'มูกลางคืนก็ปัง กลางวันก็เฮง'ครบจบทุกศาสตร์ที่ อุดรธานี

อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่ชาวอุดรเคารพบูชา

จังหวัดอุดรธานี มีความหลากหลายของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความเชื่อ ที่โอบกอดไปด้วยธรรมชาติของขุนเขาน้อยใหญ่ ทำให้เราสามารถแพลนได้เลยว่าอยากจะมาเที่ยวพักผ่อนแบบไหน ไม่ว่าจะสายชิว สายลุย สายมู ก็เลือกสรรกันได้ตามใจชอบ

แต่ช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสสายมูมาแรงจริงๆ และในเมืออุดรธานี ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นของดินแดนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประจวบกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และททท. สำนักงานอุดรธานี ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวสายมูนครธานี “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง” เราจึงไม่พลาดที่จะไปร่วมทริปกันเสริมมงคล

  รูปปั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มพระยศ

มาเริ่มกันที่อำเภอเมือง  ณ ศาลหลักเมืองจังหวัด  หากเข้ามาทางด้านหน้าสิ่งแรกที่ได้พบก็คือ ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นรูปตราประจำจังหวัดอุดรธานี สะท้อนให้เห็นได้เลยว่า ชาวเมืองอุดรมีความเลื่อมใส และเคารพบูชาอย่างมาก อีกทั้งยังได้รับการอธิษฐานจิตโดยพระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (อิฏฐ์ ภัททจาโร) วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันการบูชาท้าวเวสสุวรรณถือว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเลยทีเดียว ส่วนเคล็ดลับขอพรแล้วให้สมดั่งหวังนั้น ว่ากันว่าต้องลูบที่กระบองของท้าวเวสสุวรรณด้วยนะ เสร็จจุดนี้เรายังได้สักการะศาลหลักเมือง และหลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง เรียกได้ว่ามาขอพรกับ 3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ในที่เดียว แถมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะมากี่โมงก็ไม่เสียเที่ยวแน่นอน

ท้าวเวสสุวรรณ ณ ศาลหลักเมือง ปกปักคุ้มครองมนุษย์

แม้ทำเลที่ตั้งอาจจะทำให้ไม่ทันได้สังเกต แต่เมื่อได้เห็นองค์ศรีสุขคเณศ ที่ต้ังอยู่บริเวณด้านหลังวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุดรธานี เราถึงกับตะลึงและขนลุกกับความสวยงาม ความปราณีตในการปั้น ด้วยแนวคิดศรัทธาแห่งความสำเร็จ เป็นการนำพระพิฆเณศวร เทพแห่งความสำเร็จทั้งมวล ผสมผสานพลังศรัทธาพ่อปู่ศรีสุทโธ จากทั่วสารทิศ รังสรรค์มาเป็นองค์ศรีสุขคเณศ คือ พระพิฆเณศวร 8 กร ปรกด้วยนาคราช 9 เศียร มหามงคลแห่งความสุข ความสำเร็จทั้งปวง เอกลักษณ์เฉพาะที่อุดรธานีหนึ่งเดียวในโลก รังสรรค์โดย ศิลปินราชัน แสงทอง ศิษย์เก่าแผนกศิลปกรรมของวิทยาลัยแห่งนี้

  องค์ศรีสุขคเณศ ที่ต้ังอยู่บริเวณด้านหลังวิทยาลัยอาชีวะศึกษา สำเร็จโชคลาภดั่งใจ

มาอีกจุดที่อยู่ไม่ไกลกัน ศาลเทพารักษ์ ดูมีความขลังและร่มเย็นจากต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุม จากประวัติมีการสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2490-2495 ได้มีการอัญเชิญดวงวิญญาณของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้สร้างเมือง มาสถิต ณ ศาลแห่งนี้ด้วย การสร้างศาลเทพารักษ์นับว่ามีความเรียบง่าย แต่สง่างามตามสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน ทั้งช่อฟ้า คันทวย ฐานบัว หน้าบันตกแต่งด้วยงานไม่แกะสลักปิดทองลายผ้าขิด ผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของอุดร บริเวณด้านข้างเรายังได้เห็นความสวยงามของพระตำหนักหนองประจักษ์ ที่ประทับของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่มีความเรียบง่ายคลาสสิค

ศาลเทพารักษ์ ขอพรให้ได้ดั่งใจหวัง

ฉะนั้นเราก็ห้ามพลาดที่จะไปสักการะวงเวียน อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุดรธานี ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2436 รูปปั้นทองบรอนซ์ในพระอิริยาบถทรงประทับยืนอยู่บนแท่นหินแกรนิตสีเทาดำ ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มพระยศ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงกระบี่ ซึ่งชาวอุดรให้ความเคารพนับถือว่าเป็นอย่างยิ่ง

 แหล่งรวมใจชาวจีน ศาลเจ้าปู่-ย่า

มาทางฝั่งความเชื่อแบบจีน ก็ต้องไปกราบขอพรที่ ศาลเจ้าปู่-ย่า ตรงศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน  ชาวเมืองอุดรหากมีเรื่องไม่สบายใจ หรือต้องการทำมาค้าขายดี ก็มักจะมาขอพรกับปู่ย่า อีกทั้งยังมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจคาเฟ่เล็กๆที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน ที่เหมือนได้หลุดเข้าไปในประเทศจีน ด้วยบรรยากาศการตกแต่งที่อิงจากหลักฮวงจุ้ย พร้อมกับชมเรื่องประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่อพยพมาอาศัยยังอุดรอีกด้วย

 พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย จัดแสดงอัฐิธาตุกว่า 400 องค์

พิพิธภัณฑ์พระธาตุพระอริยสงฆ์ไทย ใครที่มีความศรัทธาในพระเกจิอาจารย์สายวัดป่า และอยากชื่นชมบารมีที่วิทยาศาสตร์ก็อาจจะไม่สามารถอธิบาย ถึงหลักของอัฐิ เกศา หรือโลหิตของพระสงฆ์ที่แปรสภาพเป็นธาตุหรือหินใสๆหลากสีงดงาม ด้านในได้จัดแสดงพระธาตุของพระอริยสงฆ์ทั่วประเทศไทย ทั้งที่ได้ละสังขารแล้วและยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 400 องค์ เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล,หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ,หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป, หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อินทร์ถวาย สันตัสสโก เป็นต้น

 คําชะโนด แหล่งพลังศรัทธาต่อองค์พญานาค

เที่ยวในเมืองจนจุใจแล้ว เราจะพาไปตะลอนนอกเมืองกัน มาเยือนถิ่นพญานาคแล้ว จะพลาดไม่ได้ต้องไปคําชะโนด อ.บ้านดุง ซึ่งมีเกาะคำชะโนด แผ่นดินลอยตัวกลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่เชื่อว่าเชื่อมต่อโลกมนุษย์และพญานาค ปู่ศรีสุทโธพญานาคราชและแม่ย่าศรีปทุมมาเทวี เรามาที่นี่เมื่อ 5-6 ปีก่อน สถานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก พลังของความศรัทธาทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อความสะดวกและเป็นระเบียบ มีจุดบวงสรวงโดยเฉพาะ ด้านในก็มีการบูรณะเป็นพื้นปูนผสมไม้ มีจุดกราบสักการะพญานาคทั้ง 2 องค์ และสะพานทางเดินเพื่อได้ชมธรรมชาติและความสวยงามของต้นชะโนดสูงเด่นตระหง่านทั่วเกาะ

 วัดสระมณี สักการะพญานาค 4 ตระกูล

เดินทางเชื่อมสายพญานาคไปต่อที่ วัดสระมณี อ.หนองหาน ลงจากรถเราก็ถึงกับยืนสงบนิ่งไปสักพัก เพราะที่โบสถ์แห่งนี้ได้สร้างพญานาค 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลสีทอง พญาวิรูปักษ์นาคราช, ตระกูลสีดำ พญากัณหาโคตรมะนาคราช, ตระกูลสีรุ้ง พญาฉัพพยาปุตตะนาคราช และตระกูลสีเขียว พญาเอราปถนาคราช ล้อมรอบกำแพงโบสถ์ได้อย่างงดงาม ผสมผสานรูปปั้นเทวดา องค์พิฆเนศ ต่างๆ ด้านในโบสถ์ ประดิษฐานพระพุทธพิบูลธนาภิรมย์  ด้านข้างโบสถ์มีศาลหลวงปู่โคตรเล็กๆ ที่ชาวมักมาสักการะของโชคเลขกันบ่อยๆ

วัดป่าภูก้อน สักการะพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี ท่ามกลางขุนเขา

วัดป่าภูก้อน อ.นายูง อีกวัดไฮไลท์ของอุดร ที่โดดเด่นคือวิหาร ที่มีการออกแแบบไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ถูกตกแต่งสวยงามตระการตา ท่ามกลางขุนเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ด้านในประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี ที่ทำจากหินอ่อนสีขาวเรียงซ้อนกันถึง 42 ก้อน ความยาวถึง 20 เมตร เหมาะแก่การมาสงบจิตสงบใจอย่างมาก

  เที่ยวแบบSlow Life ที่ หมู่บ้านคีรีวงกต

ปิดท้ายทริปแบบสโลว์ไลฟ์ ที่ หมู่บ้านคีรีวงกต ความชิวของการมาเที่ยวที่นี่คือนั่งรถแต๊กๆ ไปตามเส้นทางห้วยน้ำฮวย ลุยน้ำ ลุยโคลน มีขรุขระโยกเยกเป็นช่วงๆ แต่ได้อรรถรส ชมวิถีการทำไร่ทำสวน ธรรมชาติ ต้นไม้และขุนเขาระหว่างทาง ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางที่น้ำช้างพลาย ทานอาหารฝีมือชุมชน ทั้งส้มตำ ปลาเผ่า ไก่ยาง แกงสมหยวกกล้วย ที่บอกได้เลยแซ่บสะเดิดเลยทีเดียว

อาหารรสชาติแซ่บๆ

พลาดไม่ได้จริงๆกับเส้นทางของสายมูในจ.อุดรธานี ที่ยังมีอีกเพียบ บางสถานที่มาได้เฉพาะช่วงกลางวัน บางที่มาได้ทั้งกลางวันกลางคืน เหมาะกับคนที่ชื่นชอบหาที่พึ่งทางใจมากๆ เพราะไม่ว่าจะมูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.เปิด3เส้นทางมูเตลู สร้างรายได้ชุมชน

26 ม.ค.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในปี 2567 ได้มอบนโยบายให้กรมการศาสนา (ศน.) ขับเคลื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ (มูเตลู) ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Soft power ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย