สักการะ 4 พระธาตุ จ.แพร่-น่าน

พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ท่ามกลางแมกไม้

“แพร่” เป็นเมืองรองของการท่องเที่ยว แต่จริงๆแล้ว แพร่มีอะไรที่น่ารัก ไม่แพ้เมืองหลักอื่นๆในภาคเหนือ ไม่ว่าธรรมชาติที่โอบล้อมพื้นที่ ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามที่มีกลิ่นอายความเป็นล้านนาอยู่มากมาย และในเชิงความเป็นสายบุญก็ไม่น้อยหน้าจังหวัดอื่นๆ ทริปนี้จะพาไปยังเส้นทางสักการะ 4 พระธาตุแห่งเมืองแพร่ ซึ่งพระธาตุแต่ละแห่งล้วนมีความสำคัญต่อวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาของชาวเมืองแพร่ที่มีต่อพุทธศาสนาอีกด้วย

จุดหมายแรกเมื่อมาถึงแพร่แล้วต้องไปที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ ไม่เช่นนั้นเหมือนมาไม่ถึงแพร่ วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและตามคติความเชื่อของชาวล้านนาโบราณพระธาตุองค์นี้เป็นประจำคนเกิดปีขาล หรือปีเสือ หากคนที่เกิดปีขาลได้ไหว้พระธาตุช่อแฮ จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่สูงล้นอีกด้วย

เศียรพระองค์ใหญ่ท่ามกลางขุนเขา

สำหรับองค์พระธาตุช่อแฮประดิษฐานอยู่เป็นเนินเขาเตี้ย สามารถขับรถขึ้นมาได้แต่ต้องเดินขึ้นบันไดต่อไปอีกนิด เราจะแบ่งพื้นที่ด้านบนจะแบ่งออกเป็น 3 โซนเพื่อให้เข้างใจง่ายๆ โซนแรกเมื่อมาถึงจะพบกับพระอุโบสถที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าองค์พระธาตุรับความมงคลด้วยการสักการะพระเจ้าช่อแฮ พระประธานที่มีอายุหลายร้อยปีซึ่งมีอายุน้อยกว่าพระธาตุช่อแฮที่อายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี องค์พระประธานมีความงดงามเชิงศิลปะที่ผสมผสานระหว่างล้านนา เชียงแสน สุโขทัย ด้านในพระอุโบสถประดับตกแต่งด้วยจิตรกรรมผนังเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ส่วนตัวเสาดูโดดเด่นด้วยลวดลายจากหินสีรูปดอกไม้สวยงาม

เดินทะลุประตูหลังพระอุโบสถไปโซนที่สองก็จะพบองค์พระธาตุช่อแฮที่มีเจดีย์โดดเด่นสีทองอร่ามเคียงคู่กัน ซึ่งองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบศิลปะล้านนา ทรงแปดเหลี่ยม บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโกงมีความสูง 33 เมตร ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม ส่วนโซนที่สามจะเป็นจุดสักการะพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ภายในซุ้ม โดยองค์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นสร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ผู้สร้างคือ ชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูปองค์นี้แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน(ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป มีความเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้นอย่างคำขอ

องค์เจดีย์ทองอร่าม พระธาตุช่อแฮ
บรรยากาศที่พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์

อีกด้านเป็นพิพิธภัณฑ์พระธาตุช่อแฮฯ ขนาดเล็กที่ได้รวบรวมเรื่องราวๆ ของพระธาตุช่อและวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่นี่ ซึ่งด้านในจะมีการจัดแสดงเรื่องราวประวัติของพระธาตุช่อแฮ การอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะโบราณและกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน เอกสารโบราณในการแสดงค่าใช้จ่ายซ่อมแซมพระธาตุในอดีต ยังมีรอยมือ-รอยเท้า และดวงชะตาของครูบาศรีวิชัย จากวัดพระเจ้าตนหลวง จ.พะเยา มีพระเจ้าไม้สักทอง ที่มีรูปแบบศิลปะล้านนาที่มีการแกะสลักจากไม้สักทองท่อนเดียว เป็นพุทธศิลป์เอกลักษณ์ของเมืองแพร่อีกด้วย

ในต.ช่อแฮ ยังมีอีกปูชนียสถานที่สำคัญอยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุช่อแฮมากนักคือ วัดพระธาตุดอยเล็ง ตั้งอยู่บนภูเขาสูงล้อมรอบไปด้วยทิวเขาและแมกไม้สีเขียวและลมเบาๆ ที่คอยพัดระบายความร้อนจากแดดตอนเที่ยง แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าพระธาตุองค์นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุช่อแฮ องค์พระธาตุดอยเล็งมีเจดีย์สีขาวนวลขนาดเล็กและมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ทางเดินจากองค์พระธาตุเชื่อมกับพระอุโบสถไม้ ภายในตกแต่งด้วยงานช่างแกะสลักไม้อย่างปราณีตงดงาม สามารถเดินเล่นได้รอบๆตัววัดเพราะจะมีจุดชม 360 องศา มองเห็นทัศนียภาพของป่าไม้ทิวเขาและยังมองเห็นวิวเมืองในต.ช่อแฮรวมถึงวัดพระธาตุช่อแฮได้อย่างชัดเจน

พระธาตุดอยเล็ง เจดีย์องค์สีขาวนวล
ด้านในพระอุโบสถพระธาตุดอยเล็ง

เดินทางไปต่อที่พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ ต.สวนเขื่อน อ.เมืองแพร่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ท่ามกลางภูเขาล้อมรอบ ในหมู่ขาวพุทธรู้จักดีว่าพระธาตุอินทร์แขวนเป็นหนึ่งในปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศเมียนซึ่งมีขาวพุทธจำนวนไม่น้อยเดินทางแสวงบุญเพื่อไปสักการะ แต่หากไม่ยึดติดในสถานที่ก็สามารถเดินทางมาที่จ.แพร่ได้เลยไม่ต้องไปไกลถึงเมียนมา

วิว 360 องศาจากวัดพระธาตุดอยเล็ง เห็นวัดพระธาตุช่อแฮ

พระธาตุอินทร์แขวนจำลองตั้งอยู่บนยอดสูงต้องเดินขึ้นออกกำลังไปอีกประมาณ 200 เมตร ทางเดินขึ้นไม่ชันมีบันไดสลับกับทางเดินดินมีราวจับประคองให้เดินได้สะดวก ระหว่างทางก่อนจะไปถึงจุดหมายจะมีจุดไหว้สักการะพระพุทธชยันตรีมหัศจรรย์  เจดีย์ทอง และเศียร์พระองค์ใหญ่ จากนั้นเดินไปอีกไม่ไกลก็มาถึงพระธาตุอินทร์แขวนจำลองที่ตั้งอยู่ปลายขอบของหินก้อนใหญ่มีความสูง 9 เมตร กว้าง 5 เมตร เป็นพระธาตุประจำของคนที่เกิดปีจอตามคติความเชื่อของชาวล้านนา จากมุมนี้เราสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบซึมซับบรรยากาศดีๆ นั่งชมวิวได้เพลิดเพลิน

สักการะวิหารพุทธไสยาการ

พระธาตุองค์สุดท้ายที่ได้เดินทางไปสักการะนับเป็นอีกองค์ที่มีความสำคัญอย่างมากในภาคเหนือ เราขับรถข้ามจังหวัดมาที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเวียง จ.น่าน พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน สันนิษฐานว่ามีอายุราวๆกว่า 600 ปี ความโดดเด่นของพระธาตุองค์คือเจดีย์ที่บุด้วยทองเหลืองทั้งหมดมีขนาดความสูงกว่า 55 เมตรและกว้างกว่า 22 เมตร ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมของสกุลช่างน่าน ถือเป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ หากสังเกตหน้าบันเหนือประตูทางเข้าลักษณะของการปั้นจะเป็นลายนาคเกี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะช่างฝีมือและงานศิลปะของน่านโดยแท้

พระธาตุแช่แห้งตั้งเด่นตระหง่าน

ในทางสายมูพระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนปีเถาะ ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในบริเวณวัดยังวิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพุทธไสยาศน์  วิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ศาลท้าวขาก่าน อนุสาวรีย์พญากรานเมือง ที่สามารถมาเลือกสักการะรับเสริมความมงคล

เจดีย์ชเวดากองจำลอง

จริงๆแล้วทริปการเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแค่สายบุญเท่านั้น ไม่ว่าจะชอบเดินทางแนวไหนก็สามารถที่จะมาเที่ยวไหว้สักการะวัดต่างๆ เพราะไม่เพียงแค่ได้บุญหรือเสริมมงคลให้ชีวิต แต่ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมจากฝีมือของช่างในอดีตให้ได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย.

แห่ผ้าเสริมมงคลรอบพระธาตุช่อแฮ
องค์พระธาตุช่อแฮ


————————————-

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แพร่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นักท่องเที่ยวทะลักแห่เที่ยว ฉลองสงกรานต์ 5 วัน เงินสะพัดกว่า 100 ล้าน พลิกโฉมหน้าก้าวสู่เมืองหลัก

งานเฉลิมฉลองสงกรานต์ สีสันมหัศจรรย์ 1,000 ปี และงาน Indigo Blue City ที่จัดขึ้นที่เมืองแพร่ ประสบความสำเร็จเกินคาด นักท่องเที่ยวทะลักจน

4 วันอันตรายสงกรานต์! สังเวย 162 ศพ 'เมืองคอน' แชมป์อุบัติเหตุ

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

กราฟิกอัตลักษณ์'น่าน' เพิ่มเสน่ห์เที่ยวเมืองรอง

จ.น่าน เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มอิทธิพลของลุ่มน้ำโขงและกลุ่มอิทธิพลล้านนา นครแห่งนี้สะสมบ่มเพาะปัญญาจากหลากทิศทางจนสามารถสร้างรูปแบบอัตลักษณ์อันเป็นฐานรากสำคัญนครน่านขึ้นมาได้ อัตลักษณ์น่านเติบโตโดยได้รับอิทธิพลสกุลช่าง