'อดีตรมว.คลัง' ร่อนจม.ถึง 'รมว.คลัง' จี้ตรวจคุณสมบัติ 'โต้งไวท์ไล'

19 พ.ย.2567- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนองด้วยคะแนนเสียงข้างมาก นั้น

เนื่องจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ฯ เพื่อทำให้การทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑. คุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา ๑๘ (๔) และระเบียบการคัดเลือกที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ (๔) กำหนดว่าบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

นายกิตติรัตน์ฯ เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ และเพิ่งพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ พร้อมกับนายเศรษฐาฯ

ถึงแม้ระยะเวลายังไม่ครบหนึ่งปี แต่ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่าคณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเพราะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นข้าราชการการเมือง

๒. ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ถึงแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่เข้าข่ายเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่ทำให้ขัดด้วยคุณสมบัติ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

๒.๑ นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งส่วนตัว แต่เป็นคำสั่งโดยอ้างอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และกำหนดให้นายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะประธานฯ ให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

และยังเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจดังระบุไว้ในคำสั่งว่า ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

๒.๒ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ยังได้แต่งตั้งนายกิตติรัตน์ฯ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๑๖/๒๕๖๖ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยอีกด้วย เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบ และเป็นธรรม

โดยคณะกรรมการนี้มีอำนาจในการเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสารให้ข้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ฯ เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น มิใช่นายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทั่วไปอย่างส่วนตัว แต่ในฐานะตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

๒.๓ คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี เรื่องเสร็จที่ ๑๓๙/๒๕๔๗ ไว้ โดยอ้างถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) เรื่องเสร็จที่ ๔๘๑/๒๕๓๕ ในการพิจารณาตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด อันเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายให้ฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบาย จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้าราชการการเมือง” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕

ดังนั้น คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นี้ จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

และเมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรีในการช่วยเหลือ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่าง ๆ ของกระทรวงตามที่ได้รับมอบหมาย ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย

ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ เข้าข่าย“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยเช่นกัน

๒.๔ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา ๑๘ (๔) และระเบียบการคัดเลือกที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ (๔) ย่อมประสงค์จะให้เกิดความมั่นใจแก่สาธารณะและแก่สังคมเศรษฐกิจตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระจากการเมือง และรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงเพื่อเบี่ยงเบนนโยบายการเงินให้เป็นประโยชน์แก่พรรคการเมือง

จึงต้องตีความลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบกว้าง

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานและขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' ยันชง ครม. เคาะ 'พ.ร.บ.กาสิโน' ปัดมุ่งพนันยกท่องเที่ยวบังหน้า

'พิชัย' ชง พ.ร.บ.กาสิโน เข้าครม. ย้ำไม่ได้มุ่งการพนัน หวังเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยว พร้อมกํากับคุมเข้ม รับมี บางหน่วยงานเป็นห่วง

'รมว.คลัง' เผยสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ขั้นตอนเร็วกว่าเดิม

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการสรรหาประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ได้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง