เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน 1 ตุลาการศาลรธน. การกระทำของ 'อานนท์-ไมค์-รุ้ง' ขณะเกิดเหตุไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

11 ธ.ค.2564 - เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ความเห็นส่วนตนของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คําวินิจฉัยที่ 19/2564 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่มีมติเสียงข้างมาก การกระทำของนายอานนท์ นําภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

ทั้งนี้ความเห็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ราย พบว่ามี 8 รายมีความเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , นายปัญญา อุดชาชน , นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์

ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม มีความเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามขณะเกิดเหตุไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

โดยคำวินิจฉัยส่วนตนของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม มีรายละเอียดดังนี้

ประเด็นวินิจฉัยการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และ3ที่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อส้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง หรือไม่

ความเห็น

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องเห็นว่าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใด ๆ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีมีคณะบุคคลใช้สถานที่ต่าง ๆ จัดเวทีชุมนุมตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา มีการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา - ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มีการกระทำเป็นขบวนการโดยมีการนำแนวคิด ทฤษฎี แนวทางปฏิบัติมาจากอดีตพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งไม่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยผู้ถูกร้องทั้งสาม แต่ละคนได้กล่าวปราศรัยมีข้อความอันเป็นการกระทำดังกล่าว

ผู้ถูกร้องทั้งสามโต้แย้งว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ต้องด้วยองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ร้องเพียงแต่กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 มาตรา 34 และมาตรา 35 คำร้องและข้อกล่าวหาของผู้ร้องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เนื่องจากเป็นคำร้องที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่ปรากฏสภาพแห่งข้อหาที่ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นเพียงการเรียกร้องทางการเมืองให้รัฐบาลยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้เนื่องจากอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใด ๆภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ขณะพิจารณาว่าจะรับคำร้องนี้หรือไม่ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใด ๆ ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับคำร้องขอของผู้ร้องนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา แต่ปรากฎภายหลังว่าอัยการสูงสุดมีการดำเนินการต่อคำร้องของผู้ร้อง โดยตั้งคณะทำงานพิจารณาและอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเสนออัยการสูงสุดไว้ประกอบการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ต่อไป ในเมื่ออัยการสูงสุดยังไม่มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ผู้ร้องร้องขอ กรณีจึงมิได้เป็นไปตามที่ผู้ร้องอ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม แต่ผู้ร้องอาจไม่ทราบเรื่องดังกล่าวในขณะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าอัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการใด ๆ ภายใน 15 วัน จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณโดยผิดหลงในข้อเท็จจริงแล้ว สามารถเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเป็นไม่รับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ หรือข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2562 มีข้อกำหนดกรณีเช่นนี้ไว้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม สมควรพิจารณาคำร้องของผู้ร้องต่อไป เพราะไม่ปรากฎว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการตามที่ผู้ร้องร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง แต่อย่างใด ซึ่งต่อไปสมควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ให้มีกรณีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 19 ไว้เช่นเดียวกับที่มีบทบัญญัติการดำเนินการที่มีการร้องขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแก้ไขข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ให้มีกรณีการดำเนินการเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้" วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกรกระทำดังกล่าวได้"

วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้"

และวรรคสี่ บัญญัติว่า "การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง"

ซึ่งมาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นบัญญัติในทำนองเดียวกันกับในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่วางหลักการเพื่อปกป้องคุ้มครองการปกครองระบอบประซาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดการดำเนินการในกรณีมีการฝ่าฝืน

ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้เพื่อจะยืนยันว่านอกจากช้อเสนอสามข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมันมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่มันเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง ... ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหารหากการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น..."

ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 ได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า "... มีคนถามผมว่า เหมือนผมขุดดินด้วยมือเปล่า หรือพยายามถอนรากต้นไม้ใหญ่ด้วยแรงของผมเพียงคนคนเดียวหรือไม่ แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่าการถอนรากถอนโคนต้นไม้ผมไม่ได้ทำแค่คนเดียว ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ครับว่า เรากำลังจะสร้างถนนลาดยางหนึ่งเส้นเพื่อความเจริญงอกงามให้กับประเทศ แต่ดันบังเอิญมีต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ รู้ไหมต้นไม้ใหญ่คือใคร หลายคนอาจคิดว่ามันไม่ยากเลยกับการสร้างถนลาดยาง คือการสร้างให้มันเป็นวงเวียน แต่ผมคิดว่าเราควรย้ายต้นไม้ให้ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่และสร้างถนนลาดยางที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ผมกำลังจะเปรียบเทียบว่าการที่เราพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดได้ เพราะเมื่อผมย้ายต้นไม้ หรือสร้างถนนให้เกิดความแข็งแรงสมบูรณ์ ต้นไม้จะอยู่ในที่ที่เหมาะสม และถนนก็ยังคงแข็งแรง เปรียบเสมือนกับว่าวันนี้เราจะสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยให้กษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม

....ผู้ใดจะไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้เฉกเช่นนั้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าพระมหกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือ ต้องการให้พระมหกษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยคือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามรถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแตะต้องคนนั้นต้องโดน มาตรา 112 สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้พระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้ากับประชาชนได้ และกลับมาอยู่ประเทศไทย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับประชาชนอยากให้ท่านกลับมาอยู่ประเทศไทยเพื่อไม่ให้เปลืองภาษีประชาชน ...

และผู้ถูกร้องที่ 3 ได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า "... กษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้ารัฐประหารอันเป็นการรับรองให้การรัฐประหารครั้งนั้น ๆ ชอบด้วยกฎหมายทุกครั้งไป มิหนำซ้ำยังทรงโยกย้ายกำลังพลรวมถึงถ่ายโอนงบป ระมาณแผ่นดินจำนวนมากเข้าเป็นส่วนของพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติแล้ว ให้เสด็จไปประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ....

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ดังต่อไปนี้ (1) ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

(2) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

(3) ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

(4) ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

(5) ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และให้หน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย

(6) ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

(7) ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

(8) ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

(9) สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์

(10) ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก"

เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของผู้ถูกร้องทั้งสามแล้ว ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่ผู้ถูกร้องที่ 3 กล่าวนั้นจะเห็นได้ว่ามีแผนเป็นขั้นป็นตอน เริ่มจากจะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" และวรรคสองบัญญัติว่า "ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆมิได้" และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้

อีกทั้งยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย อันจะทำให้มีการกระทำอันเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดและบิดเบือนกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องกรงกลัวว่าเป็นการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อีกต่อไป เพราะปัจจุบันเมื่อมีการจับกุมสอบสวนดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดดังกล่าว ก็ได้เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้นั้น และการให้มีการสืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ โดยไม่มีเหตุผลถึงที่มาเรื่องดังกล่าวนี้ และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

การให้ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ เช่น ให้ย้ายหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ไปสังกัดหน่วยงานอื่น และกเลิกคณะองคมนตรีย่อมเป็นการไม่ให้มีองคมนตรีทำหน้าที่พิจารณาถวายความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย การแต่งตั้ง ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม การขอพระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆและงานราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และไม่ให้มีหน่วยทหารรักษาพระองค์ปฏิบัติหน้าที่ถวายอารักขา รักษาความปลอดภัย และถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธี และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน การให้ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด รวมทั้งยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงด้านเดียว ย่อมเป็นการปิดกั้นมิให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหกษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงพระราชกรณียกิจสำคัญในด้านต่าง ๆ ที่ได้ทรงกระทำเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานจนถึงปัจจุบันนำไปสู่การปิดกั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

การให้ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่จะให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพของประชาชนกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง เช่น กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และระหว่างวันที่ 17 ถึง 20 พฤษภาคม 2535 พระมหากษัตริย์ได้ทรงแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในที่สุด

ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อดังกล่าว หากมีผลสำเร็จจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ที่จะต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภาให้ถูกต้องยังไม่ปรากฏชัดแต่อย่างใด พฤติการณ์การกระทำที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวและต่อเนื่องในการชุมนุมครั้งอื่นต่อมาอีก จึงไม่ใช่การกระทำโดยกระบวนการที่ถูกต้องทางนิติบัญญัติโดยแท้จริงในขณะนี้

แต่เมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงประการอื่นว่าจะมีการกระทำอย่างอื่นให้สำเร็จดังกล่าวอย่างฉับพลันทันทีในขณะนั้นโดยอำนาจประการอื่นที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่พอฟังได้ว่าการกระทำขณะเกิดเหตุเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่ นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่ห้ามมิให้มีการกระทำในลักษณะที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไปเพราะหากมีการกระทำเช่นนั้นอีกหลายครั้งต่อเนื่องกันไปเป็นระยะ จะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การลัมล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

จึงมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามขณะเกิดเหตุไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่ห้ามมิให้มีการกระทำในลักษณะที่กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา ๗๔

อ่านความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัยอำนาจสภาฯแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256

'นครินทร์' ย้ำศาลรธน.ไม่มีธงตัดสิน ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ศาลรธน. นัดถก 17 เม.ย. ก้าวไกลขอขยายเวลายื่นคำชี้แจง ตัดสินยุบพรรคไม่ทัน เม.ย.นี้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องยุบพรรคก้าวไกล และการขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องแล้วแต่ที่ประชุมของศาลซึ่งก็จะดูความพอเหมาะ