จังหวัดสงขลา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ โดยมีหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางความเจริญ แต่จริงๆแล้ว หากได้เปิดใจ ก็จะพบว่าตัวเมืองสงขลา มีความน่าสนใจซุกซ่อนเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในดินแดนใต้ส่วนที่เป็นด้ามขวานของไทยไว้มากมาย จนกระทั่งล่าสุด ครม. มีมติเห็นชอบเสนอ สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา ให้องค์การยูเนสโก พิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลก โดยชู 4 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง 2.เมืองโบราณสทิงพระ 3.เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า และ4.เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง เนื่องจากไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให่เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
การเดินทางในครั้งจึงเป็นการเดินทางในย่านเมืองเก่าสงขลา ดินแดนอันรุ่งโรจน์ทางอารยธรรมในอดีตและจุดหมายปลายทางสู่มรดกโลกในปัจจุบัน สำหรับเมืองเก่าสงขลานับว่าอยู่บนชัยภูมิที่เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างดินแดนตะวันออก อย่าง จีน ญี่ปุ่น หรือ ชวา กับดินแดนตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย จึงเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่พ่อค้าและนักเดินเรือต่างแวะพักและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามาตั้งแต่โบราณ ก่อให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต และอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวเมืองหลากหลายชาติพันธุ์
ตามประวัติการตั้งถิ่นฐานเมืองเก่าสงขลาเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพบการตั้งชุมชนใน 3 พื้นที่หลัก คือ เมืองเก่าเขาแดง เมืองเก่าแหลมสน และเมืองเก่าบ่อยาง โดยอาศัยภูมิประเทศตรงปากทางออกทะเลสาบสงหลา สู่ทะเลใหญ่ รวบรวมสินค้าผลผลิตจากแผ่นดินตอนในนํามาแลกเปลี่ยน และพัฒนาเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ ต่อมายกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางทะเล การปกครอง การศึกษา การคมนาคม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนล่าง
โดยปัจจุบันยังมีร่อยรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด ศาสนสถาน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในย่านเมืองเก่าทั้ง 3 แห่งที่ได้กล่าวไปข้างต้น จุดหมายปลายทางแรกเริ่มที่ย่านเมืองเก่าเขาแดง ในอดีตถือเป็นยุคที่มีการอพยพมาสร้างชุมชนใหม่บริเวณริมเขาแดงปากทะเลสาบสงขลาประมาณ 60 ปี ชุมชนบริเวณริมเขาแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขยายตัวทางการค้ากับชาวต่างประเทศในยุโรป โดยมีผู้ก่อตั้งเมืองคือดาโต๊ะโมกอลส์ เป็นยุคที่มีการสร้างป้อม คู ประตู หอรบ อย่างแน่นหนา บันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ.1993 – 2093 เรียกสงขลาบริเวณริมเขาแดงว่า “ซิงกูร์” หรือ “ซิงกอรา”
สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นของเมืองซิงกอราในปัจจุบันที่ตั้งอยู่บริเวณโบราณสถานหัวเขาแดง ต.หัวเขา อ.สิงหนครคือ ป้อมปราการในอดีตจำนวน 14 ป้อม ซึ่งทางกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมเมืองสงขลาเก่า หนึ่งในป้อมที่งดงามและยังคงความสมบูรณ์คือ ป้อมเมืองเก่าสงขลา หมายเลข 9 ซากกำแพงสูงเด่นตระหง่านตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาน้อย เป็นป้อมที่ก่อด้วยหิน ลักษณะผังของป้อมเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสอบปลาย มีขนาดกว้าง 4.6 เมตร ยาว 10.2 เมตร มีใบบังทั้ง 4 ด้าน และ ใบบังจะมีช่องมอง ซึ่งต้องมองเฉียงจึงจะสามารถมองเห็นภายนอกได้ บริเวณฐานมีเสาครีบค้ำยัน 5 จุด เพื่อเสริมความมั่นคง แข็งแรงให้ตัวป้อม โดยเราสามารถเข้าไปชมด้านในป้อมยิ่งทำให้เห็นถึงความเก่งของคนใอดีตที่นำหินก้อนใหญ่มาเรียงต่อกันสร้างเป็นเกราะป้องกันศัตรูได้
จากป้อมหมายเลข 9 เดินขึ้นเขาน้อยไปอีก 300 เมตร จะเป็นที่ตั้งของโบราณสถานเจดีย์บนภูเขาน้อย ที่หลงเหลือภาพให้ชมเพียงส่วนฐาน ซึ่งหลักฐานศิลปกรรมที่พบจากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรอายุของโบราณสถานอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมา มีศิลปะร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีและศรีวิชัย และตัวองค์เจดีย์มีการสร้างขึ้นหรือบูรณะใหม่ในสมัยอยุธยา หลักฐานชิ้นสำคัญที่พบคือ กูฑุ อิทธิพลจากศิลปะอินเดีย เกิดขึ้นราวๆ พุทธศตวรรษที่ 13-16 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงการอยู่อาศัยของผู้คนบริเวณรอบเขาแดงมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา หรือก่อนจะก่อตั้งเมืองสงขลา
มาต่อที่บริเวณเมืองเก่าแหลมสน โดยในช่วงสงครามระหว่างพระนารายณ์มหาราชกับอังกฤษ ทำให้ชาวสงขลาต้องอพยพมาตั้งบ้านเรือนใหม่ที่บริเวณนี้ ซึ่งอยู่เชิงเขาปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ เรียกกันต่อมาว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประกาศอิสรภาพ ทรงแต่งตั้งชาวจีนฮกเกี้ยน เป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ ทำให้ในย่านนี้รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในวิถีชีวิตของขาวสงขลา ซึ่งเราจะพาเดินทางไป 3 วัด ที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมจีนในอ.สิงหนคร เริ่มที่วัดศิริวรรณาวาส ซึ่งเป็นวัดร้าง แต่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากทางวัดบ่อทรัพย์ สร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลา ต้นตระกูล ณ สงขลา สะท้อนถึงรูปแบบศิลปกรรมท้องถิ่นภาคใต้อย่างสวยงาม ปัจจุบันวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ มีความโดดเด่นคือ ซุ้มทางเข้าด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นซุ้มประตูแบบเก๋งจีน สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปะในแบบจีนเข้ามาผสมผสานในการสร้างวัดช่วงเวลานั้น
เดินเชื่อมมาที่ วัดบ่อทรัพย์ ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน มีความเป็นเอกลักษณ์นั่นคือ บ่อน้ำ เป็นบ่อน้ำกรุอิฐขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดในช่วงที่น้ำขึ้นน้ำจะเป็นสีฟ้าอำพันงดงาม วัดสุดท้ายคือ วัดสุวรรณคีรี สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดแห่งนี้ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง และเป็นวัดหลวงสำหรับกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยที่เมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณฝั่งแหลมสน ความน่าสนใจคือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 สันนิษฐานว่ามีช่างหลวงเข้ามาดำเนินการเขียนภาพจิตกรรมฝาผนังบริเวณด้านหลังของพระประธาน ที่มีวิมาน ปราสาทนางฟ้า และภาพเทวดาเปรต ฃสวมเทริด แต่งองค์แบบโนราห์ ฯลฯ รวมถึงลวดลายหน้าอุโบสถเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจีนในด้านสถาปัตยกรรมจึงมีการนิยมทำหน้าบันเป็นลายดอกไม้ประดับ เครื่องถ้วยหรือลวดลายพรรณพฤกษาที่งดงามอย่างมาก
มาถึงเมืองเก่าแห่งที่ 3 คือเมืองเก่าบ่อยาง หรือย่านเมืองเก่าสงขลาในปัจจุบัน ที่ขยายเมืองมาจากฝั่งแหลมสน ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน คือทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย จึงจุดศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายจึงทำให้สงขลาเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีพ่อค้าจากหลายประเทศทั้งในแทบเอเชีย ยุโรป จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สะท้อนผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารบ้านเรือน อาทิ จีน จีนผสมตะวันตก ชิโน-ยูโรเปียน ยุโรป และตึกที่ผสมผสานระหว่างจีน ยุโรปและมุสลิม
ปัจจุบันย่านเมืองเก่าเป็นแหล่งท่องที่ยวสามารถเดินได้เพลินตลอดถนนนครนอก นครในและถนนนางงาม นอกจากความสวยงามตึกอาคารบางหลังคงสภาพสถาปัตยกรรมในอดีตให้ชม บางหลังมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยเพื่อเปิดเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ หรือที่พัก ตามซอยต่างๆ ยังมีสตรีทอาร์ตสะท้อนวิถีชีวิตของคนในย่านมีมุมให้ถ่ายภาพเก๋ๆ ในย่านเมืองเก่าเราแวะสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง โดยภายในศาลเจ้าแห่งนี้มีเสาหลักเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาเจ้าเมืแงสงขลาได้อัญเชิญองค์เทพเจ้าจาก เมืองให่เฉิง จ.จางโจว โดยเจ้าพ่อหลักเมือง คือ เซ่งห้องเหล่าเอี๋ย หรือเส่งห่องกง ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้รักษาคุ้มครองเมืองตามคติจีนมาประดิษฐานเป็นองค์ประธานในศาลเจ้า และสักการะศาลเจ้ากวนอู ที่เคารพศรัทธาของคนในพื้นที่
เดินมาถึงวัดมัชฌิมาวาส หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดกลาง ที่มีไฮไลท์ อยู่ที่จิตรกรรมผนังด้านในพระอุโบสถที่ช่างหลวงได้เขียนภาพพุทธประวัติ พร้อมกับสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวสงขลาในอดีต ที่มีการค้าทางน้ำมาอย่างช้านานตั้งแต่เรือสำเภา จนมีเรือกลไฟขนาดใหญ่ รวมถึงขาวต่างชาติท่เข้าค้าขายและปักหลักอาศัยอยู่ในเมืองนี้ด้วย ความพิเศษของอุโบสถแห่งนี้หากมองขึ้นไปเหนือประตูทั้งด้านหน้า-หลังพระประธานคือ งานปูนปั้นนูนสูง ราหูที่อยู่หลังพระประธานหน้าตรง ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็นราหูหน้าเผล้หรือหน้าเอียงที่มีความปราณีตงดงามอย่างยิ่ง
ตลอดทริปที่เดินทางท่องประวัติศาสตร์ของทั้ง 3 เมืองเก่าในสงขลา ที่มีทั้งความสวยงาม วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งอาจจะเป็นเมืองมรดกโลกในอนาคตอันใกล้นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวดี 6 แหล่งท่องเที่ยวไทย ติดน่าเที่ยวระดับโลก ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้าน
'ศศิกานต์' เผย 6 แหล่งท่องเที่ยวไทย ติดน่าเที่ยวระดับโลก ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้าน สวัสดี-ต้อนรับ นักท่องเที่ยวทั่วโลก
ไทยติด TOP 8 ประเทศร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลสำเร็จการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของคนไทยและทุนทาง
ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน แกนกลางปักกิ่ง (Central Axis) เป็นมรดกโลก
ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนแกนกลางปักกิ่ง (Central Axis) เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ โดยแกนกลางปักกิ่งมีความยาว 7.8 กิโลเมตร
ฉลอง 'ภูพระบาท' เป็นมรดกโลก รัฐบาลเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี
นายกฯ เชิญชวนทุกคนร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองที่ภูพระบาท จ. อุดรธานีได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยรัฐบาลเปิดให้เข้าชมภูพระบาทฟรี ตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 พร้อมเดินหน้าผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
ยก ‘ภูพระบาท’ เป็นมรดกโลก
คนไทยได้เฮ! อีก ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "ภูพระบาท" จ.อุดรธานี