เปิด’สวนปทุมวนานุรักษ์’ปอดใหญ่กลางกรุง

ตั้งหน้าตั้งตาคอยกันมานาน สำหรับ”สวนปทุมวนานุรักษ์” สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ อยู่ข้างเซ็นทรัลเวิล์ด ที่มีข้อพิพาทและยืดเยื้อเป็นระยะเวลาหลายปีจากบ้าน 3 หลังที่อยู่ในพื้นที่และไม่ยอมย้ายออก แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ย้ายออก ต้องใช้การเจรจาอยู่นาน เพิ่งยอมย้ายออกเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

ตอนนี้สวนปทุมวนานุรักษ์ได้เปิดอย่างไม่เป็นทางการวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา  บรรยากาศมีประชาชนเข้ามาเที่ยมชม เดินเล่นในสวนสวยเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาช้อปปิ้งห้างดังย่านราชประสงค์-ปทุมวัน ร่วมใช้บริการสวนกลางเมืองแห่งนี้  ช่วงเย็นชิลๆ กับดนตรีในสวนกับวง Bangkok Trio ส่วนเย็นวันทิตย์นี้พบกับ วง BMO Youth String Quartet  ต่อด้วยวง Bangkok String Ensemble

สวนปทุมวนานุรักษ์ เป็นสวนชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน พิกัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกรุงเทพมหานคร

สวนสาธารณะปอดใหญ่กลางกรุงนี้มีพื้นที่รวม 27 ไร่ ประกอบด้วย สวนหย่อม ซึ่งออกแบบให้เป็นรูปเลข ๙ ไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9  บึงรับน้ำ ตลอดจนพื้นที่บำบัดน้ำเสีย โดยจำลองพื้นที่บำบัดตามธรรมชาติ และลานกิจกรรม มีอัฒจันทร์สำหรับชมการแสดง เบื้องต้นเปิดให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ให้คนเมืองมีส่วนร่วมทดลองใช้ในบริเวณพื้นที่สวนหย่อม ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ สำหรับเป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยว และออกกำลังกาย เติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีกับคนเมือง อีกทั้งหวังเป็นที่ฟอกปอดและลดน้ำท่วมมหานครกรุงเทพฯ

ช่วงแรกนี้จะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์จากประชาชนทุกเพศทุกวัยผู้มาใช้บริการ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป

ย้อนประวัติศาสตร์พื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์  มีจุดเริ่มต้นความเป็นมานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเขตพระราชฐาน “พระราชวังปทุมวัน” พร้อมขุดสระใหญ่ ไขน้ำจากคลองแสนแสบ และสร้างพระอารามวัดปทุมวนารามและโรงเรียน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังสระปทุม สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และวังเพ็ชรบูรณ์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จากนั้น   วังเพ็ชรบูรณ์ถูกโอนมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ต่อมาที่ดินบางส่วนถูกเช่าเพื่อเป็นห้างสรรพสินค้า และบางส่วนเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยหลากหลาย

ปีพ.ศ. 2538 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ของรัชกาลที่ 9 ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการจัดสรรที่ดิน เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ โดยการดำเนินงานในช่วงแรกเป็นการทำงานของอาสาสมัครในภาคส่วนต่างๆ ร่วมศึกษาพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ จนสรุปการออกแบบเป็นสวนป่า ปรับปรุงดิน ขุดบึงรับน้ำ และปลูกต้นไม้ โดยจะปล่อยให้ต้นไม้ได้เติบโตระยะหนึ่งจึงจะออกแบบอาคารและทางเดินแทรกเป็นองค์ประกอบใต้สวนป่านี้

ปี พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “ปทุมวนานุรักษ์” พร้อมทรงรับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์อยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ได้เสด็จฯ มาทรงปลูกต้นไม้ในสวนแห่งนี้

ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกราว 10 ไร่ และได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิฯ เช่าใช้สร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ส่วนเพิ่มเติม งานออกแบบสวนส่วนนี้เริ่มในปี พ.ศ. 2554 แต่ด้วยปัญหาเรื่องที่ดินและผู้บุกรุกจึงเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2557 และก่อสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558 

สวนส่วนนี้มีแนวคิดการออกแบบเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน งานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง อาคารอเนกประสงค์ สนามและลานเพื่อการจัดกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานกับการนำเสนอการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองและธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป สวนป่า และสวนนิทรรศการ แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่อาจเปิดให้ประชาชนเข้าชมพื้นที่ได้ ด้วยยังติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวนโดยสะดวกและปลอดภัย และผู้บุกรุกที่ยังอยู่ในสวนไม่ยินยอมย้ายออก

ในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ได้รับที่ดินเพิ่มเติมจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นที่ดินที่ต่อเนื่องติดกับถนนราชดำริ ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์เปิดทางเข้าออกที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างสะพานเดินเชื่อมย่านราชประสงค์ที่เปิดมุมมองให้เห็นสวนปทุมวนานุรักษ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

การออกแบบสวนในพื้นที่ใหม่ที่ได้รับเพิ่มเติมบนที่ดินประมาณ 8 ไร่ มีแนวความคิดต่อเนื่องกับพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง ออกแบบลานสนามหญ้าและทางเดินเพื่อรองรับกิจกรรมและการปลูกต้นไม้สำคัญ พร้อมบึงหน่วงน้ำกลางสวน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ซับน้ำให้กับเมือง สวนส่วนขยายนี้ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2561 แต่ด้วยเหตุผู้บุกรุกในสวนที่ไม่ยินยอมย้ายออก ทำให้ยังคงไม่สามารถเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ได้

ช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวงกว้าง จึงชะลอการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งโรคระบาดเริ่มเบาบางลง จึงมีการเจรจาร่วมกับการบังคับคดีอีกครั้ง ในที่สุดผู้บุกรุกที่ยังเหลือยินยอมย้ายออกจากพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ทั้งหมดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์สามารถปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัย

ทั้งนี้ กทม.ตระหนักถึงความสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์การสร้วงสวนปทุมวนานุรักษ์  จึงเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือกับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ รวมทั้งอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการเปิดอย่างไม่เป็นทางการ 

กอบแก้ว แผนสท้าน ชาวสุขุมวิท กล่าวว่า อยากให้ขยายเวลาให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ เพื่อให้สวนนี้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม พนักงานออฟฟิศที่อยากมาออกกำลังกายช่วงเช้าก่อนเข้าทำงาน หรือหลังเลิกงาน รวมถึงนักเรียนในย่านใกล้เคียงจะได้มาพักผ่อนหลังเลิกเรียนแทนเดินห้างอย่างเดียว  ตอนนี้เปิดสายไป เย็นก็ปิดเร็ว ถ้าอยากทดลองต้องเปิดให้ยาวกว่านี้ คนจะได้ใช้บริการจริง  เสาร์อาทิตย์นอกจากกิจกรรมดนตรีในสวน อยากให้จัดเวิร์คช็อปด้านวัฒนธรรมไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ เช่น ขนมไทย ร้อยมาลัย  เพราะย่านนี้นักท่องเที่ยวเยอะ เป็นการโชว์ Soft Power ไทย  และถ้าใช้พื้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพคนเมือง ช่วยต่อยอด สร้างรายได้ยิ่งดี

เปิดสวนน้องใหม่กลางกรุงแล้ว อยากชวนทุกคนร่วมทดลองใช้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะได้ที่เต้นท์บริเวณสวนปทุมวนานุรักษ์ที่จัดเตรียมไว้ และผ่านช่องทางต่างๆ ของ กทม. หรือส่งมายังอีเมล [email protected] เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการและพัฒนางานส่วนที่เหลือสำหรับการเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการต่อไป ไปร่วมออกความคิดเห็นและแนะนำกันได้  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขนทราย 1,500 กระสอบ! ทหารเรือมาแล้ว ระดมกำลังป้องกันน้ำท่วมชุมชน-วัดอรุณฯ

จากสถานการณ์ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยายังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฐานทัพเรือกรุงเทพมี

กทม. หนุนเสริมทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ในเด็กเล็ก ตามนโยบายผู้ว่าฯ “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น” เปิดตัวโครงการใหม่ “ภาคี ดาว-อีเอฟ พัฒนาเด็กกทม.”

กรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย (Dow) สถาบันรักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป

ชาวกรุงอย่าปอด! ดร.ปลอดประสพ มั่นใจ 70% กทม.น้ำมีโอกาสท่วมน้อยมาก

ถ้าถามผมว่า จะทำอย่างไรในสถานการ์ณแบบนี้จึงจะดีที่สุด และเสี่ยงน้อยที่สุด ผมก็จะตอบว่า อย่าหวงน้ำ พร่องได้ ระบายได้ทำเลย น้ำท่วมเสียหายกว่าน้ำแล้งแน่นอน

ดั๊บเบิ้ล เอ จับมือศุภาลัย ชวนทำดีมอบสมุดให้โรงเรียนกทม. ในโครงการ Hero Zero เพื่อสิ่งแวดล้อมและการศึกษา

นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) และ นายกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด