‘หลุมยุบ-ดินทรุด’ ภัยเสี่ยงคนเมือง

ปัญหาแผ่นดินทรุดหรือหลุมยุบในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย ยกตัวอย่างกรณีถนนอุดมสุขเกิดการทรุดตัวลงเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร ช่วงเชิงทางขึ้นสะพานข้ามคลองเค็ด เขตบางนา ระหว่างซอยอุดมสุข 51-53 ทำให้น้ำซึมขึ้นมาบนถนน และเสาไฟฟ้าเอียงล้มลงมา หลังจากนั้นฝั่งตรงข้ามทรุดตัวตาม อีกทั้งมีแนวท่อประปาหลักวางผ่านด้วย ทำให้ท่อประปาเกิดความเสียหาย และมีบ้านเรือนร้านค้าริมถนนเสียหายจํานวนหลายหลัง  เมื่อเดือน ก.พ.2565 ที่ผ่านมา โดยบริเวณดังกล่าวเป็นจุดก่อสร้างอาคารรับน้ำในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุของการทรุดตัวของถนนและคอสะพานขาด สร้างความระทึกคนกรุง

เหตุระทึกถนนอุดมสุขทรุดตัว ภัยเสี่ยงของคนเมือง

ถัดมา เดือน ก.ย. เกิดเหตุถนนแจ้งวัฒนะบริเวณหน้า Health Land จ.นนทบุรี ปากซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 29 อ.ปากเกร็ด ลักษณะทรุดตัวเป็นโพรงลึกมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 5 เมตร ลึก 2 เมตร   ก่อนหน้านี้สองปี เกิดถนนทรุดตัว บริเวณถนนรามคำแหง ย่านบางกะปิ ทรุดตัวเป็นแนวยาว ซึ่งเป็นบริเวณก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม รามคำแหง-มีนบุรี

ที่หยิบยกมาเป็นเพียงตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า เหตุแผ่นดินทรุด หลุมยุบในพื้นที่กลางเมือง  เป็นธรณีพิบัติภัยที่คนกทม. ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเผชิญความเสี่ยงชีวิตเป็นระยะๆ ถ้าสามารถประเมินความเสี่ยงและช่วยให้ประชาชนรับรู้สัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดเหตุได้จะเป็นการป้องกันดีกว่ามาแก้ทีหลัง

เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหามากขึ้น นำมาสู่การประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ กทม.  

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การหารือครั้งนี้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อทราบถึงกระบวนการทำงานของหน่วยงาน 3 หน่วย  โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาความร่วมมือ ได้แก่ 1.การบ่งชี้ภัยและประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงธรณีพิบัติภัยในระดับพื้นที่หรือย่านสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียน การทรุดตัวของแผ่นดินหรือหลุมยุบในย่านสำคัญ หรือพื้นที่ล่อแหลมต่อธรณีพิบัติภัย 2. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเสี่ยงและความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย ซึ่งจะมีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูล งานสำรวจ วิจัย สถิติ เพื่อจัดทำ Bangkok Risk Map ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป

3. การสื่อสารความเสี่ยงอย่างมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยจัดกิจกรรมหรือเวทีวิชาการกันในการสื่อสารความเสี่ยง รวมไปถึงได้มีการหารือถึงแนวทางการอบรมให้ความรู้การเอาตัวรอดจากพิบัติภัยต่าง ๆ แก่นักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และ 4. ความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต

ส่วน ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำงานสนับสนุนกัน พื้นที่กทม. มีปัญหาทั้งแผ่นดินทรุด หลุมยุบตามแนวถนนต่างๆ ใน กรุงเทพฯ ซึ่งกทม. อยากหาคำตอบว่าเกิดจากสาเหตุใด แม้จากรายงานปัญหาแผ่นดินทรุดของกทม.น้อยลง แต่มีปัญหาอื่นเพิ่มเติม เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะโลกร้อน มีผลต่อ กทม. ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เกิดน้ำขัง ปัจจุบันมีปัญหาการระบายน้ำ ต้องสูบออก

“ ส่วนหลุมยุบเกิดตามแนวถนนหนทางต่างๆ เกิดเป็นโพรงกว้าง ลึก   แม้ กทม.ไม่ใช่พื้นที่เสียงภัยหลุมยุบ แต่ทาง กทม.ต้องการหาสาเหตุที่แท้จริง กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาช่วยด้านวิชาการ เพราะกทม.ไม่มีชั้นหินที่ก่อให้เกิดหลุมยุบได้ จะต้องทำการสำรวจและศึกษาวิจัยจริงจัง “ ดร.อรนุช ระบุ

ถนนทรุดตัวเป็นโพรงกว้างและลึก

ปัญหาแผ่นดินทรุดใน กทม. อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการบดอัดตัวของชั้นดิน น้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างที่กดทับบนชั้นดิน  ทำให้มีการทรุดตัวของชั้นดิน  โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีชั้นดินอ่อน  หากทรุดตัวต่อเนื่อง 10-20 ปี รวมทรุดตัวของชั้นดินหลายเซนติเมตร เมื่อน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นยังเกิดปัญหาการกัดเซาะแนวชายฝั่ง กทม.กังวลสถานการณ์เหล่านี้ ต้องหาสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด การหารือครั้งนี้เสนอนำร่องที่บางขุนเทียน ปัจจุบันประสบปัญหาแผ่นดินทรุดในพื้นที่ กทม.   

นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือเน้นสื่อสารความเสี่ยง กทม.ต้องการทำความเข้าใจชาวบ้าน นักเรียน กรมฯ จะส่งผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาไปอธิบายและให้ความรู้ รวมถึงนำนักเรียนในสังกัด กทม. ที่มีกว่า 400 โรง จำนวนกว่าแสนคน ไปเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี  นอกจากวิชาภัยพิบัติตามหลักสูตร

“ กรมฯ ทำพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวภาพรวมทั้งประเทศ แต่เราจะดำเนินการทำพื้นที่เสี่ยงภัยใน กทม.เชิงลึก จะข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปวางแนวทางจัดการหาแนวทางป้องกัน สำหรับความร่วมมือการจัดทำ Bangkok Risk Map ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นความก้าวหน้า เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต้องอาศัยองค์ความรู้ ความเข้าใจสภาพพื้นที่ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพิ่มความปลอดภัย และเป็นข้อมูลตัดสินใจและวางแผนที่เหมาะสม  “ ดร.อรนุช กล่าว

ประชุมแลกเปลี่ยนพัฒนาความร่วมมือแก้ปัญหาหลุมยุบใน กทม.

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมแก้หลุมยุบใน กทม. ประกอบด้วย นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม.  นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง นายคมสัน วิสาวะโท ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ผู้แทนสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี นายนิมิตร ศรคลัง ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีธรณี กรมทรัพยากรธรณี นางสุภาภรณ์ วรกนก ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี นายวิทยา มีนิสัย ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และผู้เกี่ยวข้อง 

ถนนยุบสร้างความเสียหาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลสาเหตุหลักของถนนยุบเป็นหลุมในประเทศไทยมาจากหลายปัจจัย ที่พบบ่อย ได้แก่ ความบกพร่องในพื้นที่ขุดรื้อ ย้าย ซ่อม หรือก่อสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินที่เกี่ยวข้องกับท่อระบายน้ำใต้ดิน จุดที่มีการรั่ว แตกของท่อประปา กำแพงดินริมคลอง หรือริมทางระบายน้ำ  การไหลของชั้นทรายในใต้ดิน หรืออาจเกิดจากการก่อสร้างอุโมงค์ที่การควบคุมคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน การทรุดตัวของพื้นดิน น้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างที่กดทับบนชั้นดินเป็นอีกสาเหตุ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ  มีชั้นดินอ่อน การทรุดตัวต่างกันของท่อระบายน้ำกับบ่อพัก

นอกจากนี้ ถนนหลายสายและระบบสาธารณูปโภคใช้งานมายาวนาน เกินอายุที่ออกแบบไว้  เมื่อมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่วางทับซ้อนกัน  และค้ำพื้นถนนไว้ ทำให้ทรุดตัวตามและทำให้เกิดโพรงใต้ถนน และการเคลื่อนตัวของดินในชั้นดิน ในกรณีที่มีการขุดในบริเวณใกล้เคียง ประกอบกับสภาพของชั้นดินที่มีลักษณะเคลื่อนที่ได้เมื่อมีน้ำหนักกดทับ  หรือการถูกน้ำทำให้เคลื่อนที่ไป  นอกจากนี้ ในพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบบหินปูน มีโอกาสเกิดหลุ่มยุบได้

คงต้องติดตามแนวทางแก้ปัญหาธรณีพิบัติภัยที่เกิดขึ้นและผลักดันการจัดทำ Bangkok Risk Map ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อลดอันตรายและความทุกข์ร้อนที่จะเกิดขึ้นกับคนกรุง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ศิลปะกลางแจ้งย่านเก่า หนุนกรุงเทพฯ เมืองที่ดีที่สุด

กรุงเทพฯ ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดัง DestinAsian ประกาศให้กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด (Best Cities 2024)  ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว (Destination) ในเอเชียแปซิฟิก