ตามลายแทง’แผ่นดินไหวบางกระทุ่ม’ รอยเลื่อนที่ซ่อนตัวใต้ดิน

แม้จะไม่ใช่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่แผ่นดินไหวบางกระทุ่มสะเทือนในหลายจังหวัดทั้งพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และเลย ชาวบ้านรับรู้ได้ถึงแรงเขย่าของแผ่นดินไหวขนาด 4.5 เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา   แรงสั่นสะเทือนไม่เพียงสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน แต่เขย่าวงการทรัพยากรธรณี เพราะเป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) อยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังของไทย

กรมทรัพยากรธรณีจัดแถลงเรื่อง “ Hidden Fault  จากแผ่นดินไหวบางกระทุ่ม ความลับที่ถูกซ่อนตัว? คลายทุกประเด็นแผ่นดินไหวพิษณุโลกบนพื้นฐานวิชาการ นายสุวิทย์ โคสุวรณ  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบางกระทุ่มขนาด 4.5  พบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวไปแล้ว อีก 20 นาที เกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาด 1.6 นี่คือข้อมูลทางการล่าสุด จนท.ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าพื้นที่ทันที ร่วมตรวจสอบความเสียหาย ก่อให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย ไม่กระทบต่อโครงสร้างหลักของบ้าน เสาหรือคาน โดยเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างกำแพงบ้านกับเสา ,ส่วนต่อเติมบ้านกับตัวบ้านหลัก  และบริเวณวงกบหน้าต่างกับกำแพงบ้าน แผ่นดินไหวครั้งนี้ จ.พิษณุโลก พบบ้าน 22 หลัง วัด 1 แห่ง โรงเรียน   1 แห่ง และรพ.บางกระทุ่ม มีรอยร้าวเล็กน้อย ส่วนที่ จ.พิจิตร พบรอยร้าวเล็กน้อย 16 หลัง วัด 1 แห่ง

“ ความลับที่ได้จาก Hidden Fault  เกิดจากรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวเกือบเหนือใต้ ผลจากการวิเคราะห์ของสถานีตรวจวัดที่แผ่นดินไหวที่อยู่โดยรอบกว่า 20 สถานี ส่วนการขยายคลื่นแผ่นดินไหวในชั้นดิน อย่างเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบการโยกไหวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ปทุมธานี จนผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ เพราะพื้นที่ กทม. ขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ถึง 4 เท่า แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวบางกระทุ่มขยายคลื่นแผ่นดินไหว 2 เท่า เนื่องจากที่ตั้งของบ้านเรือนและศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่บนชั้นดินที่เกิดใหม่จากแม่น้ำน่าน เป็นตะกอนยุคใหม่ที่สามารถขยายคลื่นได้ 2 เท่า เทียบกับแผ่นดินไหวในหินแข็ง     “

อีกความลับที่ถูกซ่อน นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปกติลักษรณะของรอยเลื่อนมีพลัง  ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนปัวที่น่าน รอยเลื่อนเถินที่ลำปาง จะพบบริเวณตีนเขาจะมีผารอยเลื่อน ปรากฎแนวเส้นบนผิวดินให้เห็น ทำให้นักธรณีวิทยาสามรรถติดตามรอยเลื่อน ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต  สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่าไหร่ จะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด  แต่ลักษณะของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault)  ถูกชั้นดินหนาถูกปิดทับ กรณีบางกระทุ่มปิดทับกว่า 100 เมตร ไม่สามารถลากเส้นบนผิวดินได้

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว จนท.กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดตั้งเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินสำหรับติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวตามกระจายรายรอบศูนย์กลางแผ่นดินไหว เพื่อติดตามอาฟเตอร์ช้อค ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 4.5 เหมือนลายแทง   จะติดตั้งทั้งหมด 26 เครื่อง

“ หากมีรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน เครื่องวัดที่ติดตั้งไว้จะเห็นเส้นแนวทางการวางตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน ความยาวของรอยเลื่อนสำคัญ จะบ่งบอกว่า รอยเลื่อนนี้จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เท่าไหร่ ทางวิศวกรโยธา วิศวกรโครงสร้างต้องออกแบบโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหวสูงสุด “

ความลับอีกเรื่องลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก พิจิตร ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี  แต่นักประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลแผ่นดินไหวในประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกอ้างอิงพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายพัวเมืองพิษณุโลกนั้นป่วนขึ้นสูงพื้นที่ดิน 3 ศอก นอกจากนี้ มีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของมารศรี สอทิพย์ ปี 2551 อ้างอิง มีความเป็นไปได้เกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนมาสู่พื้นที่ดินอ่อน ขยายตัวและพุ่งขึ้นมาจากน้ำ     อีกเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสวยราชสมบัติ  ณ เมืองพิษณุโลก ยกทัพไปช่วยศึกพระเจ้าหงสาวดี  ยกทัพไปถึงท้ายเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหว

กรมทรัพยากรธรณีนำแผนที่ประเมินความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวประชุมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ถือกฎหมายควบคุมอาคารให้ออกแบบอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว เป็นกฎหมายฉบับปรับปรุงล่าสุด ปี 64  พบว่า ประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อน ซ้อนทับด้วยจังหวัด 3 กลุ่ม ที่กฎหมายประกาศไว้

 นายสุวิทย์ อธิบายว่า พื้นที่สีแดง พื้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบแผ่นดิวไหวระดับสูง  ใกล้แนวรอยเลื่อนทั้ง 16 กลุ่มรอยเลื่อน ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและภาคตะวันตก รวม 12 จังหวัด เขตพื้นที่สีเหลือง พื้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวระดับปานกลาง 17 จังหวัด รวมถึงกทม. และปริมณฑล  ส่วนพื้นที่สีเขียว 14 จังหวัด รวมพิษณุโลก เป็นพื้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว แต่ออกแบบรองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดิวไหวน้อยกว่า 2 พื้นที่แรก

“  16 รอยเลื่อนที่ประกาศไปแล้ว เราเจอหลักฐานมัดแน่น ส่วนแผ่นดินไหวบางกระทุ่มครั้งนี้ต้องเจอหลักฐานที่ชัดเจนและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีชั้นดินถูกฉีกขาดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ถึงจะตอบได้เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่มีพลัง อย่างไรก็ตาม รอยเลื่อนตัวนี้ระเบิดปุ้งขึ้นมาขนาด 4.5 เลย ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราเคยมีแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้ในหลายพื้นที่ของไทย แต่ขนาด 1  2  3 เท่านั้น ครั้งนี้ต้องทุ่มงบ หาผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายศึกษาวิจัย ต้องหาให้เจอให้ได้  “ นายสุวิทย์ย้ำต้องตามล่ารอยเลื่อนให้พบ 

นายสุวภาคย์  อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในปัจจุบันมีความถี่ขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และสร้างความตระหนักรู้ต่อเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญ  ในประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อนที่มีพลังงาน แต่มีรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน หรือ Hidden Fault  เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแผ่นดินไหวบางกระทุ่มไม่อยู่ในรอยเลื่อนมีพลังที่กำหนดไว้ ส่งผลให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อสร้างมาตรการเตรียมรับมือ แม้ตอนนี้ยังเป็นรอยเลื่อนไม่มีพลัง  แต่อนาคตอาจจะเป็นรอยเลื่อนสำคัญ

หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบางกระทุ่ม รองอธิบดีฯ ระบุ ระยะเร่งด่วน ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อลดความตระหนก ซึ่งดำเนินการไปแล้ว เป็นการแจ้งเตือนภัยพื้นที่แผ่นดินไหว และแจ้งแนวทางปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยในพื้นที่ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตั้งเครื่องมือ เพราะเป็นโอกาสศึกษาและตรวจหาแนวรอยเลื่อน เพราะประชาชนมักตั้งคำถามจะเกิดแผ่นดินไหวอีกมั้ย ในทางทฤษฎีหากอาฟเตอร์ช็อคไม่เกิดเป็นเวลายาวนาน ณ ระยะเวลาหนึ่ง จะถือว่าแผ่นดินไหวหยุดแล้ว  ซึ่งจากการติดตามจน ณ เวลานี้ 99% ถือว่าหยุดแล้ว

ส่วนระยะกลาง จะต้องศึกษารอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดินมีความยาวและกระจายตัวไปทางทิศทางไหน เพราะจำเป็นรอยเลื่อน 16+1 ซึ่งเป็น 1 ที่ส่งผลกระทบและอยู่ใกล้ชุมชน โดยการศึกษาจะใช้เครื่องมือทางธรณีฟิสิกข์และองค์ความรู้ทางวิชาการที่มีทั้งหมด  เพื่อให้ได้เส้นวงและขนาดของรอยเลื่อนนำไปสู่ระดับความรุนแรงเท่าไหร่ เมื่อได้ผลศึกษาจะนำไปสู่การเสนอเพิ่มพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดผลกระทบภัยแผ่นดินไหว และเสนอข้อมูลต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองต่อไปเพื่อกำหนดพื้นที่เพิ่มเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

“ ระยะยาวจะต้องศึกษารอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดินในพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ไม่ง่ายเลยในการจับ Hidden Fault  แต่เราอยากจะจับมันก่อนจะเขย่า หากปล่อยให้เกิด Hidden Fault  ไปเรื่อยๆ จะไม่ทันการณ์  เพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวระดับต่างๆ ให้ทั่วประเทศไทย จากนั้นเป็นเรื่องเครื่องมือที่จะบูรณาการร่วมกับกรมโยธาฯ นำไปสู่การอยู่กับรอยเลื่อนได้ มีการจัดการอาคารสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสม “ นายสุวภาคย์ยืนยันต้องตามหารอยเลื่อนใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดินต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอยเลื่อนเชียงตุงเขย่าถึงอีสาน เช็คแผนรับมือ'แผ่นดินไหว'

จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในเมียนมา เช้าวันที่ 17 พ.ย. 2566   ที่ผ่านมา ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อน kengtung fault หรือคนไทใหญ่ เรียกว่า “รอยเลื่อนเก่งตุง”

‘หลุมยุบ-ดินทรุด’ ภัยเสี่ยงคนเมือง

ปัญหาแผ่นดินทรุดหรือหลุมยุบในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย ยกตัวอย่างกรณีถนนอุดมสุขเกิดการทรุดตัวลงเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร ช่วงเชิงทางขึ้นสะพานข้ามคลองเค็ด เขตบางนา ระหว่างซอยอุดมสุข 51-53 ทำให้น้ำซึมขึ้นมาบนถนน และเสาไฟฟ้าเอียงล้มลงมา

เจาะพื้นที่เสี่ยงรับ’ดินถล่ม’

ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังภัยดินถล่มอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ แม้พายุ”โนรู”จะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้

'รมว.ทส.' รับสถานการณ์น้ำปลายปีน่าห่วง!

'วราวุธ' รับปรากฎการณ์ลานีญา ทำสถานการณ์น้ำปลายปีน่าห่วง เผย นายกฯสั่ง ทส. ช่วยเหลือประชาชนช่วงพายุกระหน่ำ พร้อมสั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมรับมือดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก