มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale , Phuket 2025 เปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง และ Mr. David The พร้อมภัณฑารักษ์ นางสาวมาริสา พันธรักษ์ราชเดช และ Ms. Hera Chan ณ HOUSE OF TIN BARON อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตอกย้ำความพร้อมจัด Thailand Biennale ครั้งที่ 4 อย่างยิ่งใหญ่เปิดจังหวัดภูเก็ต ไข่มุกอันดามันล้ำค่าของประเทศไทย ให้ศิลปินต่างประเทศและศิลปินไทยแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยในธีม“นิรันดร์กัลป์” สื่อสารถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเวลา สร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิกฤตนิเวศวิทยาเสื่อมถอย ภัยธรรมชาติหนักหน่วง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ กับจ.ภูเก็ต จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายศิลปินและเอกชนทุกภาคส่วน
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวการจัดงาน Thailand Biennale, Phuket 2025 ว่า นับตั้งแต่วันส่งมอบธงเจ้าภาพจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติให้จังหวัดภูเก็ต มีความเชื่อมั่นภูเก็ตมีศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่และความเข้มแข็งของผู้นำ ขณะนี้ทุกภาคส่วน จ.ภูเก็ต มีความพร้อมประสานความร่วมมือเป็นเจ้าภาพ ผลักดันการสร้างอัตลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดให้มีความโดดเด่น ผสมผสานกับการนำผลงานศิลปะร่วมสมัย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแห่แหนเดินทางมาชมผลงาน เกิดความประทับใจ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิความสำเร็จของภูเก็ต และยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยสู่ระดับนานาชาติ
นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า งานไทยแลนด์เบียนนาเล่ภูเก็ตจะมีผลงานศิลปะร่วมสมัยไม่น้อยกว่า 60 ชิ้นงาน จาก 60 ศิลปิน ร่วมแสดง เน้นศิลปินจากต่างประเทศ เพื่อให้มีความเป็นสากล จุดแข็งจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมพื้นที่การจัดงานและแรงสนัลสนุนในพื้นที่จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชน ศิลปิน ต่างมีความประสงค์จะนำงานไทยแลนด์เบียนนาเล่เข้ามาเสริมศักยภาพของจังหวัด รวมถึงมีการสร้างการรับรู้ล่วงหน้า เพื่อเชิญชวนชาวภูเก็ตให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 สศร.ได้รับการพิจารณางบฯ จากสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินงานดังกล่าวจำนวน 116 ล้านบาท ยังไม่รวมงบของจังหวัดและเอกชน
“ สำหรับการเปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และภัณฑารักษ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ สศร.มีกระบวนการคัดสรรเข้มข้นผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ จากนั้นคณะทำงาน Thailand Biennale, Phuket 2025 ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และค้นหาบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต นำมาสู่การวางแนวคิด”นิรันดร์กัลป์” ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่มีการจุดประเด็นจัดสร้างประติมากรรมถาวรที่แหลมพรมเทพ เพื่อสร้างคุณค่าและสร้างเม็ดเงินเข้าพื้นที่ เตรียมหารือกับจังหวัดภูเก็ตสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งจะถอดบทเรียนจากไทยแลนด์เบียนนาเล่ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา จังหวัดกระบี่ นครราชสีมา และเชียงราย เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิประโยชน์ และผู้ที่จะดูแลรักษาชิ้นงานถาวรในอนาคต “ ผอ.สศร. กล่าว
ด้าน นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ กล่าวว่า มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งนี้ มี 4 คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ เวลา พหุสังคม ประวัติศาสตร์ และความรัก สู่คอนเซ็ปต์“นิรันดร์กัลป์” จากแรงบันดาลใจกัลปาวสานที่ถูกใช้ในการเปรียบเปรยถึงความรักที่มั่นคงอย่างตำนานรักสะพานสารสิน อาจคงอยู่ชั่วขณะ การตระหนักถึงความเสื่อมสลายเหมือนพระอาทิตย์ตกดินที่แหลมพรหมเทพ ภูเก็ต สะท้อนเวลาหมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด สอดคล้องกับรักษาเพื่อความยั่งยืนของธรรมชาติที่เคยเป็นตัวแทนความนิรันดร์ ซึ่งจะใช้งานศิลปะร่วมสมัยนำเสนอภาพภูเก็ตที่ต่างจากภาพนำเสนอตามประเพณีนิยมที่ผ่านมาในฐานะเมืองท่องเที่ยว Thailand Biennale, Phuket จะเป็นโอกาสนำเสนอภาพลักษณ์อื่นๆ ให้กับนักเดินทางและผู้มาเยือนจากทั่วโลก เน้นให้เวลากับธรรมชาติแทนการชื่นชมธรรมชาติ ซึ่งทั่วโลกตระหนักความเสื่อมถอยทางระบบนิเวศวิทยา การใช้ทรัพยากรอย่างเร่งรีบโดยไม่ดูแลรักษาธรรมชาติ งานจะเชื้อเชิญให้มาปกป้องภูเก็ตในฐานะสมบัติของโลก
“ ภูเก็ตเหมาะที่จะเป็นพื้นที่พูดสิ่งเหล่านี้ ขณะที่โลกทั้งใบมีแต่ความเร่งรีบ มีแต่ภัยสงคราม ภูเก็ตกลายเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องมาเพื่อหลีกหนีปัญหาที่สะสมอยู่ เพราะภูเก็ตเป็นหนึ่งในสถานที่ที่งดงามที่สุดในโลก มีธรรมชาติเยียวยาจิตวิญญาณ เป็นโอกาสให้ผู้เข้ามาใช้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ต้องปกปักษ์รักษาบ่อน้ำเหล่านี้ด้วย งานศิลปะจะนำเสนอการระบบนิเวศที่เราใช้ร่วมกัน การเคารพต่อมิติธรรมชาติ มีศิลปินร่วมสมัยผลงานระดับนานาชาติทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมมหกรรมฯ 60 คน เช่น แอนดรูว์ โธมัส หวง จะรังสรรค์ศิลปะภาพยนตร์และดนตรี สร้างภาพลักษณ์จดจำภูเก็ตในอีกรูปแบบหนึ่ง ขยายฐานการรับรู้ผู้ชม อิสเบล ซีแกต ดีไซเนอร์ออกแบบStreet Wear มีแบรนด์ของตัวเองและสร้างงานศิลปะโดยใช้สัญลักษณ์พื้นถิ่นฟิลิปปินส์ เธอจะมาร่วมยกระดับเคบาย่าชุดแต่งกายพื้นถิ่นสู่ศิลปะร่วมสมัย หรือสันติ ลอรัชวี ศิลปินนักออกแบบ จะสร้างกราฟฟิก Meterial สร้างความประทับใจแรก ผมและทีมคิวเรเตอร์ยังมีแนวทางจัดทำผลงานศิลปะติดตั้งถาวรในภูเก็ต สร้างวิสัยทัศน์ให้กับคนดู เป็นอีกหมุดหมายสำคัญ “ นายอริญชย์ กล่าว
งาน Thailand Biennale, Phuket 2025 จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพ.ย.2568 ถึงเดือนเม.ย. 2569 โดยเชิญศิลปินต่างชาติและศิลปินไทย ปีนี้พิเศษเพิ่มศิลปินรุ่นใหม่ร่วมสร้างงานศิลป์จัดแสดง พื้นที่จัดงานมีความพร้อมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต อาทิ หอศิลป์ร่วมสมัยภูเก็ต อาคารธนาคารชาร์เตอร์ด สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว วงเวียนโรงหนังเริงจิต สวนสาธารณะ อบจ.ภูเก็ต แหลมพรหมเทพ , อำเภอถลาง อาทิ ทุ่งถลางชนะศึก ระเบียงกระจกหาดสุรินทร์ ประตูเมืองภูเก็ต สะพานสารสิน พื้นที่อำเภอกะทู้ อาทิ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ หาดป่าตอง หาดกมลา สวนสาธารณะลานกีฬาอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นโรงเหล้าเก่า และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต
ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์กล่าวทิศทางการจัดแสดงผลงานว่า จากการจราจรที่หนาแน่นในภูเก็ต การกระจายชิ้นงานให้ผู้ชมเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น พื้นที่เขตอำเภอเมืองจะวางแส้นทางเดินชมเมืองเก่าเสพงานศิลปะภายใน 30 นาที ส่วนผลงานที่จะจัดแสดงแหลมพรมเทพและหาดราไวย์ จะมีจุดที่คนดูงานศิลปะสามารถพักและเยี่ยมชมนิทรรศการเปิดบ้านศิลปินในจังหวัดภูเก็ตระหว่างการจัดงานอีกด้วย ส่วนที่กะทู้ มีโรงกลั่นสุรา เป็นพื้นที่เปิดโล่งเหมาะจัดงานศิลปะ แต่ละอำเภอมีจุดเด่นต่างกัน เราวางแผนให้เที่ยวไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภูเก็ตได้ภายใน 3 วัน 2 คืน หลังจากแนะนำผอ.ฝ่ายศิลป์และทีมภัณฑารักษ์แล้ว เดือน พ.ย. จะเปิดตัวรายชื่อศิลปินกลุ่มแรก และพื้นที่ติดตั้งศิลปะถาวร 3 พื้นที่ ก่อนจะถึงมหกรรมปีหน้าทีมวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อจะเป็นการต่อยอดภูเก็ตให้เป็นเมืองศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี
จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567 โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล
ประติมากรรมเพื่อชุมชน แหล่งรวมคนเมืองแห่งใหม่
ใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดให้กับคนเมืองแล้ว การมีสวนประติมากรรมให้เที่ยวชมย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งนัดพบชาวเมืองแห่งใหม่ เต็มเต็มความสุขของการใช้ชีวิตในเมืองด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราหยุดพัก
7 ศิลปินรางวัล'ศิลปาธร' ต้นแบบคนรุ่นใหม่
ศิลปินศิลปาธรล้วนเป็นศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจมุ่งมั่น สร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล’ศิลปาธร’ จำนวน 7 สาขา
ปักหมุดพิพิธภัณฑ์ใน LA ต้องไปชมสักครั้ง
การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศให้สนุกสนาน นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงามตระการตาและแหล่งมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า พิพิธภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งในเดสติเนชั่นที่เราอยากแนะนำให้ไปเยี่ยมชม เก็บเกี่ยวช่วงเวลาพิเศษควรค่าแก่การจดจำ
เปิดงาน'ไทยฟรุ้ง ปรุงไทย' ดึงชุมชนร่วมรักษามรดกภูมิปัญญา
ยิ่งใหญ่กับการเปิดงาน“ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024) โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรม