'มรภ.อุดร 'พลิกโฉมมหาวิทยาลัย ปลุก'จิตวิญญาณอีสาน'อวดชาวโลก

ใกล้ลานสนามหญ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มรภ.อุดรฯ)  มีอาคารหลังหนึ่งตั้งอยู่ติดกัน ถ้ามองเข้าไปจะเห็นเสื้อผ้าแขวนและโชว์อยู่มากมาย ทแค่มองแว่บเดียวก็รู้สึกว่า ทั้งสีสันและแบบรูปทรงสะดุดตาอย่างมาก  เชิญชวนให้เดินเข้าไปข้างใน เพื่อค้นหาว่าที่นี่คืออะไร ซึ่งสถานที่แห่งนี้ก็คือศูนย์FTCDC หรือ Textile Fashion Design Creative Design Center ของมรภ.อุดรฯ จากชั้นล่างจะพบกับเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ หลากสีสันรูปทรง และชนิดผ้า รวมทั้งยังมีกระเป๋า รองเท้า ที่ดูแล้ว ก็รับรู้ได้ทันทีว่า ไม่ใช่สินค้าดาษดื่นที่เห็นได้ทั่วไป แต่นี่คือผลงานของเหล่านักศึกษาของสถาบันแห่งนี้ ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านอีก 5 จังหวัด  ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ  รวม 43 อำเภอ ภายใต้โครงการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย   หรือ Reinventing University ที่เป็นนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ที่พยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่สำคัญก็คือ การยกระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถสร้างนักศึกษาที่มีศักยภาพ ผลิตผลงานที่ออกไปสู่ระดับสากลได้

ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ซึ่งมรภ.อุดรฯ ได้นำทุนทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาผนวกกับงานวิจัย ที่เป็นงานวิชาการมาสู่ความเป็นรูปธรรม ที่จับต้องได้  นอกจากการเกิดศูนย์FTCDC แล้ว ทางมรภ.อุดรฯ ยังมีนวัตกรรมในเรื่องของอาหาร และการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ในรูปแบบสารคดี และกึ่งสารคดี เป็นการร้อยเรียงบอกเล่าเรื่องราว สิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอีสาน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับทราบ  นับเป็นการสร้างสรรค์ 3ประสาน ที่มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของอีสานในรูป  3F คือ Food -อาหาร, Fashion – แฟชั่น, Film- ภาพยนตร์

การแสดงพลัง 3F “Food -อาหาร, Fashion – แฟชั่น, Film- ภาพยนตร์ “ของมรภ.อุดรฯได้สะท้อนออกมาชัดเจนจากการจัดงาน  ISAN SOUL FESTIVAL ซึ่งมีสโลแกนว่า “สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาอีสาน บูรณาการสู่สากล Soft Power อีสานเบ่งบานสู่สากล ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ บริเวณลานสนามหญ้า หน้าศูนย์ FTCDC มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ Arts & Craft & Music Street ถนนงานศิลปะ งานออกแบบ งานคราฟต์ ดนตรี ผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินอินดี้ และนักศึกษา , ชมดนตรี+การแสดง “ISAN SOUL , การเดินแบบแฟชั่นสิ่งทอ “ISAN SOUL” จากชุมชนโดยนักออกแบบระดับประเทศ , การนำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่น Gastonomy โดย อ.ขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ (Food Stylist นักออกแบบอาหาร) จาก Local สู่ เลอค่า เจ้าของรางวัลระดับโลก Gourmand Awards 17 ปี ซ้อน , เชฟหนุ่ม : วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ จากร้านซาหมวยแอนด์ซันด์ “50 Best discovery” จาก Asia’s 50 best restaurant 2022 และ Michelin guide Thailand 2023

ผลงานออกแบบแฟชั่นของศูนย์ FTCDCมรภ.อุดรฯ ที่ทำตั้งแ่ค่การผลิตผ้า ดีไซน์ โดยใช้ฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังมีกูรูด้านสื่อ ภาพยนต์แถวหน้า อาทิ ปรัชญา ปิ่นแก้ว , ผศ.ดร.ปรีชา สาคร  , อ.โต้ง อัจฉริยะ ศรีทา – จากหนังสัปเหร่อ , อ.ธีรนันท์ ขันตี – นักวิชาการด้านสื่อ ,อ.วรวุฒิ หลักชัย – ผู้กำกับหนังแนวอีสานอินดี้ มาร่วมเสวนาหัวข้อ”พลังสื่อ พลังสร้าง ISAN Soft Power”

ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี กล่าวว่าผลลัพธ์ของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย  มีมากมายมหาศาล มหาวิทยาลัยได้นำการบริการวิชาการ มาสู่การพัฒนาท้องถิ่น  โดยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ  ปลายน้ำ และในส่วนการทำหลักสูตร ที่ได้รับการยอมรับว่าได้มาตรฐาน  เริ่มจากนำร่อง นำผู้ที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ในแต่ละองค์ความรู้มาร่วมทำหลักสูตร หลังจากนั้น หลังจาก การอบรมกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ยังมีการทดสอบประมินทักษะ  ทำให้ก่อเกิดโครงงานและผลผลิตอย่างที่ทราบ

ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี


“การทำโครงการ ที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก Area based มหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้ มีโอกาสเพิ่มขึ้น เราจะร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในเรื่องการสร้างนักสื่อสารสารธารณะ และเราไม่ได้มองว่า  Reinventing เป็นแค่โครงการที่ทำแล้วจบ แต่เรามองว่าจะทำอะไรที่เป็นการต่อยอดได้อีก เริ่มเห็นแล้วว่า ซอฟต์เพาเวอร์  ถ้ามีกระบวนการในการทำ จะช่วยชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างมาก ซึ่งเรากำลังประสานพื้นที่ต่างๆ เช่น ในอุดรฯ และประสานในระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อำเภออื่นๆในจังหวัดใกล้เคียงอีก เพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน  เพราะบางพื้นที่จะมีฐานในเรื่องของFood ,Film อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดจะไปจบท้ายที่  Festival เช่นงานอีสาน โซล หรือจิตวิญญาณอีสาน  ที่มีผลตอบรับดี  ส่งผลกับนักศึกษาด้วย ที่เรียกร้องให้จัดงานอีสานโซลทุกเดือน และเด็กๆยังเกิดไอเดีย อยากจัดงาน Esan Craft ซึ่งเป็นมุมที่เราคาดไม่ถึง ที่เด็กๆนักศึกษาจะทำ ที่สะท้อนจิตวิญญาณอีสานที่อาจจะมีมุมที่ไม่เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำก็ได้

ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย รองอธิการบดี  มรภ.อุดร

ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย รองอธิการบดี  มรภ.อุดร กล่าวว่า  จังหวัดอุดรธานีพยายามยกระดับตัวเอง เป็นเมืองคราฟโลก ทางมหาวิทยาลัยได้พยายามเชื่อมโยงกับองค์กร APADA ซึ่งเป็นองค์กรด้านงานคราฟท์และฝานฝีมือในเอเชีย แปซิฟิก นอกจากนี้ ยังได้เชิญบอร์ด World Craft Council มานั่งพูดคุย ว่าอุดรธานี จะสามารถเป็นเมืองคราฟท์โลก ได้หรือไม่ ซึ่งพอเขามาดูแล้ว เห็นว่าพอได้ แต่บอกว่าเรายังขาดสิ่งหนึ่งนั้นก็คือ การจัดEvent และอุดร ยังไม่มีแหล่งงานคราฟท์ ที่จะเชื่อมโยงกันได้ จึงทำให้เห็นว่า ถ้ายกระดับงานอีเวนต์อย่าง  อีสาน โซล ก็น่าจะทำได้ โครงการนี้จึงเป็นโปรเจ็กต์ ที่เราจะทำร่วมกับทางจังหวัดอุดรฯ และการเชื่อมโยงกับผลของการเชื่อมโยงกับ APADA ทำให้มรภ.อุดรฯ ได้นำแฟชั่นไปเดินที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี

ในโอกาสเยี่ยมชมความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Reinventing University มรภ.อุดร ฯนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า  ผลงานของมรภ.อุดร ที่อยู่ในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ถือว่ามาไกลเกินกว่าที่เราคาดไว้  เพราะจริงๆแล้ว หวังว่ามหาวิทยาลัยจะดูแลเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดอุดรเท่านั้น แต่ขณะนี้ มหาวิทยาลัยสามารถดูแลไปถึงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่อยู่รอบๆอุดร 4-5จังหวัด แต่ที่สำคัญคือ งานของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าเป็นแฟชั่น อาหาร หรือฟิล์ม หรือการจัดงานเฟสติวัล ต่างๆ แสดงให้เห็นสิ่งที่เกินเป้าหมายที่คิดไว้ และจากที่นโยบายพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ที่อว.สนับสนนุนมา 3-4ปี ถือว่าผลงานมรภ.อุดร เป็นต้นแบบการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริง และหากมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กับมหาวิทยาลัยด้วยกัน ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เช่น ม.ขอนแก่น มรภ.บุรีรัมย์ หรือมรภ.สุรินทร์ เช่นในเรื่องลายผ้าไหม ก็อาจจะทำให้ได้ลายผ้าไหมที่เป็นอัตลักษณ์ของอีสาน เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นขั้นต่อไป ที่อว.อาจจะผลักดันให้เขาเกิดเครือข่ายในการทำงาน

ชมผลิตภัณฑ์อาหาร ปลานิลรมควัน ที่ได้GI

“ผมมองว่า งานของมรภ.อุดรฯ ยกระดับให้เป็นระดับโลกได้ ทั้งแฟชั่น อาหาร อย่างลาบเป็ดอุดร มีคุณภาพ หม่ำเนื้อ  ปลารมควัน ที่มีความคิดเหมือนปลาเทราต์รมควัน ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าได้ 3 เท่า เรากำลังคุยกับภาคเอกชน เรามีของดีเยอะมาก เราร่วมกับหอการค้าจังหวัด จะจัดงาน ฟิล์มฟู้ด เฟสติวัล นำเชฟมีชื่อเสียงมาโชว์ การโขว์ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่เป็นระดับประเทศ และทราบว่าตอนนี้มีหลายแบรนด์ที่ติดต่อมรภ.อุดร  แต่มีปัญหาตรงที่การผลิตต้องมากกว่าหลักสิบ แต่อาจเป็นหลักร้อย พร้อมกับการมีคุณภาพคงที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะต้องยกระดับส่วนนี้ “

รองศาสตราจารย์รัฐชาติ มงคลนาวิน

อีกตัวแทนจาก อว.ที่มาเยี่ยมชม มรภ.อุดรฯ รองศาสตราจารย์รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการโครงการ Reinventing University  กล่าวว่า  ต้องขอชื่นชม มรภ.อุดร ที่ทุกเรื่องที่ทำ ล้วนนำไปสู่การเป็นเรื่องเดียวกัน  แสดงให้เห็นเข้าใจคอนเซ็ปต์ การพลิกโฉม เพราะถ้ามหาวิทยาลัยถ้าทำงานแบบเดิมๆ ผลงานที่ออกมา จะไม่มีความแตกต่าง หรือออกมาแบบสะเปะสะปะ แต่คราวนี้ ทุกอย่างที่ทำขึ้นมาเป็นเรื่องเดียวกันหมด เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราได้อะไรกลับมา ตัวมหาวิทยาลัยได้สร้างตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา ให้สามารถคิดเอง ลองผิดลองถูก นำความสามารถในตัวเองออกมา สร้างงาน ได้  ส่วนตัวเห็นว่าผลงานมรภ.อุดร มีคุณภาพ และนำเอกลักษณ์ความเป็นอีสานไปถึงระดับโลกได้ เพราะหาที่ไหนไม่ได้แล้ว  

“การทำงานมหาลัยได้ทำครบวงจร ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตอนนี้มีขั้นสุดท้าย คือ โชว์ตัวให้ชาวโลกรับทราบ เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถผลักดันให้สู่สายตาทั้งโลกได้ ไม่ว่าเป็น ฟิล์ม ฟู้ด หรือ แฟชั่น  มหาวิทยาลัยสามารถประสาน 3เรื่องได้ดี  เพราะนำเรื่องราวไม่ว่าอาหาร  แฟชั่น แสดงออกมาในในรูปของฟิล์ม ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งดึงดูดอย่างหนึ่ง  เพราะเราไม่ควรมองแค่นำความเป็นอุดรออกไปข้างนอกเท่านั้น แต่จะต้องดึงดูดให้โลกภายนอกเข้ามาที่อุดรด้วย  นอกจากนี้ การที่ทุกปีจะมีงาน อีสานโซล เฟสติวัล จะทำให้คนสนใจมากขึ้น  จึงถือว่ามรภ.อุดร แสดงศักยภาพให้เห็นว่า งานวิจัย ไม่ได้อยู่แต่ในกระดาษ หรืออยู่แต่ในหิ้งอย่างเดียว แต่สามารถนำมาช่วยเหลือชุมชนได้ เหมือนเพชรที่ถูกเจียรไน ทีละเม็ด ๆ นับเป็นความสำเร็จที่เกินความคาดหมาย ที่จะไปต่อได้อีกไกล ก้าวไปข้างหน้าไปสู่สากลได้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน “รศ รัฐชาติกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

U2T​ for​ BCG​ ร่วมกับอบต.หนองแก้ว​ จ.ศรีสะเกษ​ ยกระดับป่าสาธารณ​ะเป็นป่าชุมชน​ สำรวจพบต้นไม้อายุมาก500ปี

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ U2T for BCG