ลัดเลาะประวัติศาสตร์เมืองตราด ไหว้พระ 3 วัด สักการะศาลหลักเมือง

เรื่องราวประวัติศาสตร์ของจ.ตราด นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อได้ไปเที่ยวแล้วได้ฟังภูมิหลังของสถานที่นั้นๆ ทำให้เราได้จิตนาการย้อนกลับไปในอดีตพร้อมกับเสียงบรรยายของวิทยากร ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจถึงความเป็นมา สภาพแวดล้อมดั้งเดิมที่แตกต่างจากปัจจุบันลิบลับ

ย้อนกลับไปในอดีต จังหวัดตราด เป็นเมืองที่ปรากฏชื่อครั้งแรกในเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเมืองชายทะเลตะวันออก และปรากฏอีกครั้งเมื่อราวใกล้เสียกรุงครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ใช้เป็นพื้นที่ตั้งทัพเมื่อครั้งยังเป็นพระยากำแพงเพชร ต่อมาตราดก็ได้ีดินแดนกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6 โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กล่าวนั้นหลงเหลือปรากฎอยู่ให้เห็นในปัจจุบันตามบันทึกต่างๆ หรือจิตรกรรมผนังวัด โบสถ์ วิหาร สถานที่ราชการต่างๆ ที่มีคุณค่าอย่างมาก

  มองจากด้านนอกศาลหลักเมืองตราด

ได้มีโอกาสเดินทางไปตราด กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และได้มีวิทยากรให้ความรู้ประจำทริป สำหรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้การเดินทางครั้งนั้นเพลินไปด้วยอาหารตา และได้รับอาหารสมองควบคู่ไปด้วย  

เริ่มที่ วัดไผ่ล้อม บรรยากาศวัดอันเงียบสงบ เหมือนวัดปกติธรรมดาทั่วไป แต่ความน่าสนใจซ้อนอยู่ภายใต้เฟิร์นสีเขียวที่ปกคลุมเจดีย์ลายพวงอุบะมีดอกไม้อยู่ตรงกลาง ในพื้นที่โบสถ์นั้น คือ หลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกได้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แม้ว่าตอนนี้เจดีย์จะมีการพุพังไปตามกาลเวลา ส่วนตัวโบสถ์นั้นได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ยกเว้นพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต หรือหลวงพ่อใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นพระศิลปะสมัยอยุธยา ปั้นโดยช่างพื้นถิ่นตะวันออก สังเกตได้จากใบหน้าเหลี่ยม หน้าผากแคบ เปลือกพระเนตรหนา คิ้วปีกกา เศียรเล็กองค์ใหญ่ งดงามตามฝีมือช่าง

บรรยากาศด้านในศาลหลักเมือง

วัดแห่งนี้ยังเคยมีฐานะเป็นวัดหลวงมาก่อนด้วย โดยมีหลักฐานคือ ธรรมาสน์ โดยรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสเมืองตราด 2 ครั้ง และได้พระราชทานธรรมาสน์ พระอารามหลวงชั้นตรี ที่เคยใช้นั่งสวดพระพิธีธรรมในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นของแท้และของจริงสลักชื่อจปร.ที่หาชมได้ยาก ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งหลวงพ่อเจ้ง จันทสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อมในสมัยรัชกาลที่ 4  ได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งการศึกษาของจ.ตราด ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงเรียนสามัญแห่งแรกในตราด ซึ่งในปัจจุบันชื่อ โรงเรียนตราษตระการคุณ

เจ้าพ่อหลักเมือง

อีกวัดที่ห้ามพลาด วัดโยธานิมิตร ก่อตั้งในช่วงสมัยธนบุรี อาจฟังดูคล้องกันกับวัดโยธานิมิตร จ.จันทบุรี เพราะเป็นสถานที่ตั้งกองกำลังของพระเจ้าตากสินมหาราช โดยใช้เมืองจันทบุรีเป็นฐานที่มั่น เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองตราด ก็ตั้งกองกำลังขึ้น ตามข้อสันนิษฐานก็คือ เป็นพื้นที่ของวัดโยธานิมิตร แต่ความงดงามที่แตกต่างจากวัดอื่นๆ คือ ช่างได้มีการสร้างหน้าของวิหารให้ช่องระบายอากาศ อีกนัยหนึ่งอาจจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่พระเจ้าตากสินบ่งบอกว่าท่านไม่ใช่เชื้อสายเจ้า แต่ที่เห็นว่ามีเบื้องลายครามประดับเป็นดาวล้อมเดือน คาดว่าน่าจะเป็นการส่งต่อทางสถาปัตยกรรมของช่างในช่วงรัชกาลที่ 3 ส่วนเสมายิ่งพิเศษเพราะทำติดผนังวิหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมทำในวังหน้า

 ชั้นนอกของศาลเป็นที่ตั้งเสาหลักเมือง และศิวลึงค์

เดินเข้าไปด้านใน จะบอกว่าถ้าไม่มาเชยชมสักครั้งจะเสียดาย เพราะภาพจิตรกรรมที่นี่เลือนหายไปค่อนข้างเยอะ ส่วนที่หลงเหลือก็งดงามพอที่จะจินตนาการได้ว่าหากสมบูรณ์คงเป็นวิหารที่งดงามมากหลังหนึ่งในจ.ตราด เข้าไปถึงก็สักการะพระประธาน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพระประธานวัดไผ่ล้อม และหันมาฟังเรื่องราวจิตรกรรมบนผนังที่วาดเขียนโดยช่างเมืองตราด และช่างพื้นถิ่นชาวจีน สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 4 เนื่องจากมีการนำสีครามที่นำมาใช้วาดภาพ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าในต่างจังหวัดการเขียนจิตรกรรมอาจจะมีการคลาดเคลื่อนกับช่วงเวลาในแต่ละยุค เพราะภาพอาจจะถูกเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่6 ก็ได้

ศาลปึงเถ้ากง-ปึงเถ้าม่า

ส่วนภาพจิตรกรรมเป็นศิลปะแบบฟรีสไตล์ของช่าง ไม่มีข้อกำหนดใดๆ  แต่ยังคงยึดคติการเขียนภาพจิตรกรรมผนังวัดที่มีทั้งคติแบบพุทธ และคติแบบจีน อย่างด้านหลังพระประธานเป็นภาพของดอกโบตั๋นที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาสวยงาม ประกบด้วยหงส์คู่ และกิเลนคู่ถือคัมภีย์ และลายดอกไม้ที่ล่วงหล่นมาจากท้องฟ้า แสดงให้เห็นถึงเมื่อเราได้มากราบพระก็จะมีดอกไม้โปรยปรายลงมาจากท้องฟ้า เหนือประตูทางเข้าคือภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลางเหนือขึ้นไปคือพระพุทธเจ้า ด้านขวามีการวาดคชสีห์ สัญลักษณ์ตรากระทรวงกลาโหม กับราชสีห์ คือตราสัญลักษณ์กระทรวงมหาดไทย บ่งบอกว่าในรัชกาลที่ 5 ที่มีการแบ่งงานราชการเป็นกระทรวงแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจด้วย

 โบสถ์วัดไผ่ล้อม

การรังสรรค์งานจิตรกรรมของช่างยังได้วาดเสาหลอกที่พันด้วยมังกร เพื่อใช้เป็นการแบ่งช่องในการวาดภาพ ส่วนด้านข้างก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งมีลายเส้นมีอ่อนช้อยตามทักษะฝีมือของช่างเมืองเพชรในสมัยนั้น ซึ่งหากได้กลับมาอีกครั้งก็ไม่รู้ว่าภาพจิตรกรรมอันวิจิตรนี้จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่

  เจดีย์ลายพวงอุบะ ที่พุพังและปกคลุมด้วยเฟิร์น

ไปต่อใกล้ๆ ที่ ศาลหลักเมืองตราด นับว่าอาจจะแตกต่างหรืออาจจะมีที่อื่นที่ศาลหลักเมืองในลักษณะนี้ มีการรวมหลักความเชื่อทั้ง 3 ศาสนาไว้ในที่เดียว ได้แก่ ตัวอาคารศาลหลักเมืองมีการออกแบบเป็นจีน ตามความเชื่อของศาสนาเต๋า ด้านในประดิษฐานเทพเจ้าของจีน  ส่วนการสร้างศิวลึงค์ เป็นความเชื่อของศาสนาฮินดู และเสาหลักเมือง เป็นความเชื่อของศาสนาพุทธ

  พระพุทธรูปสมัยอยุธยา ฝีมือช่างพื้นถิ่น

เหตุที่ต้องสร้างลักษณะนี้นั้น ต้องย้อนกลับไปในอดีตเมืองตราดเป็นเมืองเล็ก มีเพียงเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแล ช่วงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จประพาสเมืองตราด เสาหลักเมืองหลักแรกสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณวัดโยธานิมิตร จนกระทั่งในช่วงรัชกาลที่ 3 ทรงรับสั่งให้พระยาตราดสร้างเสาหลักเมืองในบริเวณนี้ ซึ่งในบริเวณเชิงเขาลูกหนึ่ง และได้มีการขุดพบศิวลึงค์ ที่ จึงย้ายลงมาประดิษฐานคู่กับเสาหลักเมือง ส่วนตัวศาลมีการชำรุพุพังจึงได้สร้างขึ้นใหม่ โดยมีเจ้าพ่อหลักเมือง คือเซี้ยอึ้งกง  องค์ซ้าย คือ กำเที่ยงไต่ตี่ เทพเจ้าแห่งปฐพี  องค์ขวา คือ ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งทรัพย์สิน ด้านข้างยังมีศาลปึงเถ้ากง-ปึงเถ้าม่า ที่ย้ายมาจากตลาดเพราะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ จึงได้มีการสร้างขึ้นใหม่ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและชาวจีนในจ.ตราด  

 วิหารโยธานิมิต

หากปกติเราไปเข้าวัดไหว้พระ ทำบุญขอพร ชมความสวยงามถ่ายรูปก็จบ แต่การสอดแทรกเรื่องประวัติศาสตร์ ทำให้การเที่ยววัด หรือสถานที่สำคัญต่างๆในอดีตของเรานั้นสนุก น่าสนใจ และไม่น่าเบื่ออีกต่อไปด้วย

ช่องระบาย เชิงสัญลักษณ์ในสมัยพระเจ้าตากสิน
 ธรรมาสน์ แกะสลักชื่อ จปร.
  พระประธานด้านในวิหาร ด้านหลังเป็นจิตรกรรมลายดอกโบตั๋น และดอกไม้
จิตรกรรมด้านประตูวิหารลงสีคราม งดงามทั้งด้วยฝีมือจิตรกรพื้นถิ่นและชาวจีน
  จิตรกรรมเกี่ยวเรื่องพระเวสสันดร
  เสมาติดกำแพง ที่นิยมทำกันในวังหน้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' สอนเยาวชนบอกให้ทะเยอทะยานอย่าถ่อมตน!

นายกฯ ใส่เสื้อสีมายา เยือนยะลา สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง บอกเยาวชนเก่งแล้ว ต้องอย่าถ่อมตน มีของดีต้องทะเยอทะยาน ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุน ลั่นเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องสานฝันให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียม

นักท่องเที่ยวมาเลเซีย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาคึกคัก

นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลากันอย่างคึกคัก ในช่วงที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเมืองสงขลาในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศ