'แก้วสรร' แพร่บทความ 'สังเขปปัญหากฎหมายในคดีชั้น 14'

9 พ.ค. 2568 – นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความในรูปแบบถาม-ตอบ เรื่อง “สังเขปปัญหากฎหมายในคดีชั้น 14” โดยมีเนื้อหาดังนี้

คดีชั้น ๑๔ ปัจจุบัน พัฒนาไปรวดเร็วมากทั้งทางลึกและทางกว้าง มีเงื่อนไขทางกฎหมายเป็นกรอบกำหนดความเป็นไปของคดีอย่างสำคัญ ความเข้าใจในภาพรวมทางกฎหมายจึงจำเป็นยิ่งสำหรับท่านผู้สนใจ ดังผมจะขอรวบรวมและสังเคราะห์มานำเสนอ ในทำนองถาม-ตอบไปโดยลำดับ เป็น ๔ ข้อด้วยกัน ดังนี้

ปัญหาที่ ๑ : ผู้ต้องขังป่วย..กฎหมายกำหนดการจัดการไว้อย่างไร ?

ถาม ตกลง..กูรูทางกฎหมายทั้งหลายตกลงกันได้หรือยังครับว่า กฎหมายไทยให้ใครมีอำนาจส่งนักโทษป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล

ตอบ มันมีกฎหมายสองฉบับ ผูกพันเกี่ยวข้องอยู่ครับ คือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (วิ.อาญา) มาตรา ๒๔๖ กำหนดให้ศาลเป็นผู้สั่ง และไม่ให้ถือเวลารักษาตัวนี้เป็นการคุมขังตามหมายศาล

อีกฉบับหนึ่งคือกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา ๕๕ กำหนด ให้ ผบ.เรือนจำ เป็นผู้อนุญาต และให้ถือว่าการรักษาตัวนี้เป็นการคุมขัง ซึ่งถ้าเราใช้กฎหมายฉบับใดผลบังคับก็จะต่างกันคนละเรื่องเลย

ถาม ถ้าใช้ วิ.อาญา ผลจะเป็นอย่างไร

ตอบ ทักษิณก็ต้องกลับไปติดคุกใหม่ทันที ๑ ปี เลย เพราะทุกวันนี้ยังไม่นอนในคุกเลย จะป่วยจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เนื่องจากกฎหมายบอกว่าจะเอาเวลานอนโรงพยาบาลมานับเป็นการคุมขังไม่ได้

ถาม ถ้าใช้กฎหมายราชทัณฑ์ ผลเป็นอย่างไร

ตอบ ก็ต้องดูว่าป่วยทิพย์หรือป่วยจริง ถ้าป่วยทิพย์ก็จะนับเอาเวลาอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาคุมขังไม่ได้ ต้องเอาตัวไปขังจริงให้ครบ ๑ ปี

ผลต่างระหว่างใช้ วิ.อาญา หรือกฎหมายราชทัณฑ์ จึงมีอยู่ตรงที่การไต่สวนของศาลว่า จะต้องครอบคลุมถึงปัญหาป่วยทิพย์หรือไม่เท่านั้น

ถาม แล้ววันนี้ พอจะคลี่คลายได้แล้วหรือยังครับว่าจะใช้ฉบับไหน

ตอบ มีความเห็นโต้แย้งกันอยู่ไม่น้อยครับ แต่มาวันนี้ผมว่าความเห็นล่าสุดนี้น่าจะถูกต้องคือเขาชี้ว่า ม.๒๔๖ วิ.อาญา เป็นเรื่องศาลสั่งก่อนเข้าคุก เนื่องจากพบว่า จำเลยวิกลจริต ตั้งครรภ์หรือเป็นแม่ลูกอ่อนต้องให้นมลูก หรือป่วยหนัก นอนไอซียู ตรงนี้ต้องให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับคดี แต่ถ้าติดคุกไปแล้วถึงพบว่าป่วยต้องส่งโรงพยาบาล ตรงนั้นถึงจะเป็นอำนาจราชทัณฑ์ตามมาตรา ๕๕ ที่ไม่ต้องขอศาล

ถาม อาจารย์เคยเห็นต่าง แล้วกลับมายอมยกให้ความเห็นนี้ถูกต้องเพราะอะไรครับ

ตอบ โดยตัวอักษร ตัวบทมาตรา ๒๔๖ เรียกผู้ป่วยว่า “จำเลย” ไม่ใช่ “ผู้ต้องขัง” โดยความสมเหตุผลนั้น ก็ถูกต้องแล้วว่าเมื่อยังไม่ขังก็ต้องไม่นับเวลาคุมขัง การตีความไม่ใช้ ม.๒๔๖ จึงไปได้สวยมาก แล้วยิ่งพิจารณาถึงผลปฏิบัติว่า ถ้าเราให้ศาลต้องอนุมัติการรักษาตัวนอกโรงพยาบาลของผู้ต้องขังทุกกรณีแล้ว ผลปฏิบัติจะโกลาหลมาก เฉพาะงานพิจารณาคดีทุกวันนี้ ศาลก็ไม่มีเวลาอยู่แล้ว

เมื่อครบถ้วนทั้งความตามตัวอักษร เจตนารมณ์ และผลปฏิบัติที่รับได้เช่นนี้ ผมจึงยอมรับครับว่า คดีชั้น ๑๔ ต้องใช้ มาตรา ๕๕ ใน พรบ.ราชทัณฑ์ ศาลจึงต้องไต่สวนว่า ทักษิณป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจริงหรือไม่

ปัญหาที่ ๒ : ผู้ต้องขังป่วยแค่ไหน ถึงให้ไปนอนโรงพยาบาลได้ ?

ถาม เห็น นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ยืนยันว่า “พ่อป่วย…มีผ่าตัดด้วย”

ตอบ พี่ผมเป็นหมอกระดูก เขาบอกว่าเรื่องเอ็นหัวไหล่เปื่อยแล้วผ่าตัดนั้น ผ่าเสร็จนอนสามวันก็กลับคุกได้แล้วครับ เรื่องผู้ต้องขังป่วยนั้นป่วยได้ทุกคนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปวดฟันไปจนถึงมะเร็ง ถ้าอาการกำเริบจำต้องไปรักษานอกเรือนจำก็ต้องส่งให้เขาไป แต่ต้องไปอยู่นอกเรือนจำเท่าที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลเท่านั้น ทุเลาแล้วก็ต้องกลับมาติดคุกต่อ

ถาม ถ้าเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปรกติ แล้วเขาขอไปนอนโรงพยาบาลให้หมอเฝ้าระวังเพื่อให้อุ่นใจเท่านั้น โดยขอออกค่ารักษาเองด้วย อย่างนี้อนุญาตได้ไหมครับ

ตอบ คุณทำผิดติดคุกอยู่นะครับ จะมีเสรีภาพตามที่คิดอยากนั้นไม่ได้ หมอที่ให้ความเห็นจะต้องถือมาตรฐานทั่วไปว่า ต้องรับคนไข้ไว้รักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ยิ่งเป็นผู้ต้องขังที่รับตัวไว้เมื่อใด ก็นับเป็นเวลาติดคุกด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องชัดเจนว่าป่วยออกอาการจริงๆ ถึงขั้นต้องลงมือรักษาใกล้ชิดแล้วเท่านั้น

ถาม ดังนั้น ที่นายกฯ ยืนยันว่า “พ่อป่วย..มีผ่าตัดด้วย ” จึงไม่พอที่จะรับฟังได้สินะครับ

ตอบ ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ป่วยอะไร รักษากันอย่างไรถึงนอนโรงพยาบาล ๖ เดือน ถ้าแค่เอ็นไหล่เปื่อย แล้วผ่าตัด เอาไป ๕ วันก็พอแล้ว

ถาม ความสมเหตุผลตรงนี้ ใครเป็นคนตัดสิน

ตอบ หมอโรงพยาบาลตำรวจต้องยืนยันและอธิบายมายัง ผบ.เรือนจำให้ชัดเจนก่อน และอำนาจชี้ขาด อยู่ที่ ผบ.เรือนจำ ซึ่งอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ ซึ่งในคดีชั้น ๑๔ นี้ เรายังไม่รู้เลยว่า มีการตรวจและลงความเห็นกันอย่างไรหรือไม่ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ อาจเป็นความเห็นที่สมเหตุผลได้มาตรฐาน หรือไม่สุจริตบกพร่องก็ได้ทั้งนั้น

ถาม ถ้าประเด็นเป็นอย่างนี้ ความเห็นของแพทยสภา ที่ระบุว่ามีการให้ความเห็นทางการแพทย์ที่บกพร่อง จึงสำคัญในทางคดีมากๆ

ตอบ แน่นอนครับ..ศาลที่ไต่สวน ท่านต้องเชิญให้อนุกรรมการแพทยสภาให้มาอธิบายแน่ๆ ซ้ำด้วยปากคำคนไปเยี่ยมที่ว่าทักษิณแข็งแรงดี ดูทีวี เลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงด้วย ได้ปากคำเพียงเท่านี้ ก็พอจะเห็นจุดจบของคดีแล้วล่ะครับ

ปัญหาที่ ๓ : อำนาจศาลที่จะออกหมายขังใหม่

ถาม เห็นมีหลายท่านเห็นว่า ศาลยุติธรรมไม่น่าจะมีอำนาจมาแทรกแซงตรวจสอบงานบริหารโทษของฝ่ายบริหารนะครับ ศาลปกครองก็มีอยู่แล้วด้วย

ตอบ งานราชทัณฑ์นี่ไม่ใช่งานปกครองสั่งการชาวบ้านตามกฎหมายโน้นกฎหมายนี้อะไรนะครับ เป็นงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ราชทัณฑ์ต้องบริหารโทษไปตามหมายจำคุกของศาลอาญา ตามกรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

ถาม หมายศาลบอกให้จำคุก ๑ ปี แล้วราชทัณฑ์กลับส่งไปนอนโรงพยาบาล ๖ เดือน พักโทษอีก ๖ เดือน อย่างนี้ไม่ถือว่าขัดหมายศาลหรือครับ

ตอบ อำนาจศาลเป็นอำนาจตามกฎหมายขัดกับกฎหมายไม่ได้ หมายศาลบอกให้ขัง ๑ ปี กฎหมายราชทัณฑ์บอกว่า การรักษาตัวนอนโรงพยาบาลถือเป็นการคุมขังด้วย ศาลก็ต้องนับตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องหมายจำกัดแต่เฉพาะการส่งตัวไปนอนโดยชอบตามกฎหมายเท่านั้น

ถ้าศาลเห็นว่าเป็นป่วยทิพย์ ที่ส่งผู้ต้องขังไปผ่าไหล่แล้วนอนดู NETFIX ๖ เดือน อย่างนี้ก็นับเป็นเวลาคุมขังตาม ม.๕๕ แห่งกฎหมายราชทัณฑ์ไม่ได้ กรณีต้องถือว่าทักษิณยังติดคุกตามหมายศาลไม่ครบ ศาลจึงสั่งออกหมายจำคุกใหม่อีก ๑ ฉบับในที่สุด

ถาม ฟังดูก็ไม่ใช่เรื่องศาลไปแทรกแซงอำนาจบริหารที่ตรงไหนนะครับ

ตอบ มันเป็นอำนาจในตัวของศาลอยู่แล้วว่า หมายจำคุกของศาลต้องไม่ใช่กระดาษชำระถ้าคดีชั้น๑๔ เดินมาทางนี้ กรณีก็จะเป็นแบบอย่างต่อไปว่า ราชทัณฑ์จะทำงานมั่วๆไม่ได้ ถ้าทำนอกกฎหมายและศาลเห็นสมควร โดยมีคนร้องหรือศาลเห็นเองก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและสั่งบังคับคดีเสียใหม่ได้

เรื่องนี้ฝ่ายบริหารเสียอีกที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ให้ราชทัณฑ์ มีหน้าที่รายงานศาล ทั้งการรักษาตัวนอกเรือนจำ และการพักโทษ หรือการควบคุมนอกเรือนจำ ให้ศาลทราบด้วยทุกครั้งไป ราชการราชทัณฑ์จะน่าไว้ใจกว่านี้มาก

ปัญหาที่ ๔ : ความบานปลายของคดีชั้น ๑๔

ถาม ถ้าลงเอยในที่สุดว่า ทักษิณป่วยทิพย์ แล้วจะมีคดีอาญาอะไรติดพันอีกบ้างครับ เห็นบางคนบอกว่า ทักษิณจะมีความผิดต่อการยุติธรรม ฐานหลบหนีที่คุมขัง ตาม ม.๑๙๐เลยหรือครับ ผบ.เรือนจำก็โดน ม.๑๙๑ ฐานช่วยเหลือให้หลบหนีด้วย

ตอบ ไปทางนั้นยากอยู่นะครับ น่าจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่มากกว่า ทั้งราชทัณฑ์,ยุติธรรมและแพทย์ ต้องไปต่อสู้ใน ปปช.ต่อไป ส่วนทักษิณรู้เห็นด้วยแต่ไม่ใช่เจ้าพนักงาน น่าจะโดนฐานสนับสนุน

ถาม แล้วตัวลูกสาวที่เป็นนายกฯ ล่ะครับ

ตอบ ที่เค้าเคยบอกนักข่าวว่าให้ไปถามพ่อนั้น ก็ปลอดภัยแล้ว แต่มาวันนี้มายืนยันว่าพ่อป่วยจริงทั้งที่ไม่จริงนี่ ก็ถือว่าถลำตัวเข้าไปแล้วครับ ภายหน้าอาจจะมีคนลากเข้าไปให้ผิดต่อตำแหน้าที่ได้ว่า เป็นนายกฯแล้วรู้ว่า ราชทัณฑ์ทำผิด ก็กลับละเว้นไม่สั่งการให้แก้ไข หรือทราบว่าไม่ยอมส่งเวชระเบียนให้ ปปช. ก็นิ่งเฉยเสีย อย่างนี้ต้องโดน ๑๕๗ ด้วย ก็ได้

ถาม เรื่องแปรญัตติตัดงบประมาณผูกพันกว่า ๓ หมื่นล้านไปโปะแจกเงินดิจิทัล ไปจนถึงข้อหาเป็นคนนอกครอบงำพรรคต้องยุบพรรค สองคดีนี้จะบานปลายตามไปด้วยหรือไม่

ตอบ ตอบไม่ได้ครับ เราละเว้นถูกผิดกันมานาน จนการเมืองเละเทะไปหมดแล้ว ปัญหาบ้านเมืองก็ถูกทอดทิ้ง คนนอกเขาก็ไม่เชื่อถือจวนจะถูกลดเครดิตอยู่รอมร่อ เขาลดจริงเมื่อใด ก็จะไม่มีใครเขาให้กู้หรือมาลงทุนอีกแล้ว

พฤษภานี้ถ้าตั้งหลักไม่ได้ แล้วทรุดลงไปอีกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ จนผู้คนแห่มาถอนเงินสดกันหมด ถึงจุดนั้นก็ชิบหายแน่นอน เจ็บยาวเลยครับ

เราทุกฝ่ายต้องอย่าให้ทรุดไปถึงจุดนั้นเด็ดขาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' เข้าประชุมพรรค บอกพยายามเคลียร์เรื่องใหญ่ให้ได้

มีการประชุมสส.พรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ โดยมี นายวิสุทธิ์​ ไชยณรุณ ประธานสส.พรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเป็นประธานการประชุม โดยมีน.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร​

'อิ๊งค์' ไม่เห็นด้วย สว. ยื่นซักฟอกรัฐบาลแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาล้มเหลว

บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ช่วงหนึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอหารือกับนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงกรณีที่กลุ่ม สว.เตรียมขอเปิดอภิปรายทั่วไป

ไร้เงาเสี่ยหนูยืนประกบ! 'อิ๊งค์' บอกเงื่อนไขตั้งรัฐบาลคุยแค่ตำแหน่ง แต่ไม่การันตีอยู่ยาว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้มีการพูดคุยเรื่องปรับ ครม.กันหรือไม่ว่า ไม่ได้คุย คุ

นายกฯ ยังไม่เห็นหนังสือ ป.ป.ช. รับไต่สวน โยกงบ 68 มาแจกเงินหมื่น เสี่ยงผิดรธน.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไต่สวนกรณีการโยกงบประมาณปี 2568 มาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 นายกฯทราบเรื่องแล้วหรือยังว่า

'โอปอล สุชาตา' มิสเวิลด์2025 นำคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรี

คณะผู้แทนจากการประกวดมิสเวิลด์ นำโดย โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี Miss World 2025 สาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ามงกุฎมิสเวิลด์ พร้อมด้วย จูเลีย มอร์ลีย์ CBE ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งองค์กร Miss World, ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีพีเอ็นโกลบอล จำกัด, โป้ง-ชยาภรณ์ บุนนาค ผู้อำนวยการกองประกวดมิสเวิลด์ไทยแลนด์ และคณะผู้บริหาร เดินทางเข้าพบ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล