'บัตรทอง' รุกชะลอป่วยไตเรื้อรัง จัดเครื่องวัดค่าความเค็มในอาหาร

มีตัวเลขจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า100,000คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ปั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ซึ่งเน้นแนวทางหาทางป้องกันโรค จึงได้จัดโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม-ชะลอความเสื่อมของไต โดยใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) บ้านชำป่างาม และโรงพยาบาลสนามชัยเขต  อ.สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา  นำร่องโครงการ ด้วยการจัดหาเครื่องมือวัดความเค็มในอาหาร ในกลุ่มเสี่ยง  


นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสปสช.พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่รพ.สต.บ้านชำป่างาม ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “ส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง” ดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ท่ากระดาน รพ.สต.บ้านชำป่างาม และโรงพยาบาลสนามชัยเขต  อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

นายสมศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านชำป่างาม เปิดเผยว่า โรคไตมีสาเหตุมาจากการทานเค็มเป็นหลัก ซึ่งความเค็มก็ไม่ได้มาจากเกลืออย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงน้ำปลา ผงชูรส ผงปรุงรส ฯลฯ โดยประชาชนอาจจะไม่ทราบว่าอาหารที่รับประทานไปนั้นมีรสเค็มขนาดไหน ทำให้การลงเยี่ยมบ้านในแต่ละครั้งจะมีเครื่องมือตรวจอาหารในครัวเรือนว่าค่าความเค็มนั้นอยู่ในระดับปกติ ปานกลาง หรือเสี่ยง และก็จะมีการปรับเปลี่ยนผ่านการแนะนำการเลือกบริโภคอาหาร  

โครงการชะลอไตเสื่อมของ รพ.สต.บ้านชำป่างาม เริ่มจากการที่ได้คัดกรองผู้ป่วยโรคความดัน และเบาหวาน พบว่าผลการตรวจค่าไตเริ่มมากขึ้น จึงใช้งบประมาณ ของกปท. เพื่อทำโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการเข้าไปให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่  

“ผลการดำเนินงานเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยโรคไต 83 ราย จากการทำโครงการพบว่ามี 9 รายที่ค่าไตอยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีภาวะแทรกซ้อนและรุนแรง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจว่ามีการชะลอดีขึ้น” นายสมศักดิ์ พร้อมกับบอกอีกว่า  อนาคตจะของบประมาณจากกปท. ซื้อเครื่องวัดค่าความเค็ม (Salinity Meter) ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นหมอคนแรกของชุมชน เพื่อติดตัวเอาไว้สำหรับการตรวจเยี่ยมบ้านที่รับผิดชอบ โดยในช่วงแรกจะเป็นไปเยี่ยมแบบไม่ได้นัดหมายเพื่อให้รู้ข้อมูลตามจริง ซึ่งจะทำอาทิตย์ละครั้งในช่วงแรก แต่ถ้าประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดีขึ้นก็อาจจะมีการเว้นระยะห่างเป็น 2 อาทิตย์ครั้ง

นพ.สมคิด วิระเทพสุภรณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ต่ออายุราชการโรงพยาบาลสนามชัยเขต และรับผิดชอบ รพ.สต.บ้านชำป่างาม กล่าวว่า อำเภอสนามชัยเขตมีประชากรประมาณกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งก็พบว่าผู้ป่วยบางรายอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 50-75 กิโลเมตร ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางรายขาดยา และส่งผลให้มีอาการแย่ลง จึงมีแนวคิดแบ่งผู้ป่วยออกเป็นพื้นที่ พื้นที่ละ 1 หมื่นคน โดยมีแพทย์รับผิดชอบ 1 คนต่อพื้นที่

นอกจากนี้ ก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยๆ โดยมีการลงไปดูที่ รพ.สต.อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากส่วนมากผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะต้องไปรับยาอยู่แล้ว แต่ก็มีสิ่งที่ต่างจากอำเภออื่นคือถ้าผู้ป่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบเจ็บป่วยหนักต้องนอนโรงพยาบาล แพทย์เจ้าของพื้นที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวจึงคิดว่าหากไม่อยากมีผู้ป่วยต้องรับผิดชอบมากก็ต้องพยายามส่งเสริมป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วย หรือช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“การจะให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้องอย่าทำให้เป็นเรื่องยาก เพราะบางทีชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ ซึ่งเมื่อไหร่ที่พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ก็จะมีการลงไปเยี่ยมบ้าน เพื่อดูอาหารที่ผู้ป่วยกิน บางครั้งก็เจอว่าในตู้กับข้าวของชาวบ้านมีแต่อาหารเค็ม ตรงนี้ก็ต้องให้ความรู้ว่าอาหารแบบไหนควรรับประทานหรือไม่ควรรับประทาน” นพ.สมคิด กล่าว  

ด้าน นพ.อภิชาติ  กล่าวเสริมว่า ภาวะไตเสื่อมมีปัจจัยจากการป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ซึ่ง สปสช. มีงบประมาณ กปท. ที่จะช่วยให้ท้องถิ่นสามารถทำโครงการชะลอไตในพื้นที่ของตนเองเพื่อส่งเสริมป้องกัน และชะลอภาวะไตเสื่อมได้  อย่างไรก็ดี หากชะลอไม่ให้เป็นโรคไตเรื้อรังก็จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ เพราะการส่งเสริมและป้องกันนั้นใช้งบประมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเดิมทีการรักษาผู้ป่วยโรคไตจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 900-1,000 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่การส่งเสริมป้องกันโรคใช้งบประมาณต่อหัวประชากรประมาณ 147-150 บาทต่อปีต่อหัวประชากร นอกจากนี้ หากเทียบประชาชนทั้งประเทศจำนวน 66 ล้านคน จะใช้งบฯ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทที่จะสามารถดูแลได้ 48 ล้านคน แต่ถ้างบฯ การรักษาจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทนั้นดูแลผู้ป่วยโรคไตได้ประมาณหลักแสนคน  

“การปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องไม่ง่าย ก็ชื่นชมเจ้าหน้าที่ ทีมงานของโรงพยาบาล และ รพ.สต. ที่ได้ลงมาเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อลงมาดูพฤติกรรมและให้คำแนะนำ รวมไปในขณะนี้มีเรื่องอาหารเสริม หรือการซื้อยาทานเองที่อาจจะไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะลงมาให้คำแนะนำด้วย” นพ.อภิชาติ กล่าว  

ในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้าน นางลำพัน พูลสวัสดิ์ อายุ 83 ปี ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคไตระยะที่ 3 ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และปรุงอาหารโดยได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.บ้านชำป่างาม รวมไปถึงได้รับการดูแลจากคลินิกชะลอไตเสื่อม โรงพยาบาลสนามชัยเขต  เดิมทีนางลำพันติดอาหารหวาน และติดใส่เครื่องปรุงรส ทำให้อาหารที่รับประทานมีรสจัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการลงเยี่ยมบ้านและวัดค่าอาหาร รวมไปถึงให้คำแนะนำเรื่องการปรุงอาหารส่งผลให้ค่าไตเพิ่มขึ้นเป็น 60 จากเดิมค่าไตอยู่ที่ 45  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน