เดินหน้าเปิดประเทศ/ติดโควิด-เสียชีวิตทรงตัว

ทำเนียบรัฐบาล ๐ ไทยฉีดวัคซีนทะลุ 70  ล้านโดส ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 9,742 ราย ตาย 74 คน สลดทารก 1 เดือนที่เชียงรายเสียชีวิต ขณะ กทม.ติดเชื้อต่ำพันต่อเนื่อง จับตาประจวบฯ เชียงใหม่ 2 จังหวัดนำร่องด้านท่องเที่ยวยอดพุ่ง โฆษกรัฐบาล ลงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดูความพร้อมต่อยอดเปิดประเทศ บรรยากาศคึกคักทั้งชาวไทย-ต่างชาติ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,742 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,667 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,121 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 546 ราย,  จากเรือนจำและที่ต้องขัง 70 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย 

ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,841,131 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 10,182 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,720,629 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 101,803 ราย อาการหนัก 2,452 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 560 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 74 ราย เป็นชาย 40 ราย หญิง 34 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 53 ราย มีโรคเรื้อรัง 18 ราย เป็นเด็ก 1 เดือน 1 ราย จ.เชียงราย  ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 18,699 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 22 ต.ค. 706,378 โดส ฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จำนวน 69,923,540 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 243,731,286 ราย เสียชีวิตสะสม 4,953,390 ราย

10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 935 ราย, สงขลา 695 ราย, นครศรีธรรมราช 660 ราย, ปัตตานี 512 ราย,  ประจวบคีรีขันธ์ 445 ราย, ยะลา 434 ราย, ชลบุรี 373 ราย, เชียงใหม่ 356 ราย,  สมุทรปราการ 312 ราย และสุราษฎร์ธานี 253 ราย

ที่พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว 46 ประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ว่า ขอให้อ่านดูคำสั่งแล้วกัน ฝ่ายเกี่ยวข้องชี้แจงไปแล้ว ทำไมนายกฯต้องมาพูดอีก

เมื่อถามว่าจะขอความร่วมมือประชาชนอย่างไร นายกฯ ตอบว่า สื่อก็ต้องช่วยขอความร่วมมือ ไม่ใช่นายกฯ คนเดียว ช่วยกันขยายความไป ซึ่งก็ขอทุกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังเสร็จสิ้นพิธี ก่อนนายกฯ จะเดินทางกลับ ได้พูดคุยกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ คาดว่าเป็นการหารือเรื่องการเปิดประเทศ

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ได้เดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต บรรยากาศการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตกลับมาคึกคักมากตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สังเกตเห็นได้ว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาใช้บริการมากเพิ่มขึ้นทั้งขาเข้าและขาออกด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจบรรยากาศโดยรอบแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ได้พบเห็นกิจการร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการเกือบในระดับปกติด้วย จากการลงไปพูดคุยสอบถามกับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า-แม่ค้า ฝากขอบคุณรัฐบาลที่ให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดประเทศ รวมทั้งยังได้ฝากขอบคุณนายกรัฐมนตีที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดรัฐบาลเพิ่มเงินในโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีก 1,500 บาท สนับสนุนการใช้จ่ายในช่วงสองเดือนสุดท้ายปลายปีด้วย ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรายงานว่าจำนวนนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1-21 ตุลาคมนี้ สะสม 113 วัน จำนวน 53,120 คน มียอดเงินใช้จ่ายแล้วกว่า 3,192 ล้านบาท

นายธนกรเปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การเปิดรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่กักตัว และไม่จำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พฤศจิกายน เป็นการทยอยเปิดตามช่วงเวลาที่ชัดเจน ด้วยกลยุทธ์การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (Smart Entry) เน้นเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ เบื้องต้น เพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชนควบคู่กับการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ +1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด เงื่อนไขคือผู้ที่จะเดินทางจะต้องพำนักในประเทศที่กำหนดนั้นๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ยกเว้นคนไทยหรือเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งต้องมีการจองโรงแรม AQ 1 คืน ระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR

2.ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไหนก็ได้ (กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ในกลุ่มแรก) โดยใช้หลักการเดียวกันโปรแกรมแซนด์บ็อกซ์  (Sandbox) และต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) คือ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ด้วยวิธี RT-PCR และมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 ยูเอสดอลลาร์ จองที่พัก 7 คืน ตามมาตรฐาน และต้องเป็นโรงแรมที่อยู่ใน Sandbox area  มีการตรวจหาเชื้อซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และเมื่อครบ 7 วันแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้

3.กรณีกลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภท เช่น คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับแล้วยังไม่ครบ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขการกักกัน ในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด ทั้งสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ) สถานกักกันโรคทางเลือก (AHQ) ที่จัดการโดยเอกชน สถานกักกันโรคของหน่วยงานหรือองค์กร (OQ) และสถานที่กักกันในส่วนของโรงพยาบาล (HQ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละกรณีจำเป็นต้องเข้ารับการกักตัว โดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางกลุ่มจะมีการกักตัว 7-10 วัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลและ ศบค.กำหนดโครงการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว เริ่ม 1 พ.ย.นี้ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลาที่ชัดเจนคือ ระยะที่ 1 ช่วงวัน 1-30 พฤศจิกายน 64 (พื้นที่ 17 จังหวัดนำร่อง),  ระยะที่ 2 ช่วงวัน 1-31 ธันวาคม (เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน) และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 65 (พื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน) ในแต่ละช่วงเวลา จะมีการปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและประเทศต้นทาง รวมทั้งยังมีการประเมินผลการเข้าราชอาณาจักรทุก 1-2 สัปดาห์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของประเทศต้นทางด้วย

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดในการเปิดประเทศคือ การดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ โดยเน้นกำหนดประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ มีเกณฑ์การฉีดวัคซีนสูง นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนและมีผลตรวจ RT-PCR ขณะเดียวกันก็ขอคนไทยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการปฏิบัติตนเองตามมาตรการสาธารณสุข ดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และทุกกิจการ/กิจกรรม ต้องยึดหลัก (COVID-19 Free Setting) เพราะขณะนี้ได้ผ่อนคลายมาตรการและไม่จำกัดการเดินทางแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการควบคุมหรือล็อกดาวน์ เพราะจะทำให้พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอีก มั่นใจทุกคนร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันเดินหน้าประเทศไทย เพราะความสำเร็จในการเปิดประเทศขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง