
“…ที่สามร้อยยอด จุดที่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ถ้าเราขุดลงลึกไปกว่านี้เราอาจจะเจอมนุษย์อายุแสนปีก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเราเจอโครงกระดูกที่เก่าแก่ระดับนั้น ก็จะทำให้ Position ด้านโบราณคดีของไทยขึ้นไปอยู่ระดับโลกได้ ….”
การค้นพบมนุษย์น้ำแข็งอายุ มากกว่า 29.000 ปี ที่ถ้ำเขาดิน อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงกระดูกมนุษย์โฮโมเซเปี่้ยนส์(Homo sapiens) หรือมนุษย์ยุคปัจจุบัน นับเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด
โครงการกระดูกที่ขุดค้นพบนี้ ทีมนักโบราณคดี จากกรมศิลปากร ได้ตั้งชื่อว่า”น้องปังปอนด์” เนื่องจากคาดว่าเป็นโครงกระดูกของเด็กอายุประมาณ 6-8ปี และที่สันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของเด็กก็เพราะพบกระดูกฟันกรามแท้มีฟันน้ำนมอยู่
“น้องปังปอนด์” จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ตอนปลาย (125,000 – 11,700 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นช่วงที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นโลกมากกว่าปัจจุบัน ระดับน้ำในทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้บริเวณอ่าวไทยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อถึงอินโดนีเซีย

การขุดค้นพบ โครงกระดูกของ”น้องปังปอนด์” ไม่ได้มาจากการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นตัวช่วย แต่เป็นผลจากร่องรอยการค้นพบภาพเขียนสีโบราณครั้งแรกบริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว เมื่อปี 2539 จากนั้นในปี 2560 ได้มีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มใหม่ในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยเดียวกับภาพเขียนสีบนเพิงผาฝั่งบึงบัว ปี 2563 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่สำรวจหลักที่เขาสามร้อยยอด จุดประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใด โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ผลการสำรวจได้พบแหล่งโบราณคดีแหล่งใหม่เพิ่มเติมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จำนวน 7 แหล่ง ซึ่งพบแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสี ซึ่ง” ถ้ำดิน ” เป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการค้นพบใหม่ เป็นถ้ำภูเขาหินปูน ขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 125 เมตร ปากถ้ำหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ขนาดความกว้างของปากถ้ำประมาณ 9.5 เมตร ภายในถ้ำแบ่งออกได้เป็น 5 คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีต และมี 3 คูหาที่พบภาพเขียนสี

ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ทำการขุดค้น ศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินอีก เพื่อศึกษาร่องรอยกิจกรรม วัฒนธรรม พิธีกรรมความเชื่อของคนโบราณ มนุษย์ที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และในบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย โดยเลือกขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการพบทั้งภาพเขียนสีบนผนังและโบราณวัตถุอยู่บนพื้นถ้ำ
ลักษณะที่พบโครงกระดูกของน้องปังปอนด์ บนลำตัวถูกทับด้วยก้อนหิน เข้าใจว่าเพื่อป้องกันการขุดคุ้ยของสัตว์ ส่วนศรีษะด้านบนถูกโรยด้วยดินเทศ ซึ่งเป็นดินเป็นสีแดง อันหมายถึงเลือด หรือการมีชีวิต ลักษณะของศพสันนิษฐานว่ามีการทำพิธีกรรม น่าจะห่อหุ้มด้วยผ้า ปลายเท้ามีลักษณะวางชิดกัน น่าจะมีการมัดด้วยเชือก นอกจากนี้ ผนังใกล้หลุม ยังมีภาพเขียนสีปรากฎอีกด้วย

ถ่านที่พบใกล้จุดที่พบโครงกระดูกมนุษย์น้ำแข็ง ถูกนำไปส่งตรวจอายุที่แล็ปในสหรัฐอเมริกา

การค้นหาว่าโครงกระดูกมีอายุเท่าไหร่ นักโบราณคดีที่ขุดค้น ได้คัดเลือกตัวอย่างถ่าน และเปลือกหอย จำนวน 5 ตัวอย่าง ส่งไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ผลการกำหนดอายุ ทำให้ทราบว่าที่ถ้ำดินนี้ มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี ส่วนโครงกระดูกมนุษย์นั้นมีอายุเก่าแก่กว่า เนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ 2 เมตร จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ซึ่งเมื่อขุดโครงกระดูกออกมาจากถ้ำแล้ว จะมีการตรวจโครงกระดูกเพื่อตรวจหาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป

ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาจารย์คณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ‘นักสืบแห่งกาลเวลา’ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” กล่าวว่า การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคน้ำแข็ง ที่ถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติ สามร้อยยอด นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีฝั่งที่เป็นอ่าวไทย ก่อนหน้านี้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่กระบี่ อายุ 4 หมื่นปี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงมีอายุกว่า 8,000 ปี แต่ก็เป็นการทำงานของนักวิชาการอเมริกัน แต่การค้นพบแหล่งโบราณคดีแถบอันดามัน ยังไม่มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง ที่สามร้อยยอดในครั้ง จึงเป็นการศึกษาและค้นพบของนักวิชาการไทยครั้งแรก และเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

“นอกจากโครงกระดูกมนุษย์โบราณแล้ว ยังเจออาหารการกิน เมล็ดพืชหลากหลายชนิด เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ทำด้วยหินและกระดูกสัตว์ การค้นพบครั้งนี้ อาจทำให้เราเจอว่ามีพืชอะไรอีกที่มนุษย์ยุคนั้นกิน ซึ่งจะบอกได้ถึงความมั่นคงทางอาหารของพวกเขาว่า คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น มากสำหรับนักโบราณคดี “
ศ.ดร.รัชนี เน้นให้ความสำคัญกับการพบเมล็ดพืชที่ไม่ใช่ข้าวว่า มีการพบเมล็ดพืชเยอะมากบริเณพบโครงกระดูก แสดงถึงอาหารการกินของพวกเขา มีการกินพืชหลายชนิด เป็นยุคที่มนุษย์มีการใช้ไฟกันแล้ว ซึ่งปกติการค้นพบแหล่งโบราณคดีในไทย ไม่เคยเจอเมล็ดพืช ยกเว้นที่ปางมะผ้า ที่แม่ฮ่องสอน ที่พบเมล็ดพืช แต่การค้นพบเมล็ดพืชที่สามร้อยยอดครั้งนี้ ซึ่งมีเยอะหลายชนิด มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะเป็นจุดไขปริศนาในหลายในเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ในประเทศไทย และประเทศไทยยังเป็นพื้นที่่สำคัญการเคลื่อนย้ายของมนุษย์ที่ออกจากอัฟริกา แล้วเดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนว่าที่สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขื่อมระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ของไทย เคยมีมนุษย์โบราณอพยพเข้ามา โดยก่อนหน้านี้กรมศิลปากร ค้นพบร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตรืที่ภาคใต้ที่ จ.สตูล

“โครงกระดูกที่พบถือว่าเป็นของสำคัญและเก่ามากๆ ถ้ามีการวิเคราะห์สภาพโครงการกระดูก แล้วพบว่าไม่เคยพบเจออะไรแบบนี้มาก่อน ถือว่าเป็นข่าวดีมากๆ โดยเฉพาะของกรมศิลปากรที่มีอายุครบ 100ปีในปีนี้ ตอนนี้ต้องให้เวลาในการค้นคว้าต่อไป นอกจากนี้ เรายังพบค้างคาวในถ้ำแห่งนี้ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาว่าเป็นสายพันธุ์อะไรยังไง การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญทั้งในแง่โบราณคดีและพืชพันธุ์สัตว์ป่าของโลก และยังได้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในอดีต “
ถ้ำดิน แบ่งออกได้เป็น 5 คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีต และมี 3 คูหาที่พบภาพเขียนสี ส่วนการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งหรือน้องปังปอนด์ ยังเป็นการขุดค้นสำรวจเพียงคูหาที่ 3 เพียงคูหาเดียว ยังเหลืออีกหลายคูหาที่ยังไม่มีการขุดค้นจริงจัง ศ.ดร.รัศมี กล่าวว่า การขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์น้ำแข็งรายนี้ ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าถามว่ามีโอกาสที่จะเจออายุมากกว่า 29,000 ปีหรือไม่ เราจะต้องต้องขุดมากกว่านี้ ซึ่งเราอาจเจอหลักฐานที่เทียบเท่าหรือดีกว่าที่เคยเจอในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง อาจเทียบได้กับมาเลเซียที่เป็นมรดกโลก

“การขุดค้นพบมนุษย์น้ำแข็ง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่ยังเป็นจุดที่เริ่มๆเท่านั้น ซึ่งการวิเคราะห์รายละเอียดโครงกระดูกน่าจะเป็นสิ่งที่ค้นพบอะไรที่สำคัญๆได้มากกว่านี้ เทียบกับการค้นพบของอินโดนีเซียที่พบมนุษย์โบราณอายุนับล้านปี ซึ่งของเราเอง ที่สามร้อยยอด จุดที่ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ถ้าเราขุดลงลึกไปกว่านี้เราอาจจะเจอมนุษย์อายุแสนปีก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งหากเราเจอโครงกระดูกที่เก่าแก่ระดับนั้น ก็จะทำให้ Position ด้านโบราณคดีของไทยขึ้นไปอยู่ระดับโลกได้ ในแง่เป็นการสะท้อนการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของมนุษย์ในอดีต”ศ.ดร.รัศมีกล่าว

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายของมนุษย์โบราณ มายังดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน .ดร.รัศมี บอกว่า ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าคนไทยอพยพมาจากภูเขาอัลไต ในมุมวิชาการได้มีการทดสอบ ดีเอ็นเอ กลุ่มชาติพันธุ์อัลไต ปัจจุบันเรียกว่ามนุษย์โบราณจากอัลไต ซึ่งพบว่ามนุษย์อัลไต มีดีเอ็นเอ ผสมหลายสายพันธุ์ มีทั้งมนุษย์นีแอนเดอทัล คนแถบเอเชีย แปซิฟิก คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ่่งบอกความเป็นไปได้ในแง่การเคลื่อนนย้ายของคนอัลไตมายังประเทศไทย แต่ไม่ใช่กลุ่มก้อนใหญ่ แต่อาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ออกจากดินแดนอัฟริกา แล้วค่อยๆเลื่อนลงมาแถบเอเชีย
“การค้นคว้าหรือขุดค้นเราจะต้องทำต่อไปต่อเนื่อง และการที่กรมศิลปากร ประกาศว่าจะมีการสำรวจและขุดค้นต่อๆไปอีก ก็จะทำให้พื้นที่ของประเทศไทยมีความสำคัญในแง่ เป็นแหล่งบ่งบอกวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคก่อนประวติศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการค้นพบใหม่ๆ จะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า ว่าประเทศไทยนั้นเป็นหมุดหมาย หรือเป็นพื้นที่ ที่สามารถอธิบายความเป็นมา การเคลื่อนย้ายของมนุษยชาติในอดีตได้ ” ศ.ดร.รัศมี กล่าว

ด้านนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ อดีตนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณีกระทรวงทรัพยากรธรมชาคิและสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมทีมขุดค้น กล่าวว่า จากที่ร่วมขุดค้นได้พบชั้นถ่านสีดำสลับกับชั้นตะกอนสีขาว เป็นวงจรที่สม่ำเสมอ บริเวณหลุม เป็นข้อสันนิษฐานแสดงให้เห็นผลจากโลกร้อนกับยุคน้ำแข็ง ยุคโลกร้อนน้ำมาก แต่ยุคน้ำแข็งน้ำน้อย ซึ่งชั้นดินที่พบมีสีดำกับขาวสลับกัน แสดงให้เห็นภาวะโลกแต่ละยุคที่ชัดเจน
นักธรณีวิทยา รายนี้ บอกอีกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีการขุดค้นในระดับลึกกว่านี้ ในระดับ 5เมตร ก็อาจจะเจอหลักหลักฐานอะไรมากกว่านี้ เพราะจุดที่เจอโครงกระดูกมนุษย์น้ำแข็ง ยังเป็นระดับ 2เมตร นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคูหา ที่ยังไม่ได้มีการสำรวจขุดค้นสำรวจ ซึ่งถ้าดูจากสถานที่ตั้งของถ้ำ จะเห็นได้ว่าอยู่บนเขา พื้นที่สูงชันมาก มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีเพิงหิน ที่เป็นเหมือนระเบียงยื่นออกไป ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้มนุษย์ในอดีตมักจะเลือกเป็นที่อยู่อาศัย เพราะมีความปลอด จากสัตว์ต่างๆ
“ผมเชื่อว่าถ้าขุดหรือสำรวจจะพบอะไรอีกมาก สังเกตุได้ว่าบริเวณเขาหรือถ้ำแห่งนี้ ที่มีระเบียงหิน ลักษณะแบบนี้มักจะจุดที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ เพราะมีความปลอดภัย และอีกอย่างคุณดูซิ ที่นี่กว่าจะขึ้นมาได้ ขึ้นมายากขนาดไหน” นักธรณีวิทยารายนี้กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมศิลป์ ตรวจสอบโบราณสถานวัดใหญ่พิษณุโลก ไม่พบความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
กรมศิลปากรตรวจสอบโบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารฯ วัดราชบูรณะ วัดวิหารทอง วัดเจดีย์ยอดทอง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ยืนยันไม่พบความเสียหายพร้อมเตรียมส่งมีวิศวกรฯ เข้าสำรวจเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลกระทบในอนาคต