป ที่ก็คือไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อยแต่เป็นรัฐบาลที่ไปได้งูเห่ามา โอกาสกลับมาเป็นนายกฯของพลเอกประยุทธ์ก็จะอยู่ใน Scenario ที่สาม ที่ก็ยังไม่ปิดประตู เพราะต่อให้ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงมา 300 เสียง แต่ก็ยังขาดอีกร่วม 70 กว่าเสียง มันยังมีเงื่อนไขอีก จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย และทำให้พรรคพลเอกประยุทธ์ ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้พลิกเกมกลับมา” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแล้ว นวัตกรรม “ปราบโกง” งานวิจัย พระปกเกล้า สู่ ป.ป.ช. ยุคดิจิตอล

สถาบันพระปกเกล้า นำโดย รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าโครงการ ร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอปกครองรูปแบบพิเศษ

นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า "เทศบาลนครภูเก็ต มีแนวความคิดการปกครองรูปแบบพิเศษ และเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ได้หาเสียงกับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบเรียบร้อยแล้ว ได้ทางสถาบันพระปกเกล้ามาดำเนินการวิจัยเป็นรูปเล่มออกมาเรียบร้อยแล้ว รอวันเวลาที่จะไปยื่นกับทางรัฐบาล

อดีตบิ๊กข่าวกรองจี้ 'สถาบันพระปกเกล้า' ชี้แจงเชิญ 'ธนาธร' ไปบรรยาย!

อดีตบิ๊กข่าวกรองเดือด! จี้สถาบันพระปกเกล้าต้องชี้แจงเชื้อเชิญธนาธรไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง ชี้ชัดตัวตนพ่อฟ้าต้องการปฏิรูปสถาบัน

CEO IRPC รับรางวัลประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันพระปกเกล้าประจำปี 2566

คุณกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รับมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันพระปกเกล้าประจำปี 2566

โรดแมฟกรุงเทพฯ รับมือภัยพิบัติกระหน่ำ

ไม่มีคนกรุงเทพฯ คนไหนไม่เคยลุยน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากของกรุงเทพมหานคร นี่ยังไม่รวมปัญหาไฟไหม้ ตึกถล่ม น้ำเน่าเสีย คลื่นความร้อนในเมืองที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ผลจากพฤติกรรมมนุษย์และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยกระดับเป็นโลกเดือดในตอนนี้

ตั้ง'พิพิธภัณฑ์ศาลรัฐธรรมนูญ'

16 ส.ค.2566 - กรมศิลปากรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และภาคีองค์กรพิพิธภัณฑ์อีก 4 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้