ไทยต้องกางแผนรับมือ'สึนามิผู้สูงอายุ  '

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือการจัดการกับสถานการณ์สังคมสูงวัย ทั้งด้านสังคม สุขภาพ และที่อยู่อาศัย ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของสังคมสูงวัย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จึงได้จัดเวทีเสวนา “การมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว (A Road to Lifelong Well-Being)” เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรโลกอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยอัตราการเกิดที่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ขนาดของกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการวางรากฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานการประชุมวิชาการประจำปี 2566 (BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023) ภายใต้แนวคิด A Road to Lifelong Well-Being (เส้นทางสู่การมีสุขภาพดีอย่างยืนยาว) ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้- ถึง 3 พฤศจิกายน 2566

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากข้อมูลโครงสร้างประชากรไทยปีพ.ศ.2448-2483 ในภาพรวมอัตราเด็กเกิดใหม่มีจำนวนที่สูงถึง 22% หรือประมาณ 14 ล้านคน  มากกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีประมาณ 10% หรือ 6.76 ล้านคน แต่ในปี 2566 จะมีผู้สูงอายุมากถึง 20% หรือประมาณ 13.5 ล้านคน ในขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงอยู่ที่ 16.22% หรือประมาณ 10 ล้านคน  เรียกได้ว่าเป็นสึนามิผู้สูงอายุ เพราะตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคนต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ฐานโครงสร้างประชากรไทยก็จะกลายเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ และคาดการณ์สัดส่วนผู้สูงอายุในปีพ.ศ.2576 ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะจำนวน เกิน 28% และในปีพ.ศ. 2583 จะมีผู้สูงอายุเกินถึง 31%  

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า นอกจากสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ยังมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นจากปีพ.ศ. 2537 ประมาณ 3.6% ในปีพ.ศ.2564 พุ่งสูงขึ้นถึง 12% หรือผู้สูงอายุที่ต้องอยู่กันเองในปีพ.ศ.2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 24% เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2545 ถึง 7%

สถานะการออมและรายได้ของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ในเรื่องความมั่นคงทางด้านรายได้ของผู้สูงอายุ จากการศึกษาพบว่าในปีพ.ศ.2565 ผู้สูงอายุจะได้รับรายได้จากลูกหลานกว่า 58% ซึ่งมีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 33% พึ่งพารายรับจากลูกหลาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 19-20% และผู้สูงอายุในช่วงวัยต้น 60-69 ปี  50% ยังคงทำงานอยู่  อีกสิ่งที่มีความกังวลที่สุดคือ การออม เพราะจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุ 45.7% ไม่มีเงินออม และยังมีภาระหนี้สิน ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุ 54.3% เป็นกลุ่มที่มีเงินออมแต่น้อยกว่า 50,000 บาท ถึง 41.4%

แผนรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัย ดร.นพ.ภูษิต แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ เพราะมีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้รัฐก็มีข้อถกเถียงถึงจำนวนเบี้ยผู้สูงอายุว่าควรอยู่จำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอและเหมาะสม หรืออาจจะปรับในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย แต่ก็ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบความยากจนที่ละเอียดด้วยเช่นกัน หรือการเกษียณอายุทำงานที่เอกชนหลายๆแห่งมีการกำหนดอายุที่ 65 ปี แต่ข้าราชการยังกำหนดอยู่ที่ 60 ปี อาจจะต้องมีการหาลือในการปรับเปลี่ยนอายุเกษียณของราชการ หากในวัย 60 ปี ยังมีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้  

ข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นถึงภาระด้านสุขภาพผู้สูงอายุไทย

แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางรายได้ หรือมีแนวคิดในการวางแผนด้านการเงิน ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยทำงานให้คิดถึงการออมเงิน  ในส่วนของระบบการดูแลผู้สูงอายุต้องแบ่งเป็นกลุ่มที่สุขภาพแข็งแรง และกลุ่มติดบ้านติดเตียง ขณะนี้ มีระบบการดูแลระยะยาว(Long–term care) ที่บางจังหวัดได้จัดทำขึ้นเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยมีอาสาที่เป็นนักบริบาล นักกายภาพบำบัด  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบในให้ครอบคลุมเข้าถึงผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นได้รับการรักษาที่บ้าน ที่ต้องอาศัยความมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ท้องถิ่นและชุมชน

การคาดการณ์ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 60 ล้านคนในอีก 9 ปี ข้างหน้า

“อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคนได้ทั้งหมด อีกทั้งบ้านพักหรือสถานสงเคราะห์คนชราหลายๆ แห่งจึงเต็ม ทำให้สภาพแวดล้อมอาจจะไม่เอื้ออำนวยเพราะด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่แออัด ดังนั้นครอบครัวหรือชุมชนจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บั้นปลายได้ใช้ชีวิตอยู่บ้าน เพราะนี่คือความปรารถนาของผู้สูงอายุหลายๆคน ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้แนวคิด ผู้สูงวัยอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิม” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว  

นำเสนอแผนพัฒนาผู้สูงอายุระยะยาว พ.ศ.2565-2580

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ในแผนนโยบายสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่า ด้วยผู้สูงอายุ (MIPAA) ที่มีแนวปฏิบัติการยกระดับ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและ ปลอดภัย เป็นต้น  และทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้ขับเคลื่อนแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565-2580) โดยเน้นหลักของการเกิดดี อยู่ดี แก่ดี ซึ่งเป็นการสร้างสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบการดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต

ด้านปัญหาโรคภัยในช่วงสูงวัย  ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนที่มีหนังเหี่ยวย่น แต่สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป เรียกว่า R-A-M-P-S โดย R คือ reduced body reserve:พลังสำรองร่างกายลดลง, A คือ Atypical presentation: อาการแสดงที่ไม่แน่นอน, M คือ Multiple pathology:มีหลายโรคในเวลาเดียวกัน, P คือ Polypharmacy: ได้รับยาหลายชนิด และ  S คือ Social adversity: ปัญหาด้านสังคม ในส่วนของความชุกของโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุโดยการวินิจฉัยของแพทย์ ในปีพ.ศ.2551-2552 เป็นกลุ่มโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ /อัมพาต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ขณะที่ ผลสำรวจในปีพ.ศ.2553 ของธนาคารโลก พบว่าโรคในผู้สูงอายุ 60 ปี สูงที่สุดคือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก รองลงมาคือมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ  กล้ามเนื้อหรือกระดูกพรุน เป็นต้น   ซึ่งในการตรวจรักษาผู้สูงอายุอาจจะต้องเพิ่มความละเอียดมายิ่งขึ้นในการซักถาม เช่น ผู้สูงอายุหกล้ม ต้องไม่ใช่แค่การรักษาในร่างกาย แต่ยังต้องสอบถามถึงสาเหตุการทำให้ล้ม เพื่อนำไปสู่แนวทางการป้องกันได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย

 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุยังต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบความสัมพันธุ์ในครอบครัว, ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่มีการทารุณกรรมผู้สูงอายุในภาวะสมองเสื่อม เช่น ทำร้ายร่างกาย ไม่ใส่ใจในเรื่องโภชนาการ จนเกิดผลเสียตามมา, ปัญหาด้านการเงิน และสิ่งแวดล้อม เช่น ที่อยู่อาศัย เพื่อนบ้าน ชมรมผู้สูงอายุ ชุมชน ดังนั้นการป้องกันเบื้องต้น  คือ การได้รับอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงภาวะอ้วน มีสุขภาพจิตที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุข ตรวจสุขภาพประจำปี มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ และการใช้ยาที่ถูกต้อง เนื่องจากมีผู้สูงอายุหลายคนที่รับยามาทานจำนวนหลายสิบห่อ สิ่งที่สำคัญในการตรวจรักษาคือการคัดกรองยา และให้ทานยาที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ที่สนใจ อัพเดตเทรนด์สุขภาพและองค์ความรู้ด้านการแพทย์ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบคู่ขนาน (Hybrid) ทั้ง Online และ On-site ได้ที่ เว็บไซต์ www.bdmsannualmeeting.com

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โปรเพชร'แนะเคล็ดลับให้50เยาวชน 'BDMSจูเนียร์ กอล์ฟ คลินิก 2023-24'

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ร่วมกับ พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ประเดิมต้นปี 2567 จัด “บีดีเอ็มเอส จูเนียร์ กอล์ฟ คลินิก 2023-2024” ครั้งที่ 3 กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักกอล์ฟรุ่นเยาว์อายุระหว่าง 6 - 16 ปี ได้เสริมสร้างทักษะการตีกอล์ฟกับโปรผู้ฝึกสอนพิเศษ โดยครั้งนี้ได้ “โปรเพชร” สดมภ์ แก้วกาญจนา แชมป์รายการ ไทยแลนด์ โอเพ่น ครั้งที่ 49

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดประชุม BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING

7 พ.ย.2566 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยัง บีดีเอ็มเอส คอนเนค เซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดการประชุมวิชาการร่วม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)