ผงะ! ผู้ว่าฯ สตง.บอกทำงาน 6 ปีพบหน่วยงานรัฐใช้เงินแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพถึงแสนล้านบาท

สตง.เปิดตัวเลข สุดตะลึงพบ 6 ปีหน่วยงานรัฐใช้จ่ายงบไม่มีประสิทธิภาพ-ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมทะลุหนึ่งแสนล้านบาท เฉลี่ยปีละสองหมื่นล้าน!

23 ก.พ.2567 - นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังอยู่ในตำแหน่งมา 6 ปีกล่าวถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่า หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่ง สตง.จะมีบทบาทภารกิจในการตรวจสอบหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งเรียกว่าหน่วยรับตรวจ โดย สตง.จะมีการตรวจสอบสามประเภทใหญ่ๆ คือ 1.การตรวจสอบการเงิน 2.การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และ 3.การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการตรวจสอบทั้งสามประเภทของ สตง.ในช่วงที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตลอดช่วง 6 ปีทีผ่านมา สตง.พบความเสียหาย พบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์รวมแล้วประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ก็เท่ากับเฉลี่ยแล้วปีละประมาณสองหมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขบางปีก็เกือบสี่หมื่นล้าน แต่บางปีก็ไม่กี่พันล้านบาท

นายประจักษ์กล่าวว่า สตง.ไม่ได้อยากให้เจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อยากให้ความเสียหายเหล่านั้นมันลดลง โดย สตง.ก็เน้นเรื่องการให้ความรู้ การตอบข้อซักถามของหน่วยรับตรวจ การเป็นที่ปรึกษาให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับเก่า หากสตง.ตรวจพบว่ามีการทำผิดกฎหมาย จะเสียหายหรือไม่เสียหาย ถือว่าทำผิดแล้ว ทาง สตง.ก็ต้องแจ้งการพบการทำผิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน กระบวนการเปลี่ยนไป เช่น หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เช่นการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายต่างๆ สตง.ต้องดูว่า สุดท้าย ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ มีการนำงบประมาณไปใช้แล้วได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์เมื่อใช้ไปแล้ว ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เพราะบางที ดำเนินการไปครบถ้วน ได้ของที่จัดซื้อมาตามสเปกต่างๆ ที่กำหนดไว้หมด แต่ปรากฏว่ามีการข้ามขั้นตอนตามระเบียบ-กฎหมาย หรือกระบวนการไม่ถูกต้องหากเป็นสมัยก่อนถือว่าผิดทันที แต่กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับปัจจุบัน หากพบว่ามีความบกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่พบว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางหน่วยรับตรวจ ก็เพียงแต่แก้ไขให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป ซึ่งสตง.พบลักษณะดังกล่าวค่อนข้างเยอะ เพราะบางทีเขามุ่งไปที่เป้าหมาย-ความสำเร็จ แต่บางทีไม่เป็นไปตามระเบียบ เช่น การจัดซื้อเครื่องตรวจATKในช่วงโควิด ที่เคยมีปัญหาต่างๆ ที่สุดท้ายได้ATK ตามสเปกหมด แต่ขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งลักษณะแบบนี้กฎหมายฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้ให้ลงโทษอะไร แต่หากไปดำเนินการไม่ถูกต้องแล้วเกิดความเสียหาย สตง.ต้องแจ้งหน่วยรับตรวจให้ตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อหาผู้รับผิดชอบต้องมีการชดใช้ความเสียหายดังกล่าว โดยหากแจ้งแล้วไม่มีการดำเนินการ หัวหน้าส่วนราชการของหน่วยรับตรวจต้องรับผิดชอบแม้จะไม่ใช่คนทำผิด เพื่อให้สิ่งที่สตง.ตรวจพบและแจ้งไป ต้องมีการดำเนินการและชดใช้คืน ส่วนคนที่มีความผิดตามวินัยข้าราชการก็ต้องโดนโทษทางวินัยเช่น ภาคทัณฑ์หรือปลดออก

ผู้ว่าฯสตง.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในการตรวจสอบของ สตง.หากพบว่าเกิดความเสียหายและผิดระเบียบ อีกทั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต สตง.ก็จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป โดยตัวเลขความเสียหายที่ สตง.ตรวจสอบพบแล้วส่งให้สำนักงานป.ป.ช.ปีหนึ่งๆ ก็ประมาณหลักร้อยล้านบาท เพราะด้วยบทบาทโดยรวม สตง.มีทรัพยากรที่จะตรวจสอบเรื่องทุจริตค่อนข้างมีจำกัด และประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าเรื่องไหนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด ให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นหากเป็นเรื่องทุจริต เรื่องฮั้วประมูล สตง.ก็จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานป.ป.ช. แต่ถ้าไม่ถึงขั้นทุจริต ก็จะเป็นบทบาทของ สตง.

“ในช่วงหกปีที่ผมเป็นผู้ว่าฯ สตง.ทาง สตง.มีการส่งเรื่องต่อให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ รวมมูลค่าวงเงินก็ประมาณสองพันล้านบาท ซึ่งสองพันล้านบาทดังกล่าว จะอยู่ในแสนล้านบาทที่บอกข้างต้น เพราะ สตง.เราตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างน้อย เพราะหาก สตง.พบเจอหรือมีคนมาร้องเรียนให้ สตง.ตรวจสอบ หากเราพบว่า ป.ป.ช.เขาก็เข้าไปตรวจสอบด้วย สตง.ก็จะส่งเรื่องต่อไปที่ ป.ป.ช.ทันที แต่หาก ป.ป.ช.ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ สตง.ก็จะเข้าไปดำเนินการก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งให้ ป.ป.ช.ที่พอป.ป.ช.รับเรื่องต่อจาก สตง. ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อได้ทันทีเลย ก็เป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.กับ สตง.”ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบเบิกจ่ายมีปัญหา 6 ปี-หนึ่งแสนล้าน ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายมีจุดเสี่ยง

“สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” หรือ สตง. คืออีกหนึ่งองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

จ้องงาบ 'เมกะโปรเจกต์' มีหนาว! สตง. เปิดสำนักใหม่สอบโครงการยักษ์

คิดงาบ 'เมกะโปรเจกต์' หนาวแน่! 'สตง.' ติดเขี้ยวเล็บ เปิดสำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ประเดิมรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ดิจิทัลวอลเล็ต

'เศรษฐา'โบกธง เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.-สตง.ขย้ำจุดตาย

จับกระแสท่าทีทางการเมืองของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ต่อ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต-ออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาทแจกประชาชน แลเห็นได้ชัด เศรษฐายังจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป