สมัครผู้ว่าฯกทม.ทะลุ31คน

ทุบสถิติ สมัครผู้ว่าฯ กทม. 31 คน และ ส.ก.  382 คน "อัศวิน" ไม่กังวลผลโพลธรรมศาสตร์ มั่นใจ! ลงพื้นที่ครบ 7 วันเสียงตอบรับดีเกินคาด "ดร.เอ้" ลั่นหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ขอสู้กับโควิดสุดชีวิต แย้มเปิดโฉมป้ายหาเสียงไซส์ใหม่ "จิ๊บ-ศศิกานต์" แถลงเปิดตัวชูนโยบายกรุงเทพฯ ปลอดภัยร่วมงานได้ทุกกลุ่ม "วินท์" ร่วมหนุน ปัดส่งมาตัดคะแนนก้าวไกล

ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เขตดินแดง วันที่ 4 เมษายน  นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) ร่วมแถลงผลการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ว่า ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม - 4  เมษายน 2565 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จำนวนทั้งสิ้น 31 คน เพศชาย 25 คน เพศหญิง 6 คน อายุสูงสุด  72 ปี และอายุน้อยสุด 43 ปี

ส่วนการรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต  มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น จำนวน 382 คน โดยเขตที่มีผู้สมัครมากสุด จำนวน 10 คน มี 2 เขต ได้แก่ ดุสิตกับสวนหลวง  และเขตที่มีผู้สมัครน้อยสุด จำนวน 6 คน รวม 8 เขต  ได้แก่ สัมพันธวงศ์, ตลิ่งชัน, ภาษีเจริญ, หนองแขม,  บางพลัด, ดินแดง, บางซื่อ และคันนายาว โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครมากที่สุด โดยผู้ว่าฯ กทม.ที่เคยมีผู้สมัครมากสุด 25 คน ครั้งนี้มี 31 คน และผู้สมัคร ส.ก.เคยมีผู้สมัครมากสุดกว่า 200 คน ครั้งนี้มี 382 คน

จากนี้จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร และประกาศรายชื่อผู้สมัครเป็นทางการในวันที่ 11 เมษายน และสามารถยื่นคัดค้านภายใน 3 วัน คือวันที่ 14 เมษายน ที่สำนักงาน  กกต. กรุงเทพฯ อาคาร B ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ ฝากเตือนผู้สมัครในการหาเสียงช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  สามารถทำได้ถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ด้านนายสมชัย ประธาน กกต.ทถ.กทม. กล่าวถึงข้อห่วงใย 2 เรื่อง คือ การแต่งตั้งผู้แทนผู้สมัครไปประจำที่เลือกตั้งต่างๆ มีได้ 1 คน/ที่เลือกตั้ง ผู้สมัครต้องส่งรายชื่อมาที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นฯ ณ ศาลาว่าการ กทม. เขตดินแดง ภายในวันที่ 14 พ.ค.65 รวมถึง เรื่องป้ายหาเสียง ผู้สมัครจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดในประกาศ กกต.ทถ.กทม.เพื่อไม่เกิดการผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งมีความผิด

ทั้งนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.วันสุดท้าย คือ นายกฤตชัย พยอมแย้ม เบอร์ 29 พรรคประชากรไทย, นายพงศา ชูแนม  เบอร์ 30 พรรคกรีน และนายวิทยา จังกอบพัฒนา เบอร์  31 ผู้สมัครอิสระ

สำหรับความเคลื่อนไหวของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข  6 ให้สัมภาษณ์กรณีผลโพลของ ม.ธรรมศาสตร์ ที่พบว่าตนเองมีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับที่ 4 ว่า ไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะเท่าที่ทราบมาธรรมศาสตร์ทำโพลมาสามครั้ง  ครั้งแรกได้ 5 กว่าๆ ครั้งที่สองก็ได้ 5 กว่าๆ ตอนที่ยังไม่ได้ประกาศตัว ส่วนครั้งที่สามได้ 11 กว่า ๆ (11.3) ตนเปิดตัวช้ากว่าผู้สมัครคนอื่น และการหาเสียงเพิ่งจะเริ่มต้น  ตนยังมั่นใจในทุกเรื่องที่เคยได้แก้ปัญหา ได้พัฒนา และสร้างสรรค์แต่สิ่งดีๆ ให้คนกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 5 ปีเศษ ซึ่งเชื่อว่าพี่น้องประชาชนมองเห็นและรับรู้ได้

 เมื่อถามถึงกรณีลงพื้นที่หาเสียงครบ 7 วันแล้วเสียงตอบรับเป็นอย่างไร พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ตั้งแต่วันรับสมัครเป็นต้นมา ตนได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนชาวชุมชนตั้งแต่วันนั้นเลย เพื่อไปขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ว่าตนอยากจะทำงานต่อให้ประชาชน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และพร้อมสนับสนุนให้ตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่อ ทำให้มีความฮึกเหิมขึ้น และอีก 48 วันที่เหลือก็ยิ่งมั่นใจเพราะได้ทำการบ้านตลอด        เมื่อเวลา 12.00 น. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หมายเลข 4  พร้อมด้วยนายเมธวิน อังคทะวานิช ผู้สมัคร ส.ก.เขตพญาไท เบอร์ 1 และนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.พรรค ปชป. ลงพื้นที่หาเสียงที่ซอยอารีย์ เขตพญาไท เพื่อแนะนำตัวกับพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่สัญจรไปมา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก  ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยระหว่างหาเสียงอยู่นั้นนายสุชัชวีร์เห็นป้ายหาเสียงของตัวเองตั้งกีดขวางทางเข้าออก  จึงให้เจ้าหน้าที่ถอนการติดตั้งป้ายทันที

นายสุชัชวีร์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.มากถึง 29 คนว่าหวั่นใจหรือไม่ ต้องมีการปรับกลยุทธ์หาเสียงหรือไม่ว่า ในอดีตก็มีผู้สมัคร 20-30 คนมาแล้ว ไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญคือต้องขยันอย่างเดียว และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าสิ่งที่เราพูดไปทำได้จริง ยอมรับว่าป้ายหาเสียงมีจำนวนมากจริงๆ แต่ป้ายของตนยังน้อยอยู่ เพราะพยายามระมัดระวังมาก เราคิดมาล่วงหน้าแล้วว่าป้ายเรามีหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับยุคสมัย ของเราก็มีที่ตั้งใจไว้แล้ว เล็กมากๆ ก็มี ขอให้คอยติดตามดู

"จากการลงพื้นที่พ่อค้าแม่ค้าพูดเหมือนกันหมดว่า  กรุงเทพฯ มันเฉาเพราะเศรษฐกิจยุคโควิด ดังนั้นตนตั้งใจว่าหากได้เป็นผู้ว่าฯ งานแรกคือต้องลงไปสู้กับโควิดแบบถึงลูกถึงคน เพราะถ้าโควิดยังแย่อยู่ อะไรก็แย่หมด หากแก้ปัญหาโควิดได้ 1 เรื่อง จะได้ตามมาอีก 4 เรื่อง คือ 1.เศรษฐกิจดีขึ้น คนได้กลับมาทำงาน 2.นักท่องเที่ยวกลับมา 3.หมอ อาสาสมัครได้กลับไปช่วยประชาชนที่เป็นโรคอื่น และ 4. กทม.ได้เก็บงบฯ เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาช่วยงานอื่นๆ ดังนั้นเรื่องโควิดจึงเป็นเรื่องที่ต้องจัดการสุดชีวิต" นายสุชัชวีร์ กล่าว

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข  11 ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี ผู้สมัคร ส.ก.หมายเลข 4  พรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่เขตสายไหมลุยขอคะแนนสนับสนุน โดยขบวนรถแห่วนรอบพื้นที่ชุมชนเขตสายไหม พร้อมลงเดินพบปะพี่น้องประชาชนที่ตลาดป้าพร ตลาดชุมชนวัดเกาะสุวรรณาราม และซอยแอนเน็กซ์ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น โดย น.ต.ศิธาเปิดเผยว่า หากมีโอกาสได้รับใช้พี่น้องชาวสายไหม ตนจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยกันสร้างสายไหมให้เป็นบ้านแห่งความสุขตามที่พี่น้องในพื้นที่ต้องการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 8  พร้อมทีมงานลงพื้นที่หาเสียงตามชุมชนและตลาดย่านบางนา โดยเริ่มต้นจากวัดบางนาในและวัดบางนานอก ซึ่งได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ขายรวมถึงประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของเป็นอย่างมาก บางรายก็เตรียมดอกไม้มามอบเพื่อเป็นการให้กำลังใจ และขอถ่ายภาพกันตลอดทางที่คณะเดินผ่าน  จากนั้นได้แวะเข้าไปชมและให้อาหารฝูงนกนางนวลที่อาศัยอยู่บริเวณท่าน้ำวัดบางนานอกอีกด้วย

ที่บริษัท เดอะแพลตฟอร์ม สุขุมวิท 22 น.ส.ศศิกานต์  วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 16 ในนามกลุ่มใส่ใจ  นายวินท์ สุธีรชัย หัวหน้ากลุ่มใส่ใจ ร่วมแถลงเปิดตัวนโยบายภายใต้แนวคิด "กรุงเทพฯ ต้องปลอดภัยสำหรับทุกคน" โดย น.ส.ศศิกานต์กล่าวว่า ได้กำหนดแผนการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  และเน้นให้ความสำคัญกับเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ LGBTQ  และผู้ด้อยโอกาส แม้จะเป็นคนต่างจังหวัดแต่อยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่อายุ 15 ปี จึงรับรู้ปัญหาของกรุงเทพฯ มาตลอด   ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกรุงเทพฯ

น.ส.ศศิกานต์กล่าวว่า แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ในแวดวงการเมือง แต่มองว่าเป็นข้อได้เปรียบ เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาก  เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลส่วนต่างๆ อยู่แล้ว การทำงานของกรุงเทพฯ จึงต้องอาศัยการประสานงาน สามารถทำงานได้กับทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่ม หากผู้ว่าฯ มาจากสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ 

เมื่อถามว่า การส่ง น.ส.ศศิกานต์ลงผู้ว่าฯ กทม.เพื่อตัดคะแนนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายวินท์กล่าวว่า การลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล จะอยู่ฝั่งไหน เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้ การสนับสนุนคุณจิ๊บในครั้งนี้ จึงต้องการทำเพื่อแก้ปัญหาให้กรุงเทพฯ อย่างแท้จริง

ภายในงานแถลงข่าว นายมาร์ก ไอน์สไตน์ เชื้อสายทายาทไอน์สไตน์ได้มาร่วมให้กำลังใจด้วย โดย น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า รู้จักกับมาร์ก ไอน์สไตน์ ที่เป็นเพื่อนกันมา 20 ปีแล้ว เห็นปัญหาร่วมกันมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา  เรื่องเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม LGBTQ ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของ กทม.

ส่วนนายสราวุธ เบญจกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 28 เปิดเผยถึงการตัดสินใจสมัครผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่  3 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า จากประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมา ได้พบเห็นปัญหามากมายใน กทม. จึงต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าของกรุงเทพมหานคร  โดยมีแผนที่จะให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้  มุ่งเน้นความประหยัด รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ง่าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง