'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

1 พ.ย. 2567 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีความขัดแย้งกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อย่างชัดแจ้ง เริ่มตั้งแต่ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบาย digital wallet อย่างเปิดเผย และเนื่องจากนายเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งผู้ว่าฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม นายเศรษฐาพยายามกดดันด้วยวิธีการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในการแสดงปาฐกถาในการประชุมใญ่ของพรรคเพื่อไทย ยังได้กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร การกดดันผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังตำหนิว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ดูแลค่าเงินบาทให้ดี เพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เป็นผลเสียต่อผู้ส่งออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ถึงกับพูดถึงผู้ว่าฯออกสื่อมวลชนว่า “ผมไม่รู้ว่าท่านจบจากที่ไหนนะฮะ …….. ท่านพูดเหมือนกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง”

ต่อมาเมื่อจะต้องมีการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนคนเดิมที่หมดวาระ ก็มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มีคุณสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน มีข้อสังเกตว่า ในคณะกรรมการสรรหา ไม่มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการด้วยเช่นในอดีต

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเช่นกันว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในขณะที่เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เคยโพสต์ข้อความโจมตี ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้ง และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เคยขัดแย้งกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น ซึ่งไม่ยอมทำตามความต้องการของรัฐบาล ถึงกับเคยปรารภว่า ถ้าปลดผู้ว่าฯได้ก็คงปลดไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงคัดค้านอย่างมาก ศิษย์ของหลวงตามหาบัว ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลเพื่อคัดค้านการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่ไว้วางใจ เพราะหลวงตาได้นำทองคำที่ได้จากการจัดทอดผ้าป่าช่วยชาติ มามอบให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนมากกว่า 1 ตัน ในการประชุมครั้งแรก กรรมการสรรหาจึงเลื่อนการลงมติเลือกประธานออกไปก่อน

ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านั้นยังมีข่าวว่า นายกิตติรัตน์ มีคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล คือกรณีเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยปละละเลยให้มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทสยามอินดิก้า เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับองค์การคลังสินค้า เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าวและส่งมอบให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซียหรือ BULOG โดยไม่จัดให้มีการแข่งขันกับผู้เสนอราคารายอื่น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้อุทธรณ์ จึงมีหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดว่ามีความประสงค์จะขออุทธรณ์ แต่ขณะนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้ตัดสินว่าจะอุทธรณ์ตามความประสงค์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ แน่นอนว่าการตัดสินใจของอัยการสูงสุดย่อมมีผลต่อความชอบธรรมที่จะเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดวันประชุมครั้งต่อไปเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อมี 3 ราย คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายกุลิศ สมบัติศิริ และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

วันที่ 30 ต.ค. 67 ได้มีกลุ่มนักวิชาการที่มีชื่อว่า “กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม” ได้รวบรวมรายชื่อนักวิชาการหลายสาขา แต่ส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์รวม 227 คน ร่วมลงชื่อในหนังสือเพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองแทรกแซงหรือครอบงำการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ที่ร่วมลงชื่อมีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน คือ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส และดร.วิรไท สันติประภพ และยังมีอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 4 คนอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นห่วงว่า การแทรกแซงของฝ่ายการเมือง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจนไม่สามารถแก้ไขได้

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้โดยเลขาธิการพรรค แทนที่จะให้ความมั่นใจกับกลุ่มนักวิชาการว่า จะไม่มีการแทรกแซงหรือครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่กลับให้ความเห็นว่า นายกิตติรัตน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค และไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อันเป็นการบอกว่า ฉันยังคงจะเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ดี ไม่ได้ฟังคำเตือนของนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และนักวิชาการชั้นนำในสาขาอื่นๆ ของประเทศถึง 227 คนเลยแม้แต่น้อย นักการเมืองเหล่านี้ทำงานเพื่อใครกันแน่

ไม่ทราบว่า คนไทยลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมืองแบบนี้มาให้ปกครองประเทศได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ฟังทางนี้! แก้ด่วนบุคลิก 3 เรื่อง ให้สมวุฒิภาวะผู้นำ

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง "บุคลิกของนายกฯอุ๊งอิ๊ง" โดยระบุว่า คนที่เขาเกลียดคงไม่ต้องพูดถึงหรอก อะไรๆ เขาก็ด่านายกฯ อุ๊งอิ๊ง

นายกฯโบกมือทักทายสื่อ เรียกทีมโฆษกรัฐบาลมอบนโยบายหลังครบทีม

นายกฯเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาล โดยทันทีที่ลงจากรถนายกฯ ได้หันมายิ้มโบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนเดินเข้าตึกไทยคู่ฟ้า

นายกฯ เสียใจลูกเรือประมงไทยเสียชีวิต สั่งเร่งเจรจาทางการเมียนมา ช่วยที่เหลือกลับโดยเร็ว

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงขอแสดงความห่วงใยต่อลูกเรือประมงที่ประสบเหตุการณ์ดังกล่าวทุกคน

'หมอเชิดชัย' เรียกแขก 'MOU 44 – ม็อบสนธิ' ไม่ระคายผิวรัฐบาล

“นพ.เชิดชัย” มอง ปม 'MOU44' ควรโยนหารือที่ประชุม 'เพื่อไทย' เพื่อเปิด 'เวที ม.152' ถาม 'สนธิ' อยากปลุกม็อบ ถ้าล้มรัฐบาลได้ จะเอาใครเป็นนายกฯ