‘เพียงแค่กินพริกก็ช่วยสมองได้’ หมอธีระวัฒน์ ยกข้อมูลวิชาการให้ความรู้

26 มิ.ย.2566-ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เรื่อง “เพียงแค่กินพริกก็ช่วยสมองได้” ระบุว่า เรื่องของพริกน่าจะต้องย้อนกลับไปถึง ตำนานของบุหรี่ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ประหลาด ที่สังเกตว่าคนสูบบุหรี่แม้จะตายยับจากมะเร็ง ป่วยหลอดลม ถุงลมและโรคอื่นมหาศาล ทรมานตลอด แต่กลับมีโรคทางสมองเสื่อมน้อยกว่าและดูจะค่อยๆรุนแรงอย่างช้าๆ แต่เผอิญตายก่อนที่จะติดตามได้ชัดเจนเพราะโทษและพิษภัยของบุหรี่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาในการตั้งสมมุติฐานว่าในบุหรี่อาจมีสารบางอย่างที่ช่วยปกป้องสมอง ยกตัวอย่างเช่น นิโคติน และมีศึกษาติดตามระยะยาวของคนที่กินพริก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

รายงานในวารสารประสาทวิทยา (Annals of neurology) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 พบว่า การกินพริก (ไม่ใช่พริกไทย) ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน พริกอยู่ในตระกูล Solanaceae (capsicum และ solanum) เช่นเดียวกับยาสูบ มีหลักฐานมากมายมหาศาลไม่ต่ำกว่า 60 รายงาน ที่พบว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นพาร์กินสันน้อยลง แต่ไม่มีใครอยากตายจากมะเร็ง โรคปอดจากการสูบบุหรี่

รายงานนี้จับประเด็นตรงที่พริกมีปริมาณนิโคติน สูง ดังนั้น อาจจะให้ผลเหมือนกับการสูบบุหรี่  จากการประเมินผู้ป่วยพาร์กินสัน 490 ราย เทียบกันคนปกติ 644 ราย เกี่ยวกับการรับประทาน อาหารและชนิดของเครื่องปรุง พบว่าคนที่บริโภคพืชที่อยู่ในตระกูล Solanaceae สัมพันธ์กับการไม่เกิดโรคพาร์กินสัน

แต่ชนิดของอาหารที่สำคัญที่สุดคือพริก และลดความเสี่ยงได้ถึง 30% แม้แต่มะเขือเทศจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ประโยชน์ที่ได้ดูจะน้อยกว่าพริก ทั้งนี้อาจจะเป็นจากการที่มะเขือเทศมีปริมาณนิโคตินน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่านิโคตินอย่างเดียวหรือมีสารอื่นๆในพริกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพาร์กินสัน

รายงานจากการประชุมล่าสุดของสมาคมอัลไซเมอร์ และเป็นการประชุมนานาชาติในปี 2565 นี้เอง ทำการศึกษาคนที่เป็นอัลไซเมอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เสียชีวิต 654 ราย และทำการชัณสูตรสมอง ทั้งนี้ พบพยาธิสภาพของโรคนี้อย่างรุนแรงตามมาตรฐานของ National Institute on Aging-Reagan criteria pathology ซึ่งรวมลักษณะผิดปกติของการมี neuritic plaques และมีพยาธิสภาพในขั้น V/VI ตาม Braak &Braak staging

ผู้ป่วยเหล่านี้ทั้งหมดได้ไปพบแพทย์ในระยะสองปีก่อนเสียชีวิตและได้ประเมินการทำงานของสมองด้วยการทดสอบ MMSE ทั้งนี้ ด้วยคะแนนที่ 24 หรือมากกว่า หมายความว่า การทำงานพุทธิปัญญายังพอใช้ได้ ช่วยตัวเองได้ และจำนวนทั้งหมดนี้มี 59 รายหรือ 9% ที่การทำงานของสมองยังดูดีอยู่หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีความทนทานและยืดหยุ่นแม้ว่าในสมองตอนตายแล้วในเวลาถัดมาจะเสียหายมากมายมหาศาลไปแล้วก็ตาม โดยในจำนวนที่เหลืออีก 595 รายหรือ 91% สภาพการทำงานอยู่ในระดับแย่

ทั้งๆที่ กลุ่มที่ยังมีสมองดี จะมีอายุมากกว่าก็ตามในการพบหมอครั้งสุดท้ายคืออายุ 81.4 ปี เทียบกับ 77.7 ปี (P=0.005) รวมทั้งอาจมีจำนวนปีของการศึกษามากกว่าบ้างคือ 16.5 ปีเทียบกับ 15.1 ปี (P=0.01)  และแถมยังมีสภาวะหดหู่ซึมเศร้าน้อยกว่า ย้อนหลังไปนานกว่าสองปี นับจากพบหมอครั้งสุดท้าย คือ 17.5% เทียบกับ 29.5% (P=0.05) แต่กลับมีโรคประจำตัวมากกว่าที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด คือ 55.2% เทียบกับ 38.2% (P=0.01)

ในกลุ่มที่การทำงานของสมองยังดี กลับพบว่าสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต 66.7% เทียบกับ 45.7% ของกลุ่มสมองแย่ (P=0.002) และกลุ่มที่สมองยังดีอยู่นี้ ยังตกอยู่ในกลุ่มที่สูบบุหรี่มาไม่นานภายใน 30 วันก่อนที่จะทำการตรวจครั้งสุดท้าย คือ 13.2% เทียบกับ 4.6% (P=0.03) เมื่อจัดการปรับกระบวนการทางสถิติเป็น multivariate analysis แทนbivariate ดังข้างต้น ยังคงยืนยันว่ากลุ่มที่สมองยังดี แก่กว่า มีปีการศึกษานานกว่า และผอมกว่าโดยมีมวลดัชนีกาย หรือ BMI น้อยกว่า และเป็นคนที่สูบบุหรี่มาตลอดชีวิตและยังใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกร็ดเลือดมากกว่า

การใช้ยาต้านเกร็ดเลือดแอสไพรินหรือยาละลายลิ่มเลือด จะสัมพันธ์ค่าสถิติในการปกป้องสมองในอัลไซเมอร์ OR=1.87 ในขณะที่สูบบุหรี่มาตลอดชีวิตจะมี OR=2.78 ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่และอัลไซเมอร์ ดูคล้องจองกับอีกหนึ่งรายงานในโรคพาร์กินสันเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าบุหรี่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 40%

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยรวมทั้ง หมอทั่วโลกและตัวหมอเอง ยืนยัน นั่งยันว่า บุหรี่ไม่ใช่ทางออก ทางเลือกแม้การสูบบุหรี่ดูเหมือนจะทำให้สมองที่พังแล้วยังดูทนทานและคล้ายกับสมองยังดีได้ แต่ผลกระทบกลับมากมาย และคนสูบบุหรี่ที่ยังรอดชีวิตอยู่ดังในรายงานนี้น่าจะไม่ได้มีมากนัก ในประชากรทั่วไป

สำหรับข้อสรุปการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือด อาจตีความจากคณะผู้วิจัยว่า มีผลช่วยให้สมองทนทานขึ้น แต่ข้อสรุปนี้เป็นการตีความจากการติดตามทางระบาดวิทยาเท่านั้นยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเหตุและผลกันได้ชัดเจน จะมีก็แต่เรื่องของบุหรี่ซึ่งเมื่อใช้พริกที่มีปริมาณนิโคตินอยู่บ้างที่ไม่เป็นอันตรายกลับได้ผลเช่นกันในโรคพาร์กินสัน

ทั้งนี้เนื่องจากกลไกของการเกิดสมองเสื่อมทั้งสองโรค คล้ายกันด้วยการก่อตัวของโปรตีนพิษบิดเกลียว ดังนั้นการกินพริกหยวกพริกตุ้ม แดง เขียว เหลือง มะเขือเทศ รวมไปจนกระทั่งถึงพริกขี้หนูควรจะเป็นกระบวนการที่ต้องส่งเสริมที่สำคัญโดยทั้งสามารถป้องกันและชะลอโรคที่เกิดขึ้นแล้วได้ และ หยุดบุหรี่เด็ดขาดเอาบุหรี่ขุดหลุมฝัง เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาไปสูบต่อ หยุดเดี๋ยวนี้เพื่อตนเองครอบครัวสังคมและระบบสาธารณสุขไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอธีระวัฒน์’ แจง 5 เหตุผลสำคัญ ลาออกจาก หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้ายในฐานะหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

'หมอธีระวัฒน์' ประกาศลาออกจาก หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

อาจารย์หมอ วิเคราะห์การระบาดโควิด มาจาก โอมิครอน สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก

แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท

'หมอนิติเวช' โต้ แท่งย้วยสีขาวในคนตายฉีดวัคซีน mRNA พบได้ในผู้ตายทุกคน

นาวาตรี น.พ. อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาระบุว่า ในต่างประเทศพบ ผู้ฉีดวัคซีน mRNA