ส่งเสียง 5 ข้อถึง'รัฐบาลใหม่'แก้ค่าไฟแพง

ภาคประชาสังคมร่วมอ่านข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ 

หลังจากค่าไฟฟ้าพุ่งพรวดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะมีการปรับราคาค่าไฟฟ้าและค่าเอฟที หรือต้นทุนผันแปร ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า กลไกค่าไฟฟ้าที่เป็นอยู่เวลานี้ มีความเป็นธรรมหรือไม่  ล่าสุดกลุ่มเอ็นจีโอ เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ลุกขึ้นมาจัดงาน สัมมนาหัวข้อ  #ค่าไฟต้องแฟร์: ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่  โดยดึงตัวแทน 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยสร้างไทย มาร่วมเสวนา พร้อมแสดงความคิดเห็น

โดยหยิบยกประเด็น การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้ามีความไม่โปร่งใสหรือไม่ การวางแผนกําลังการผลิตไฟฟ้าไม่มีความเหมาะสม และการกําหนดราคาก๊าซธรรมชาติไม่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มค่าครองชีพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

พร้อมกับเรียกร้องว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เพราะค่าไฟฟ้าบ้านเราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 3.61 บาทต่อหน่วยเมื่อปี 2564 เพิ่มมาเป็น 4.70 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้  ซึ่งเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม และหลายองค์กรทั้งภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จึงเห็นพ้องกันว่า ต้องร่วมกันส่งเสียงให้รัฐบาลใหม่และสาธารณะ ทราบถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา  ไม่ผลักภาระให้ประชาชน  ใน  5 ข้อเรียกร้อง ที่ต้องการเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้

นิทรรศการสะท้อนปัญหาค่าไฟแพง

 1.หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน

2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และครอบคลุมทั้งประเทศ

3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล

4.พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่

5.นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากพม่า ไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่ออยากจะชี้แจ้งข้อมูลแบ่งเป็น 3ก  ได้แก่ 1.กริด คือ ระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีความเสถียร เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่าย ไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆไปยังผู้บริโภค ซึ่งกริดในไทยถือว่ามีคุณภาพ โดยมีการศึกษาจากหลายองค์กรว่ากริดในไทยสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนได้เป็นจำนวนมากคาดว่าอาจจะถึง 50% จากจำนวนการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ 2.การเงิน โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไม่ต้องนำเข้าพลังงานฟอสซิล และ3. กฎหมาย ที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้ใช้เต็มที่ หมายความว่า รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร สามารถออกกฎระเบียบที่มีเสรีและความเป็นธรรมในการซื้อขายไฟฟ้า โดยไม่ต้องซื้อขายไฟฟ้าแบบรายเดียวต่อไป

“แต่ทั้ง 3ก ดังกล่าวเป็นความน่าผิดหวังของศักยภาพประเทศ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมได้ ความหวังจึงอยู่ที่รัฐบาลใหม่ที่ต้องนำเสนอข้อเรียก 5 ข้อ ภายใต้การลงนามของ 120 องค์กร เครือข่ายประชาชนทและภาคเอกชน” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

 ประชาต้องมีส่วนร่วมหาทางออกค่าไฟแพง

การบริหารจัดการโครงสร้างไฟฟ้าของรัฐที่ล้าหลัง สฤณี อาชวานันทกุล  หัวหน้าทีมวิจัย Fair Finance Thailand แสดงความเห็นว่า สาเหตุหลัก คือ โครงสร้างการวางแผนจัดการพลังงานของประเทศที่ผ่านมาหลาย 10 ปี โดยการวางแผนพลังงานเป็นลักษณะรวมศูนย์มาโดยตลอด ซึ่งระบบนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าทั้งล้าสมัยและไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะผูกขาดทั้งผู้ผลิต และแนวคิดใหม่ๆ เช่น ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตได้ ไม่มีกลไกรับผิด  ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงอย่างมากมาหลาย 10 ปี โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด19 ผลลัพธ์จึงมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้จ่ายเงิน และไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะไปบอกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ

สฤณี กล่าวต่อว่า จากที่กล่าวข้างต้น สะท้อนให้ว่า จำเป็นต้องเปิดให้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในในประเด็นที่ภาครัฐ นำเสนอในหลายเดือนที่ผ่าน ได้แก่ ประเด็นกำลังไฟฟ้าสำรอง ซึ่งรัฐคำนวนบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายเป็นการคำนวนจาก Contracted Capacity มี Reserve Margin ประมาณ 50-60% และหากรัฐบอกว่าการคำนวนค่าไฟผิด ประชาชนก็ต้องจ่ายจากการคำนวนจาก Dependable Capacity  Reserve Margin อยู่ที่ประมาณ 30% อีกประเด็น คือ ทิศทางการรับซื้อพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง เพราะไม่มีค่าพร้อมจ่าย(AP) แต่ในกระบวนการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่รัฐมีการกำหนดราคาสูงเกินจริง ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพตลาด อย่างไรก็ตาม ก็ต้องถูกนำมาคำนวนไปอยู่ในค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าใช้เดินเครื่องจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบ (EP) หรือค่าอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนไชยบุรีและหลวงพระบางขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขง ที่อยากให้ทางธนาคารมองเห็นความเสี่ยงผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะประเทศมีกำลังไฟฟ้าสำรองเพียงพอ เป็นต้น

อาทิตย์ เวชกิจ  ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า  ประเทศไทยต้องสูญเสียการติดตั้งพลังงานสะอาด โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ไปถึง 15-20% ของการติดตั้งทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งของครัวเรือนประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมประมาณได้กว่าพันเมกะวัตต์ ยกเว้นสัญญาที่มีการซื้อขายกับภาครัฐ ซึ่งทำให้ต้องมีการนำเข้าพลังงานฟอสซิลเข้ามา  ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะให้มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) ซึ่งเป็นไฟส่วนเดินบางส่วนนำกลับเข้าสู่ระบบ หรือทำเป็นระบบฝากไฟ และนำกลับมาใช้ในช่วงที่แดดหมด แทนการทิ้งไป ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชน และการเงิของประเทศอย่างมาก

บุณยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะภาคประชาชน กล่าวว่า ค่าไฟต้องแฟร์ นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะหากจะแฟร์จริงต้องเริ่มที่ราคาก๊าซหุ้งต้มแล้ว ซึ่งปัญหาคือ กระทรวงพลังงาน ไม่รับฟังเสียงประชาชน เพราะส่วนใหญ่จะทำตามนักวิชาการที่อิสระจากประชาชน แต่ไม่ได้อิสระจากกลุ่มทุน ดังนั้นในการลงนามซื้อขายไฟฟ้า เท่ากับว่ารัฐผูกติดประชาชนไปพร้อมกับโยนภาระทั้งหมดให้แบกรับ ในมุมผู้บริโภคไม่ใช่แค่ต้องการใช้ของถูกเท่านั้น แต่ต้องใช้ในราคาที่แฟร์และเป็นธรรม

 อะไรซ่อนอยู่ในบิลค่าไฟ ที่ประชาชนต้องรู้

ด้านพรรคการเมือง ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เห็นด้วย 500% เพราะทั้ง 5 ข้อเสนอได้ระบุอยู่ในนโยบายของพรรค ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการหยุดลงนามสัญญา PPA ที่จำเป็นต้องทำทันที เพราะการสัญญาต่อ 1 โรงไฟฟ้า มีระยะเวลาควบถึง 25-30 ปี และโรงไฟฟ้าถ่านหินบางประเภทมีระยะเวลาถึง 40 ปี ซึ่งเป็นการผูกมัดของภาครัฐจนเกินไปในการแบกรับภาระ รวมถึงการคาดการณ์ในอนาคตว่าโรงไฟฟ้าชนิดนี้เหล่านี้ยังตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนั้นไหม ซึ่งหากจะมีการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าเพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการติดสัญญา PPA อย่างในต่างประเทศมีการซื้อขายในตลาดซื้อขายกำลังการผลิตไฟฟ้า (Capacity Market) คือให้มีการประมูลและมีระยะเวลา 5-7 ปีเพื่อดูว่าต้องยังต้องการอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลหรือจะเป็นฝ่ายค้านย ก็สามารถที่จะเสนอการแก้ปัญหาร่างกฎหมายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟฝ.) พร้อมกับมีเป้าหมายที่จะเปิดตลาดพลังงานเสรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ผูกขาดเพียงรายเดียว และจัดการอำนวจบริหารหน้าที่ กฟฝ. ให้ชัดเจน

ศึกษิษฎ์ ศรีจอมขวัญ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรค พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดของพรรคมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ค่าไฟต้องแฟร์ ซึ่งราคาค่าไฟปัจจุบันอยู่ที่ 4.45 บาท ราคาพลังงานคิดส่วนประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้นแนวทางพรรคตั้งแต่แรกคือ ต้องลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งได้เตรียมแผนไว้หลังจากได้ตั้งรัฐบาลใน 4 เดือนแรก จะสามารถลดค่าไฟได้เท่าไหร่ และรีบดำเนินการทันที รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายสมาร์ทกริด ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียม และความมั่นคง โดยเฉพาะการพิจารณาสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟถูกลง เพราะในตอนนี้มีกำลังการผลิตที่สูงเกิน หรือการตั้งกรรมการกลาง เพื่อมาวิเคราะห์และคำนวนการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง

ในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยกำลังจะตั้งรัฐบาลใหม่ การรับข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมของ 4  พรรคการเมืองเป็นที่น่าจับตาว่าจะสามารถทำตามคำมั่นสัญญาให้บรรลุได้ทั้ง 5 ข้อหรือไม่

 4 พรรคการเมือง เข้ารับข้อเรียก 5 ข้อ จากภาคประชาสังคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' ออกโรงยันค่าไฟฟ้าจะไม่พุ่ง อัดพวกพูดเอาเท่ฟังดูดี 'แก้โครงสร้างๆ'

รมว.พลังงาน ออกโรงยันค่าไฟฟ้าจะไม่แพงตามกกพ. มีมติ ลั่นรับไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทุกวิถีทางไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระ อัดพวกพูดเอาเท่ ฟังดูดีทรงภูมิ อะไรๆก็ 'ปรับโครงสร้างๆๆ' โดยไม่รู้ว่าจะแก้อะไร แก้อย่างไรส่งผลกระทบแบบไหน และทดแทนด้วยอะไร

'ก้าวไกล' แฉขบวนการฮั้วประมูลพลังงาน ต้นตอค่าไฟแพง บี้นายกฯ เบรกสัญญา

'ก้าวไกล' แฉขบวนการฮั้วประมูลนโยบายพลังงานรัฐบาล ‘กลุ่มทุนไอ้โม่ง’ อยู่เบื้องหลัง ทำค่าไฟแพง บี้นายกฯ ใช้อำนาจตรวจสอบทบทวน ยับยั้งเซ็นสัญญา

'เสนา' ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่เพิ่มกำลังซื้ออสังหา

“เสนา” ผู้พัฒนาอสังหาฯ รอประเมินนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ หนุนสร้างกำลังซื้อที่อยู่อาศัย บนปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรค ทั้งดอกเบี้ย รายได้ และภาระหนี้ครัวเรือน หวังรัฐบาลแก้ทั้ง 3 เรื่อง เพื่อให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เตรียมแผนเคลื่อนปี 2567 เพิ่มกลยุทธ์นอกเหนือจากการขายโครงการ เน้นการนำนวัตกรรมการเงิน เพื่อให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่

นิพิฏฐ์ เผยลางสังหรณ์ ไม่เกิน 3 เดือน 'ข้าวบูด ปลาเน่า' จะส่งกลิ่นโซยในรัฐบาลชุดใหม่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า… ข้าวใหม่-ปลามัน

คิวแน่น! นายกฯเศรษฐา เตรียมลงพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ก

ภายหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธที่ 13 ก.ย.