เช็กความพร้อม 'แพทองธาร ชินวัตร' สู้ศึกซักฟอก-ติดกับดักตนเอง!

เสียงระฆังซักฟอกใกล้ดังขึ้น ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงบททดสอบของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” เท่านั้น แต่ยังเป็นสมรภูมิที่เดิมพันไปถึงคนในครอบครัว-ทักษิณ ชินวัตรอีกด้วย

ฝ่ายค้านไม่เพียงแต่โจมตีนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร” แต่ยังใช้เวทีนี้ ปลุกกระแสต่อต้านอำนาจเบื้องหลังที่มีบทบาทในการชี้นำการตัดสินใจต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี

หากการอภิปรายสร้างข้อกังขาเกี่ยวกับความสามารถของ “ผู้นำหญิงคนใหม่” จะเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นความไม่มั่นคงในรัฐบาลเพื่อไทย และส่งผลกระทบต่อสถานะของแพทองธาร

ก่อนที่ศึกอภิปรายจะเริ่มขึ้น คำถามสำคัญกว่าคือ “แพทองธาร” ในฐานะนายกรัฐมนตรี พร้อมรับมือกับการโจมตีจากฝ่ายค้านแค่ไหน และฝ่ายค้านมีอาวุธอะไรในมือ?

ในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทยเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมา “แพทองธาร” เปิดเผยถึงแนวทางในการรับมือกับศึกนี้ว่า “จะตอบในประเด็นกว้างๆ และให้รัฐมนตรีที่ดูแลในแต่ละกระทรวงเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด”

การเลือกแนวทางนี้สะท้อนถึงการ “ตั้งรับ” มากกว่าการ “เปิดเกมรุก” แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ปลอดภัย แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการวางกลยุทธ์ที่รอบคอบหรือ “สะท้อนถึงจุดอ่อนของตัวเอง”

หากมองว่าเป็นกลยุทธ์ การให้รัฐมนตรีตอบแทนอาจช่วยลดแรงปะทะกับนายกรัฐมนตรีและกระจายภาระไปที่ผู้ดูแลกระทรวงต่างๆ

แต่หากมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ก็จะกลายเป็นหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านว่า “ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่มีความรู้ และไม่เหมาะสมในการบริหารประเทศ”

ยิ่งไปกว่านั้น การตอบแบบกว้างๆ ยังสะท้อนถึง “กับดัก” ที่แพทองธารตั้งขึ้นเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการลงลึกในรายละเอียด แทนที่จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณะว่ามีความเข้าใจลึกซึ้งในนโยบายและการบริหารประเทศ

“กับดัก” ที่ แพทองธาร ตกอยู่คือการทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้นำที่ขาดความชัดเจน และไม่สามารถให้คำอธิบายที่ครอบคลุมและละเอียดได้ ซึ่งฝ่ายค้านจะใช้จุดนี้โจมตีอย่างหนักหน่วง

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในประเด็นแรกจากทั้งหมด 6 ประเด็น ที่ไม่ได้เพียงตรวจสอบนโยบาย แต่ยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของแพทองธาร

ฝ่ายค้านจึงเปิดเกมด้วยข้อกล่าวหาหนักว่า แพทองธาร “ไม่มีคุณสมบัติและความเหมาะสม” ในการเป็นนายกรัฐมนตรี ขาดภาวะผู้นำและวุฒิภาวะ ขาดความรู้และความสามารถในการบริหารประเทศ

ศึกซักฟอกครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การถาม-ตอบเรื่องนโยบาย แต่เป็นการท้าทายสถานะของผู้นำประเทศโดยตรง

เมื่อ “แพทองธาร” เลือกตอบในลักษณะ “กว้างๆ” การตอบเช่นนี้ไม่เพียงไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาหรือสร้างความเชื่อมั่นได้ แต่ยังเป็น “ช่องโหว่-จุดอ่อน” ที่ฝ่ายค้านสามารถขยายผลได้

โดยเฉพาะการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อ 12 กันยายน 2567 ที่ “แพทองธาร” ในฐานะนายกรัฐมนตรีนำแถลงนโยบายด้วยตนเอง ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่า ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องมีความรู้และเข้าใจในรายละเอียดของนโยบายแต่ละกระทรวงอย่างลึกซึ้ง

คำตอบแบบ “กว้างๆ” จึงยิ่งสะท้อนถึงการขาดภาวะผู้นำ วุฒิภาวะ และความรู้ความสามารถตามญัตติข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน

และคำพูดของ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรามาส “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้นำพรรคพลังประชารัฐในศึกซักฟอกครั้งนี้ว่า “ให้อภิปรายลึกลงในรายละเอียด ไม่ใช่พูดแค่ไม่รู้ไม่รู้”

กลับกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาที่ “แพทองธาร” เอง เมื่อคำถามสำคัญคือ หากผู้นำยังเลือกตอบแบบกว้างๆ แล้วทำไมถึงคาดหวังให้ฝ่ายค้านอภิปรายในระดับลึก?

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเตรียมทีม “องครักษ์พิทักษ์นาย” เพื่อต่อสู้ในสภา แต่ต้องเน้นว่า องครักษ์เหล่านี้มีหน้าที่เพียงประท้วงตามข้อบังคับ ไม่สามารถชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีได้

แต่เมื่อองครักษ์ต้องคอยปกป้องรอบด้าน ภาพที่สะท้อนออกมากลับเป็นผู้นำที่พึ่งพาผู้อื่น  มากกว่าการยืนหยัดด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้ข้อสงสัยเรื่องความพร้อมของ “แพทองธาร” เด่นชัดขึ้นในสายตาประชาชน

นี่คืออีกหนึ่ง “กับดัก” ที่แพทองธารสร้างขึ้นเอง หากมีความพร้อมและมั่นใจในบทบาทของตัวเองจริง เหตุใดจึงต้องมีองครักษ์คอยกันท่า

ฝั่งฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชนและพรรคพลังประชารัฐ ต้องใช้กลยุทธ์รัดกุม เดินเรื่องตามญัตติข้อกล่าวหาและโจมตีให้ตรงจุดไม่ให้หลุดประเด็น เพื่อไม่ให้ศึกซักฟอกกลายเป็นการอภิปรายที่ไม่เกิดผล

เพราะเดิมพันในศึกซักฟอกนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวเลขของการลงมติ แม้ว่า “แพทองธาร” อาจรอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ “คะแนนศรัทธา” จากประชาชน

เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลง คำถามสำคัญที่ยังค้างอยู่คือ “แพทองธาร” จะพิสูจน์ตัวเองและหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาขาดภาวะผู้นำได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นผู้นำที่ถูกมองว่า “ไม่รู้สี่รู้แปด” และขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง

เดิมพันครั้งนี้ไม่ใช่แค่การปกป้องตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นการพิสูจน์ว่า “แพทองธาร” ไม่ถูกครอบงำจากเบื้องหลัง และมีความสามารถในการตัดสินใจอย่างอิสระจากอำนาจของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่

การตอบคำถามอย่างชัดเจนในครั้งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นในผู้นำของประเทศ และอนาคตทางการเมืองของเธอเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมเมืองคอนเดือด​! ​'ภท.-ปชน.-กธ.' ขนแกนนำปราศัยใหญ่ชนกัน

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อม​สส. เมืองคอนเดือด​ ​'ภูมิใจไทย -ประชาชน - กล้าธรรม' ขนแกนนำพรรค จัดเวทีปราศัยใหญ่ชนกัน หวังคว้า1ที่นั่ง

พปชร. เย้ยไม่บ้าลงเรือใกล้ล่ม รู้ทัน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ไม่กล้าทิ้ง ภท.

'ชัยวุฒิ' เปรียบรัฐบาลเหมือนเรือใกล้ล่ม ใครคิดจะไปลงก็บ้าแล้ว ย้ำ พปชร. ชัดเจนไม่เอากาสิโน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ยังไม่กล้าทิ้ง ภท. รอจับมือพรรคส้มเลือกตั้งครั้งหน้า

สองตระกูล หนึ่งผลประโยชน์: เบื้องหลังสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ในขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของไทย เดินทางเยือน ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2568 ในวาระ ครบรอบ

นายกฯ มอบ 'ชูศักดิ์' ผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมพิธีพระศพ 'โป๊ปฟรานซิส'

นายกฯ มอบหมาย 'ชูศักดิ์' เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย เข้าร่วมพิธีพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส วันเสาร์ที่ 26 เม.ย. ณ นครรัฐวาติกัน

'กุนซือ รมว.ทส.' ซัด 2 สส. ปชน. จงใจด้อยค่า 'เฉลิมชัย' ตีปี๊บ 6 เดือน ผลงานเพียบ

'ที่ปรึกษา รมว.ทส.' โต้ 2 สส.พรรคประชาชน จงใจด้อยค่า “เฉลิมชัย” ปิดหูปิดตาจนไม่มองผลงาน แจงยิบ 6 เดือนขับเคลื่อนแก้ปัญหามากมาย ไล่ให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้สมบูรณ์ก่อน