สัญญาณน้ำท่วม ปริมาณฝนผันผวนเสี่ยงภัยพิบัติ

ฤดูฝนไทยเปิดฉากอย่างเป็นทางการ เกิดความกังวลน้ำท่วมจะมาอีกไหม เพราะประเทศไทยประสบกับสภาพอากาศผันผวนฉับพลันในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ในภาคเหนือ อีสาน และใต้ เผชิญกับน้ำท่วมใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน  มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากอุทกภัย  สถานการณ์ฝนในปีนี้หากตั้งรับ ปรับตัวไม่ทัน ผลกระทบจะรุนแรง มีเสียงเตือนจากเวทีเสวนาวิชาการ “ความเสี่ยงภัยพิบัติทางน้ำ 2025 ในภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว” จัดโดยสมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับกรมชลประทาน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยปฏิบัติงานและหน่วยงานกำหนดนโยบายบริหารจัดการน้ำของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานฝ่ายบริหารรัฐบาลเปิดข้อมูลสภาพอากาศ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การเตรียมพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในปี 2568 ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน จ.นนทบุรี  เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

นายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี พ.ศ.2568 นี้ อิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลโซ่ (ENSO) ได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2568 คาดการณ์ภาพรวมฝนปีนี้มีแนวโน้มตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้านพายุจรคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้สภาพพื้นดินชุ่มน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝน อาจทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้

“ ช่วงฤดูฝน 6 เดือนต่อจากนี้ จนถึงวันที่ 30 พ.ย. จะได้ยินแต่คำถามจะเกิดน้ำท่วมมั้ย ฝนเยอะหรือแล้ง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและแนวคิดกันอย่างกว้างขวางของนักวิชาการจากการเสวนาตั้งแต่ต้นฤดูฝนจะได้ชี้ชัดสถานการณ์น้ำ ลดความตื่นตระหนก รวมทั้งได้ข้อสรุปที่ก่อให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อลดภัยพิบัติจากน้ำของประเทศไทย “นายสัญชัย กล่าว

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า มีคำถามภาวะภูมิอากาศสุดขั้วแล้วหรือยัง ทั่วโลกเกิดปะการังฟอกขาว 84%  ขณะที่ประเทศไทยเกิดปะการังฟอกขาว 80% ในฝั่งตะวันตกมากกว่าฝั่งตะวันออก แม้ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้น แต่ระบบนิเวศก็สูญเสียไป กระทบสัตว์น้ำ เกิดหิมะตกในทะเลทราย ดูไบฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นตัวบ่งชี้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศสุดขั้ว ประเทศไทยยมีเรื่องปริมาณฝนสูงสุดโต่งเริ่มน่ากลัว พื้นที่ป่าไม้ที่รองรับน้ำมี 31.4% เทียบกับเป้าหมายปี 2580 ตั้งไว้ 40% ต้องเร่งเพิ่มพื้นที่ป่า การปลูกป่าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม

ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ภัยพิบัติด้านน้ำมีทั้งน้ำเสีย  น้ำแล้ง น้ำท่วม  อนาคตปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น สถิติเกิดน้ำแล้งเพิ่มขึ้น ต้องวางแผนรับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เป็นตัวการเกิดไฟป่าทำลายพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม น้ำท่วมขอยกตัวอย่างปี 2531 น้ำท่วมหาดใหญ่ เสียหาย 4,000 ล้านบาท เกิดโครงการบรรเทาน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่  ปี 2553 เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมหาดใหญ่เสียหายมากกว่าหมื่นล้าน เกิดโครงการคลองระบายน้ำสงขลาชื่อคลองภูมินาถดำริ ปี 2559  ปลายปี 2567 เกิดฝนตกหนักที่สงขลาสะสม 5 วัน พบว่ามีฝนรายวันสูงสุดวัดได้ถึง 451 มิลลิเมตร  พื้นที่เศรษฐกิจไม่เสียหาย แต่มีน้ำท่วม หรือน้ำท่วมร้ายแรงสุดปี 2554   รัฐทำแผนบริหารน้ำจริงจัง ปี 2567 น้ำท่วมใหญ่พื้นที่ภาคเหนือ  เสียหาย3 หมื่นล้าน  เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยนำมาสู่การติดตั้งโทรมาตรเพิ่มเติมในแม่น้ำสายฝั่งไทย-เมียนมา 9 จุด ขณะนี้ติดตั้งแล้ว 4 จุด เพื่อเตือนภัยน้ำหลาก รวมถึงขุดลอกลำน้ำแม่สายวางแผนให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน แต่ฝั่งพม่าที่รับไป 12.8 กิโลเมตร ยังไม่เริ่มทำ เพราะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ งบไปช่วยเหลือภัยพิบัติ รัฐบาลไทยก็เร่งรัดไปแล้ว  ปีเดียวกัน 3 จังหวัดภาคใต้ฝนตกหนัก ปัตตานีฝนรายวันสูง 500 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น้ำท่วมใหญ่  

“ ข้อมูลบางชี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทุกคนกลัวโลกจะร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากโลกร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียส ความหลากหลายของระบบนิเวศจะสูญเสียไปแบบเรียกกลับคืนมาไม่ได้ ปัจจุบันโลกร้อนเกิน 1.6 องศาเซลเซียส ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมมาตรการป้องกันและผลกระทบจริงจัง   “ นายฐนโรจน์ กล่าว

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการประเมินผลกระทบจากความแปรปรวนของอากาศต่อฝนและอุณหภูมิในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย พบว่า 4-5 ประเทศในอาเซียนกระทบหนัก โดยฟิลิปปินส์เป็นพื้นที่แรกเพราะอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงพายุ ก่อนผ่านเข้าเวียดนาม ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นจะรับมือกับภัยพิบัติอย่างไร ย่านอาเซียนน้ำท่วมเป็นปัญหาภัยพิบัติ รองลงมาพายุ วาตภัย ซึ่งจะต้องเจอต่อไปในอนาคต พื้นที่เล็กๆ จะกระทบมากขึ้น  หากย้อนหลังไป 40 ปี อุณหภูมิไม่มีแนวโน้มลดลงเลย แม้ปีลานีญาอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไทยเองก็อุณหภูมิสูงขึ้น ฝนในคาบ 30 ปี ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,622.8 มิลลิเมตร

“ ฝนในบ้านเราไม่สอดคล้องกับภาวะ Enso มากนัก แต่ที่แน่ๆ 10 ปีย้อยหลัง ปริมาณฝนเพิ่มในปีลานีญา ปีเอลนีโญลดลง  ปี 67 มีทั้ง 3 ปรากฎการณ์ในปีเดียวกัน  ปี 68 มีความต่าง ต้นปีมีความเป็นลานีญาเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติหรือเป็นกลาง หลังจากนี้มีแนวโน้มเป็นลานีญาอ่อนๆ  ฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย ไม่ถึง 10% แต่สัญญาณที่สำคัญต้นปีปริมาณฝนเริ่มมีค่าเฉลี่ยมากกว่าปกติ 11 % บ่งชี้ต้นปีดี แต่เข้าสู่ฤดูฝนจริง มิถุนายน กรกฎาคม ยังไม่แน่นอน ห่วงกลางปี สิงหาคม กันยายน แม้มีฝน แต่ปริมาณต่ำกว่าค่าปกติ  แต่หากตุลาคมโชคร้ายมีการก่อตัวของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกถี่ขึ้นหรือร่องมรสุม แม้พายุไม่เข้าไทย แต่จะส่งผลให้ปริมาณฝนในไทยเพิ่มขึ้นเหมือนปี 54 มีพายุ 5 ลูก แต่เข้าไทยลูกเดียว ฝนตกต่อเนื่อง  พายุที่เข้าไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน  ฤดูฝนปีนี้ต้องประเมินเป็นระยะๆ “ นายสมควร กล่าว

ผอ.กองพยากรณ์อากาศย้ำภาวะสุดขีด ลักษณะฝนในไทยเปลี่ยนแปลงฝนตกซ้ำพื้นที่เดิม มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น พื้นที่แคบๆ มีปริมาณฝน 200-300 มิลลิเมตร มากกว่าค่าปกติ อย่างกรณีน้ำท่วมเชียงราย แม่สาย  หลังจากนี้ไทยจะเผชิญลมฟ้าอากาศแบบนี้ถี่ขึ้น ส่วนผลกระทบจากภาวะ Enso และ IOD ในปัจจุบันต่อภูมิอากาศ ไทยได้รับผลกระทบทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย  ฤดูฝนในไทยปี 2568 มีความผันผวนสูง ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งความมั่นใจและแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ  รวมถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศฤดูฝนปีนี้ของไทยในภาพรวม ระยะสั้น 24 ชม. ค่าเฉลี่ยถูกต้อง 90% ระยะปานกลาง 7 วัน ล่วงหน้า ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 88% จะมีผลต่อการแจ้งเตือนภัย

ด้าน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ถอดบทเรียนจากภัยพิบัติที่ผ่านมา อาทิ อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2568 กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ โดยติดตั้งไว้ตามจุดเสี่ยงทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค และสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณฝนเพื่อช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยในทุกพื้นที่ และมีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเตรียมรับมือ   

“ ปีนี้โครงการบางระกำโมเดล ที่ใช้บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก เดิมมี 265,000 ไร่ ปีนี้เพิ่มอีก 62,000 ไร่  ปรับการเพาะปลูกข้าวเร็วก่อนน้ำมา   ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ปรับการเพาะปลูก  ยกระดับการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำให้มีประสิทธิภาพ เหลือน้ำไว้ เพื่อเริ่มเตรียมแปลงปลูกนาปรัง พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมงดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ศักยภาพความจุ 10 ทุ่ง รวม 1,300 ล้าน ลบ.ม.  กำหนดเก็บเกี่ยวกันยายน 68  “

ส่วนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในท้ายได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ อาทิ เรดาร์ตรวจอากาศแบบ Solid-state X-band RID เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ , SWAMP แพลตฟอร์มบริหารจัดการน้ำครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ, rriSAT เทคโนโลยีสำหรับประเมินความต้องการใช้น้ำของพืชล่วงหน้า 7 วัน ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยกระดับการจัดการน้ำให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบรก!กรมชลฯ ตะบี้ตะบันดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

กลุ่มอนุรักษ์น้ำโมงฯ สวดยับกรมชลฯเปิดเวทีย่อยแค่เพียงพิธีกรรมดันโครงการฯผันน้ำโขง เลยชี มูล แต่กีดกัน-ปิดกั้นปชช.ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วม ท่ามกลางข้อกังขาผลกระทบ ละเมิดสิทธิชุมชนซ้ำรอยความล้มเหลวโขง ชี มูล

”รมว.นฤมล“เผย กรมชลฯ จ้างแรงงานทะลุ 6.3 หมื่นคน ย้ำ รัฐบาล”แพทองธาร“พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรและ ปชช.มีรายได้เสริมช่วงนอกฤดูการผลิต

วันนี้( 21 พ.ค.)ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการจ้างแรงงานชลประทานว่า กรมชลประทานได้เดินหน้าจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้เสริมด้วย ช่วงที่เว้นว่างจากการทำการเกษตร

โล่งอก! ‘นฤมล’ เผยเหตุ​แผ่นดินไหว ​ไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั่วปท.

กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่งให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย