'ขวดต่อขวดรีไซเคิล' ปฎิบัติการลดขยะพลาสติก                  

ขยะขวดพลาสติกอัดเป็นก้อนก่อนรีไซเคิล

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกมหาศาล โดยเฉพาะขวดพลาสติกใส ที่เรียกว่าขวด PET แม้จะมีการนำขวดพลาสติกPETที่ใช้แล้ว มารีไซเคิล หรือที่เรียกว่า rPET (recycled polyethylene terephthalate) มาแปรรูป เป็น ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ใยสงเคราะห์ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่นๆอีกมากมาย แต่ก็ยังไม่มีการนำพลาสติกรีไซเคิลรูปแบบนี้  มาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร โดยเฉพาะในเครื่องดื่มต่างๆ   เนื่องจาก ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่อนุญาตให้มีการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับนำมาใช้ใส่อาหาร  ได้อีกครั้ง เพราะไม่มั่นใจในกระบวนการ รีไซเคิล ว่าจะสามารถ ทำให้พลาสติกที่นำมาใช้ใหม่ จะสะอาดปราศจากสิ่งปนเปือน และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่  แม้ว่า จะมีกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลหลายราย พยายาม ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  

ทั้งนี้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) ฉบับที่ 295  พ.ศ.2548กำหนดเอาไว้ว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ในที่สุดเมื่องเดือนมิถุนายน 2565 ทางอย.ได้”ปลดล็อก” ออกประกาศ พร้อมหลักเกณฑ์ การนำพลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุอาหารได้ นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิล

ภายหลังการปลดล็อกของอย. บริษัทเอ็นวิคโก (ENVICCO )บริษ้ทในเครือของปตท.จำกัด( มหาชน) ซึ่งรับรีไซเคิลพลาสติกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเปิดตัวเดินเครื่องจักรเมื่อเดือนก.พ.2565 ที่ผ่านมา ก็เริ่มกระบวนการผลิตพลาสติกรีไซเคิล rPET  เพื่อบรรจุอาหารทันที  โดยมีบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย  ผู้ประกอบการรายแรกของประเทศ  และยังเป็นเจ้าเดียวในตลาดน้ำอัดลมไทย ที่นำร่องใช้ขวด rPET 100% กับผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่และเป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาลขนาด 550 มล. โดยวางจำหน่ายแล้ว ในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และร้านสะดวกซื้อ ต่างๆไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา   นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายการใช้ขวด rPET 100%  ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆในเครือ  โดยทั้งเอ็นวิคโค และ เป็บซี่โค เรียกการปฎิบัติการนี้ว่า “Bottle-to-Bottle Recycling”

รถบรรทุกนำขยะพลาสติกเข้่าโรงงานเอ็นวิคโค

นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า ในฐานะที่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable packaging management) และให้ความสำคัญและลงมือทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly packaging)  สามารถนำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างเหมาะสม และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือการเก็บกลับขวดเครื่องดื่มใช้แล้ว เน้นขวด PET ใส ไม่มีสี เพื่อรีไซเคิลกลับมาเป็นขวดใหม่ที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยตามมาตรฐานของ อย. ไทย

“สิงที่เราทำเรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling”  ทั้งเราและเอ็นวิคโค ถือว่าเป็นรายแรกทั้งคู่ ทั้งในแง่ผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลระดับฟู้ดเกรด  กับผู้นำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ กับ ผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่   และวางจำหน่ายแล้วในเป๊ปซี่ขนาด 550มล. ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการร่วมกันผลักดันการใช้ขวด rPET ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ “

นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้บริหารบริษ้ทเป๊ปซี่โค ประเทศไทย และนายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการเอ็นวิคโคแถลงเกี่ยวกับการใช้ขวดรีไซเคิล

กว่าจะเป็นผู้ผลิตรายแรก อย.อนุญาติ

ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ที่เอ็นวิคโค ผลิต จัดว่าเป็น “InnoEco PCR PET” หรือพลาสติกเกรดสัมผัสอาหาร มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: USFDA)  โดยในเดือนมีนาคม2566 ที่ผ่านมา อย. ไทย ได้ประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลและอนุญาตให้เม็ดพลาสติก InnoEco PCR PETที่เอ็นวิคโค ผลิต และยอมรับ ว่าสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยเป็นรายแรกในประเทศไทย

ณัฐนันท์ ศิริรักษ์
 กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กว่าที่อย.จะปลดล็อก ยอมรับพลาสติกที่เอ็นวิคโค ผลิตว่าเป็นฟู้ดเกรดนั้น อย.ได้ปลดล็อกกฎหมาย โดยพิจารณาจากคอนเท้นท์ประเทศไทย และใช้วลาการพิจารณา 2ปีกว่าๆ  ส่วนยากที่สุด ของการอนุมัติ คือ การทำให้อย.เกิดความมั่นใจในเทคโนโลยีที่เอ็นวิคโคที่ใช้ผลิต ว่าเม็ดพลาสติกที่ออกจากโรงงาน สามารถกำจัดสิ่งสกปรก และสิ่งปนเปื้อนได้จริง และได้เม็ดพลาสติกที่มีความปลอดภัย  นอกจากนั้น ยังต้องมีการทดลอง ทดสอบความปลอดภัย ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการ ของอย.  

เทคโนโลยีตอบโจท์”ความสะอาด “

หัวใจสำคัญ ของในกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว ของเอ็นวิคโค  ให้กลายเป็นพลาสติกระดับ Food Grade  จึงอยู่ที่”ความสะอาด”และการขจัดสิ่งปนเปื้อนได้อย่างหมดจด  โดยขั้นตอนปฎิบัติการ มีการสกรีนขยะพลาสติก  ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การรับพลาสติกเข้าโรงงาน ซึ่งมีการปูพรมให้ความรู้กับชุมชนต่างๆ ผู้ประกอบการ ธุรกิจรับซื้อของแก่า และซาเล้ง  โดยร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ค้าของเก่าที่ยินดีทำตามสเปกที่บริษัทกำหนด คือ แยกขยะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารเท่านั้น ไม่มีบรรจุภัณฑ์เคมีปะปน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชุมชนจัดการขยะตามกำหนด แล้วนำขยะมาขายให้เอ็นวิคโค  ซึ่งสร้างรายได้กลับไปให้ชุมชน  โดยปัจจุบันเอ็นวิคโค มีความร่วมมือกับ7 ชุมชน 21 โรงเรียน 1 มหาวิทยาลัย และตั้งแต่ปี 2565 เอ็นวิคโครับขยะจากชุมชนเหล่านี้มาแล้ว 290 ตัน คิดเป็นวงเงินราว 6 ล้านบาท

การรีไซเคิล เริ่มจาก หลังจากรับสินค้าขยะพลาสติกที่ถูกอัดมาเป็นก้อน มาส่งที่โรงงานเอ็นวิคโค ที่ระยอง    ก็จะมีการสุ่มตรวจขยะพลาสติก ว่าเป็นไปตามสเปกที่บริษัทกำหนดหรือไม่ หากพบว่ามีพลาสติกบางประเภท ที่ไม่ใช่ขวดPET ที่จะนำมารีไซเคิลได้  ทางโรงงานจะปฏิเสธการรับขยะพลาสติกทั้งคัน  

หลังจากนั้น ขยะพลาสติกก็จะผ่านกระบวนการทำความสะอาดประมาณ 13 ขั้นตอน ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงทั้งในยุโรป และอเมริกา  เป็นกระบวนการครบวงจรภายในโรงงาน และเป็นระบบปิดเกือบทั้งหมด  ในจำนวนนี้ มีขั้นตอนกระบวนการล้างประมาณ 8 ขั้นตอน ทั้งการล้างน้ำในอุณหภูมิปกติ ในช่วงแรกๆของการชำระล้าง ๆ และล้างผ่านสารเคมีระดับฟู้ดเกรด พร้อมกับการล้างในน้ำร้อนในอุณหภูมิที่ไม่ทำลายเม็ดพลาสติก  เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก และสิ่งปนเปื้อน  จนเม็ดพลาสติกมีความสะอาด ระดับสามารถบรรจุอาหารได้ ด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีการรีไซเคิลประสิทธิภาพสูงครบวงจรภายในโรงงานเอ็นวิคโค


การจัดการกับขยะพลาสติก เริ่มจาก
1.การทำให้ก้อนขยะพลาสติก แตกกระจายเป็นชิ้นๆ
2. ขยะที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าสู่สายพาน  โดยจะมีแม่เหล็ก ตรวจจับ และกำจัดโลหะที่ปนเปื้อนมา
3.  ขั้นตอนการลอกฉลากที่ติดมากับขวด หรือเศษหินดินทรายต่างๆ
4. ใช้เครื่องอินฟาเรด คัดแยกสีขวด เพราะขวดแต่ละชนิดจะมีการดูดแสงไม่เท่ากัน ขวดที่ไม่ใช่ขวดPET เครื่องจะดีดออกอัติโนมัติ  ทำให้มั่นใจได้ว่า ขวดที่มารีไซเคิล จะเป็นขวด PET ทั้งหมดเพราะตามกฎหมายของอย.ขวดที่นำมารีไซเคิล เป็น rPET จะต้องเป็นขวดที่ใส่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แม้น้ำยาบ้วนปาก หรือขวดยาธาตุ แม้เป็นขวด PET  แต่ถือว่าเป็นประเภท สีเทา ก็จะถูกคัดออก

5.ตัดขวดให้เป็นชิ้นเล็กๆ พร้อมกับผ่านความร้อน 90 องศาเซลเซียส เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเศษกระดาษชิ้นเล็กๆ หรือคราบกาวร่างๆ ถูกหลุดลอกออกมา ใช้่โซเดียมไฮดรอกไซด์ระดับฟู้ดเกรดในการล้าง

6. ขั้นตอนแยกพลาสติกส่วนฝากับขวดออกจากกัน  ซึ่งใช้หลักการความแตกต่างของความหนาแน่นในการคัดแยก
7. ขวดที่คัดแยกฝาออกไปแล้ว จะถูกทำให้แห้ง
8.  ถูกเข้าเครื่องกำจัดโลหะอีกครั้ง เพื่อเป็นการกำจัดการปนเปื้อนอีกรอบ
9. คัดไซส์ขนาดของขวด  ถ้่าไซส์เล็กจะถูกคัดแยกออกไป จะเหลือขนาดตามที่กำหนด
10. การกำจัดฝุ่น กำจัดโลหะอีกครั้ง แล้วนำไปเก็บที่ไซโล
11. เก็บตัวอย่างจากไซโล นำไปตรวจคุณภาพที่ห้องแล็บ
12. จากนั้นนำมาอัดให้เป็นเม็ดพลาสติก
13. นำเม็ดพลาสติกมาล้างอีกรอบ  เพื่อมั่นใจว่าไม่ให้มีการปนเปื้อน อยู่ในเนื้อเม็ดพลาสติก
14. นำเม็ดพลาสติก ไปอบอุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส นาน 16 ชม. เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อน และได้เม็ดพลาสติก ตามมาตรฐานตามที่ USFDA กำหนด

“เราจะเก็บตัวอย่างเม็ดพลาสติกที่ได้ไป TEST ทุกชั่วโมง พลาสติกที่ได้มาตรฐานจะมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับพลาสติกเวอร์จิน โดยทุกขั้นตอนตั้งแต่การคัดแยกวัตถุดิบ บด ล้างทำความสะอาด กำจัดสารเจือปน ปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงการตรวจสอบ ได้มาตรฐานระดับสากล ทำให้เรามั่นใจว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของเราสามารถนำไปผลิตเป็นขวด rPET ได้100% ตามมาตรฐานของ อย. ทุกประการ สะอาดและปลอดภัย  “ณัฐนันท์ กล่าว

เม็ดพลาสติก หลังผ่านการรีไซเคิล ที่มีการสุ่มตรวจในห้องแล็ป ว่าได้มาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

ปัจจุบัน เอ็นวิคโค  สามารถนำขวด PET ใช้แล้ว จำนวนมากถึง 40,000 ตันต่อปี เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล  ซึ่งณัฐนันท์บอกว่า วัตถุดิบทั้งหมดมาจากขวดพลาสติกใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ใช้แล้วภายในประเทศเท่านั้น นับเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซดได้ 75,000 ตัน ลดพลาสติกใช้แล้วในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี หรือเท่ากับการปลูกป่า78,000 ไร่  คิดเป็นต้นไม้ 8ล้านต้น  หรือดูดซับคาร์บอนได้ 57.7% ในเฉพาะขวด PET

 โดยเม็ดพลาสติก rPETที่ผลิตได้ 50% เป็นการส่งออกไปต่างประเทศ ที่มีหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อัฟริกาใต้ และอีกหลายประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นการนำมาผลิตขวดรีไซเคิลในไทย ซึ่งบริษัท เป็ปซีโค เป็นรายแรกที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวด rPET    และวางจำหน่ายสินค้าจากขวดนี้ในท้องตลาดแล้ว

” เรามุ่งหวังให้การใช้ขวด rPET ในประเทศไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น การขับเคลื่อน Bottle-to-Bottle Recycling ร่วมกับ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงเป็นก้าวสำคัญของการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง”

เม็ดพลาสติกที่เตรียมส่งออกให้โรงงานซันโทรี่ เป๊ปซี่โค (ประเทศไทย)


ณัฐนันท์บอกอีกว่า การรีไซเคิลพลาสติก กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ  ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่ประเทศ เวียดนาม ก็กำลังจะมีกฎระเบียบเรื่องรีไซเคิลคอนเทนท์ออกมา  ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่กำลังจะออกมาด้วยเช่น หรือแม้แต่ประเทศ อินเดียก็มีการประกาศแล้วเรื่่องรีไซเคิลคอนเทนต์ แม้ว่าอินเดียจะยังไม่มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกสักแห่งในประเทศ เพราะเป็นที่รู้กันว่าหากต้องการส่งออกสินค้าไปยุโรป จะต้องมีการให้ความสำคัญกับเรื่องการลดงคาร์บอนฟรุตพริ้นท์  และการกำจัดขยะของเสีย

แนวโน้มในประเทศไทย ที่จะนำพลาสติกรีไซเคิล นำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหน  ณัฐนันท์ บอกว่า ขณะนี้ มีผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายใหญ่ประมาณ  10  ราย ทะยอยติดต่อเอ็นวิคโค  ถ้าเอ่ยชื่อก็เป็นที่รู้จักกันหมด และหลายรายที่อยู่ระหว่างการทดสอบสินค้ากับขวดรีไซเคิลว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ เพราะสินค้าแต่ละตัวไม่เหมือนกัน  ซึ่งนอกจากเอ็นวิคโคแล้ว ขณะมีอีก 2 โรงงานรีไซเคิล ที่กำลังรอการอนุมัติจากอย.

“ผมมองว่าทั้งระบบเพื่อนๆอีก 2-3โรง คิดเป็นสัดส่วนการรีไซเคิลพลาสติกแล้วนำมาเป็นขวด  น่าจะมีประมาณแสนตัน  แต่อีก 23-แสนตัน น่าจะไปอยู่ที่  เท็กซ์ไทล์ ซึ่งของเราใหญ่มาก   ภาพรวมทิศทางลูกค้าน่าจะเยอขึ้น โรงงานที่ลงทุนด้านนี้ อีก2-3 ปี ก็น่าจะคุ้มทุน”

Bottle-to-Bottle Recycling เป็นจริงได้

ในฐานะที่ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลมาบรรจุผลิตภัณฑ์  วิภาวรรณ   ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ยอมรับว่าการใช้พลาสติกรีไซเคิล ทำให้ต้นทุนขวดเพิ่มขึ้น20- 30% แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขึ้นราคาสินค้าแน่นอน เนื่องจาก ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย  มีนโยบายมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ในการให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปรีไซเคิลได้   ถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน  ทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ และเชื่อว่า ระยะต่อไปหากมีผู้ใช้พลาสติกรีไซเคิลเยอะมากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนผลิตลดลงแน่นอนBottle-to-Bottle Recycling   จะเกิดขึ้นจริง

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก InnoEco PCR PET เกรดสัมผัสอาหารของเอ็นวิคโค

ส่วนแคมเปญ “Bottle-to-Bottle Recycling” เป็นการปักหมุด ปลุกกระแสการนำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาใส่เครื่องดื่ม นางสาววิภาวรรณ  ยอมรับว่า  แม้ตอนนี้ การรีไซเคิลแบบขวดต่อขวด ยังไม่สามารถทำได้เต็มรูปแบบ แต่ปีหน้าจะมีโครงการให้ ขวดต่อขวดรีไซเคิลออกมาเรื่อยๆ หลายรูปแบบ โดยไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีการตั้งจุด เก็บ-กลับไปให้เอ็นวิคโค    การเน้นให้ความรู้ประชาชน    พร้อมกับเชื่อว่าในอนาคต

เป็ปซี่ขนาด550มล.ที่ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล

พลาสติกรีไซเคิล ใช้ได้หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

เม็ดพลาสติกประมาณ 1.25 ตันจะสามารถผลิตขวดได้ประมาณ 80,000 ขวด ที่สำคัญยังสามารถนำขวดพลาสติกที่ผ่านมารีไซเคิลแล้วเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลได้อีกแบบหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด ดังเช่นในยุโรป ก็มีการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลบรรจุน้ำดื่ม แต่พลาสติกที่ถูกรีไซเคิลหลายรอบ อาจจะมีสีไม่ได้ใส เหมือนเมื่อครั้งที่มีการใช้ครั้งแรกๆ ของการรีไซเคิล แต่เรื่องความสะอาดและปลอดภัยถือว่าได้มาตรฐานระดับสูงอย่างแน่นอน

 2 ขวด( ด้านซ้ายมือ )เป็นขวดรีไซเคลประเทศในแถบยุโรป ที่มีการหมุนเวียนใช้หลายครั้ง สีไม่ใส่ เทียบกับขวดเป๊ปซี่ที่เพิ่งผ่านการรีไซเคิลที่ยังมีสีที่ใส

ข้อมูลจาก  Ocean Conservancy พบว่าในปี 2016 ทั่วโลกมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา ราวๆ 34 ล้านตัน สหภาพยุโรป 30 ล้านตัน อินเดีย 26 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 มีปริมาณขยะพลาสติก 4.8 ล้านตัน   ปริมาณพลาสติกในประเทศไทย แบ่งเป็นประเภทถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน ขวดพลาสติก  0.40 ล้านตัน แก้ว กล่องและถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน

เพิ่มเพื่อน