คณะแพทย์ฯจุฬาฯปรับหลักสูตร/การประเมินใหม่ ไม่มีการให้เกรด เปลี่ยนเป็น S/U ผ่านกับไม่ผ่าน หวังลดความเครียดผู้เรียน สร้างแพทย์ที่สังคมไว้วางใจ

“ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญคือ การประเมินผลแบบใหม่ที่จะใช้การตัดสินผลการศึกษาในรูปแบบระบบ non-tiered grading system คือเป็นระบบที่ไม่มีเกรด เพื่อส่งเสริมทักษะในการทำงานเป็นทีม มีความรับชอบในการปฏิบัติงาน เพราะนิสิตอาจจะกังวลกับการเรียนที่ต้องมีการตัดเกรด A-F ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดในกลุ่มผู้เรียนที่คาดหวังกับเกรด A โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนเกรด B B+ จะมีความเครียดสูงมาก ทำให้มุ่งเน้นที่จะเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในทางปฏิบัติลดลง ….”

คณะแพทย์ฯจุฬาฯ ปรับหลักสูตรและการประเมินผลการเรียน นิสิตแพทย์ฯ ไม่มีการให้เกรด เปลี่ยนเป็น S/U หรือผ่านกับไม่ผ่าน หวังลดความเครียดผู้เรียน พร้อมส่งเสริมทำกิจกรรมใกล้ชิดชมุชนตั้งแต่ปี1 ปี2 ขยับการออกชนบท จากปี6 เป็นปี 5 และเพิ่มเป็น 18 สัปดาห์ หวังสร้างแพทย์ที่สังคมไว้วางใจ (Trust) เติบโตเป็นหมอในแบบฉบับตนเอง

29 ม.ค.2567-คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าวเปิดตัว “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567” โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยเป็นการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ หลักสูตรภาษาไทย ที่คณะแพทย์เปิดสอนอยู่เดิม เพื่อใช้สำหรับนิสิตที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป

โดยในหลักสูตรนี้มีการปรับปรุงพัฒนาในหลายด้าน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง คือ การปรับเปลี่ยนการแสดงผลการประเมินนิสิตในแต่ละรายวิชาเป็น S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) ตลอดหลักสูตร แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A-F เพื่อให้การพัฒนานิสิตไปสู่ผลลัพธ์การ เรียนรู้ของหลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประเทศและผู้เรียน โดยสมดุลกับสุขภาวะของนิสิต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบการประเมินผลแบบใหม่ เน้นการสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้ความสนใจเรื่องของการวัดผลการศึกษา ที่เน้นการวัดผลด้านความรู้ของนิสิต นักศึกษา คือ ใน 1 เทอมจะมีการสอบ 2 ครั้ง ได้แก่การสอบกลางภาค และสอบปลายเทอม เป็นการวัดผลเมื่อเรียนจบ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการกล่าวถึงเรื่องการจะวัดหรือประเมินผลการเรียนทั่วโลก จะมีแนวโน้มในอนาคตที่จะปรับมาใช้การวัดผลการเรียนแบบ formative assessment คือการวัดผลของผู้เรียนในระหว่างเรียน ไม่ต้องรอเพียงการสอบในข่วงกลางเทอมหรือปลายเทอม และได้ประเมินความสามารถในการนำเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการวัดผลแบบใหม่ ที่ทางคณะแพทยฯ จุฬาฯ ได้นำมาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนแพทย์ เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำด้านการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยการตัดสินผลการศึกษาในลักษณะนี้จะเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน ในขณะที่ยังคงยึดมั่นในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้คู่คุณธรรมตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ทั้งนี้ คณะอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กำลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการประเมินผลในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของประเทศมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรแพทยฯ ในปีพ.ศ. 2521 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP), พ.ศ. 2531 หลักสูตรแพทย์แนวใหม่ (New Track) ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต, พ.ศ. 2545 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่จัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based curriculum) หลักสูตรแรกของประเทศไทย, พ.ศ. 2560 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีสัดส่วนวิชาเลือกมากถึง 32 หน่วยกิต และเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถศึกษาจบการศึกษาสองปริญญาภายใน 6 ปี และพ.ศ. 2564 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ; CU-MEDi) แบบ 4 ปี

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า ในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านแพทยศาสตรศึกษาของคณะที่ก้าวไปสู่มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับสากลเช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลแบบใหม่ ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้รู้แนวทางในการเรียน หรือทราบพฤติกรรมในการเรียน เน้นหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.การประเมินทำให้บัณฑิตหรือประชาชนมั่นใจว่า นักศึกษาที่จบไปแล้วมีความสามารถพร้อมที่เป็นหมอดูแลทุกคน เพราะตนเชื่อว่าระบบเกรดอย่างเดียว อาจจะไม่ดีพอที่จะบอกว่าผู้เรียนที่มาทั้งหมด สามารถผ่านเกณฑ์ทุกอย่างในการเรียนรู้ 2.ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปตามแนวทางที่ต้องการได้ และรู้ว่ามีความเป็นเลิศด้านไหน 3.ลดความเครียดที่ไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันในการเรียนที่ต้องมุ่งเน้นให้ได้เกรด A แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนแพทย์จะหลีกเลี่ยงจากความเครียดไม่ได้ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการดูแลคน และ4.ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน มีการช่วยเหลือกัน จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าแพทย์ผลิตออกมาจากหลักสูตรการประเมินแบบใหม่จะได้มาตรฐานครบถ้วนถัดเทียมกับนานาชาติได้

รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย

รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการประเมินผลการเรียนในครั้งนี้ เพื่อสร้างแพทย์ที่สังคมไว้วางใจ ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้สร้างต้องมั่นใจว่าได้ผลิตแพทย์ที่มีสมรรถนะและความสามารถที่ครบถ้วน และมั่นใจว่ามีคุณลักษณะความเป็นแพทย์ที่ดีจริงๆ ซึ่งในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร อย่าง นิสิตในโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท ก็จะมีการส่งเสริมให้เกิดความใกล้ชิดกับชุมชนตั้งแต่ในระดับชั้นปี 1 และปี 2 หรือโอกาสไปทำงานในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากเดิมการออกไปทำงานต่างจังหวัดคือ ปี 6 จำนวน 16 สัปดาห์ ก็ได้เพิ่มมาเป็น 8 สัปดาห์ ในชั้นปี 5 เพื่อให้ศึกษาเคสผู้ป่วยที่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่นิสิตต้องเจอในอนาคต

“ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญคือ การประเมินผลแบบใหม่ที่จะใช้การตัดสินผลการศึกษาในรูปแบบระบบ non-tiered grading system คือเป็นระบบที่ไม่มีเกรด เพื่อส่งเสริมทักษะในการทำงานเป็นทีม มีความรับชอบในการปฏิบัติงาน เพราะนิสิตอาจจะกังวลกับการเรียนที่ต้องมีการตัดเกรด A-F ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดในกลุ่มผู้เรียนที่คาดหวังกับเกรด A โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนเกรด B B+ จะมีความเครียดสูงมาก ทำให้มุ่งเน้นที่จะเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในทางปฏิบัติลดลง ทั้งนี้การประเมินผลยังมีส่วนช่วยให้การประเมินสมรรถนะและปัจเจกบุคคลในการไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสมหรือความต้องการของนิสิต”รศ.นพ.ศักนันกล่าว

รศ.นพ.ศักนัน อธิบายว่าการพัฒนาระบบการประเมินผลแบบใหม่ในหลักสูตร ประกอบด้วย 1. การประเมินผลในรายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นผลการประเมินผ่าน/ตก หรือ S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) ตลอดหลักสูตร โดยนิสิตจะได้ S เมื่อผ่านเกณฑ์การประเมินระดับรายวิชานั้นๆ อย่างครบถ้วน เช่น เกณฑ์ความรู้ เกณฑ์ทักษะ เกณฑ์ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม เป็นต้น หากนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะได้ U แต่ก่อนหน้าจะลงผลประเมินจะมีการจัดสอบซ้ำตามเงื่อนไขที่ทางคณะกำหนด รวมถึงการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้ง 12 ด้าน แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A-F

โดยมีงานวิจัยที่แสดงว่าการประเมินลักษณะนี้จะช่วยลดระดับความเครียดของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และสร้างเสริมสุขภาวะของผู้เรียน ในขณะที่ผลการสอบและพฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานไม่ได้ลดลง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้จากภายใน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อีกด้วย จากสถิติของโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า สัดส่วนของโรงเรียนแพทย์ที่ใช้ letter grade A-Fมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ โดยในปีการศึกษา 2021/2022 มีโรงเรียนแพทย์ที่ใช้การตัดเกรดลักษณะนี้ไม่ถึง 15% ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด

2.การปรับเปลี่ยนการแสดงผลการตัดสินการศึกษาในครั้งนี้เป็นการต่อยอด การพัฒนาด้านการประเมินผลผู้เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยมุ่งเน้นการประเมินผลที่เป็นระบบ (systematic) สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน (assessment for learning) และทำให้มั่นใจว่าบัณฑิตแพทย์ในหลักสูตรจะบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Programme Learning Outcomes; PLOs) ทุก PLOs ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565

3.การปรับเปลี่ยนระบบการประเมินผลในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างสมดุลใหม่ระหว่างการสร้างแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมให้สังคมไว้วางใจ (Trust) กับการดูแลสุขภาวะของนิสิต (Well-being) โดยการวางระบบเพื่อสนับสนุนให้นิสิตคุ้นเคยกับการเรียนรู้จากแรงจูงใจภายในจะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างเสริมให้นิสิตเติบโตและพัฒนาเป็นแพทย์ในแบบของตนเอง 4.ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 นี้ นิสิตจะได้รับรายงานผลการศึกษาโดยละเอียด เพื่อที่นิสิตจะสามารถนำข้อมูลนั้นไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาด้านวิชาการและวางแผนพัฒนาตนเองต่อไป ทั้งนี้การให้ข้อมูลป้อนกลับที่สร้างสรรค์ จำเพาะ และทันท่วงที เป็นสิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญ และได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) แก่นิสิตมาอย่างต่อเนื่อง

  1. นิสิตจะได้รับสัญลักษณ์ S เมื่อนิสิตผ่านการประเมินระดับรายวิชาได้อย่างครบถ้วน โดยคณะจะจัดให้มีการสอบซ้ำ (remedial exam) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะฯ กำหนด 6. ในด้านของข้อมูลผลการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ เช่น การฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เชิญอาจารย์ผู้ดูแลการคัดเลือกแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาวิชามาประชุมร่วมกัน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางที่คณะฯ นำเสนอในการจัดทำระเบียนประวัติเพื่อแสดงถึงความเป็นแพทย์ในแบบของตนเองของนิสิตแต่ละคน โดยในระเบียนประวัตินี้จะให้ข้อมูลวิชาที่นิสิตเลือกเรียน รางวัล ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนิสิต ประวัติการทำกิจกรรมที่โดดเด่น และความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence)
  2. ความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence) เป็นการประมวลข้อมูลจากผลลัพธ์การเรียนรู้ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ฃหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 12 ประการ เป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความเป็นเลิศด้านวิชาการ (academic) 2. ความเป็นเลิศด้านสมรรถนะและการปฏิบัติงาน (competency and performance) ได้แก่ การสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการทำหัตถการ เป็นต้น 3.ความเป็นเลิศด้านความเป็นวิชาชีพ (professionalism) ได้แก่ พฤตินิสัยในการเรียนการปฏิบัติงานการเรียนและการทำงานเป็นทีม และการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาบัณฑิตแพทย์จุฬาฯ ไม่เฉพาะแต่ในด้านความรู้เท่านั้น แต่รวมถึงทักษะและพฤตินิสัยที่เหมาะสมสำหรับความเป็นแพทย์ด้วย และ8.คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความคาดหวังของนิสิตและผู้ปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่านของแนวคิด คณะจึงยังคงไว้ซึ่งการให้ปริญญาเกียรตินิยม โดยจะพิจารณาจากความเป็นเลิศ (Excellence) ในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ ระยะเวลาการศึกษา การไม่เคยได้รับสัญลักษณ์ U และ การไม่เคยถูกตัดคะแนนความประพฤติ และไม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ของขึ้น เชี่ยมั้ย! ใครจะมาพูดอะไร แ-่ง ต้อง declare ผลประโยชน์ทับซ้อน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความ

แพทย์จุฬาฯ ชวนฟังเพลงยุค 60-90

ยุค 60-90 ถือเป็นยุคทองของเพลงสากลและเพลงไทย ที่มีเพลงคุณภาพ เกิดศิลปินขึ้นมามากมาย เป็นไอดอลที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน มีเพลงดังเพลงยอดนิยมจำนวนมาก ซึ่งยังคงความคลาสสิค ทุกวันนี้เพลงก็ยังอยู่ในใจผู้ฟังตลอดกาล  มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

'หมอยง' ชวนร่วมโครงการศึกษาภูมิต้านทานวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 วัคซีน ในเด็กอายุ 5-11 ปี เรายังจะต้องต่อสู้ระยะยาว