สธ.ชี้เดลตาพลัสไทยไม่รุนแรง

สัญญาณดีต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อเพิ่มเหลือ 7.7 พันราย เสียชีวิต 66 ราย ท็อปเทนอยู่ใต้ถึง 6 จังหวัด "ศบค." เร่งฉีดวัคซีนชายแดนใต้ สั่งจับตาสายพันธุ์เดลตาพลัส "รมช.สธ." ขอ ปชช.อย่าตื่นตระหนก ยันยังไม่พบเชื้อตัวใดกระทบจนต้องทบทวนเปิด ปท. "อธิบดีกรมวิทย์" ชี้ "เดลตาพลัส" พบในไทยรายแรก คนละตัวกับอังกฤษ ระบุไม่แรงเท่า แต่ต้องเฝ้าระวัง "บัวแก้ว" ปัดขวาง มธ.รับบริจาคโมเดอร์นา 3 ล้านโดสจากโปแลนด์

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,706 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,568 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,234 ราย, ค้นหาเชิงรุก 334 ราย, เรือนจำ 128 ราย, ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,866,863 ราย หายป่วยเพิ่ม 9,532 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 1,749,848 ราย อยู่ระหว่างรักษา 98,150 ราย อาการหนัก 2,414 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 544 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 66 ราย เป็นชาย 27 ราย หญิง 39 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 51 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย อายุ 28 ปี ที่ จ.สตูล โดยยังไม่ได้รับวัคซีน พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 12 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 18,865 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 ต.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 731,718 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 71,237,520 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 25 ต.ค. ได้แก่ กทม. 901 ราย, ปัตตานี 621 ราย, สงขลา 620 ราย, นครศรีธรรมราช 533 ราย, เชียงใหม่ 355 ราย, นราธิวาส 322 ราย, ยะลา 247 ราย, ชลบุรี 245 ราย, ระยอง 229 ราย, ตรัง 227 ราย

ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุม ศปก.ศบค. คาดว่าจะมีการหารือหลังพบสายพันธุ์เดลตาพลัสที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงอาจมีการสั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงวางกำลังตามแนวชายแดนหลังพบการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น

"แผนการรับมือหลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาพลัสที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่มีการกำหนดแนวทางเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในระยะเฝ้าระวัง ส่วนการแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ในระดับทรงตัว และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในนครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส" แหล่งข่าวจาก ศบค.ระบุ
สธ.ยันเดินหน้าเปิด ปท.

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงชี้แจงกรณีพบเชื้อโควิด-19 สายกลายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

นายสาธิตกล่าวว่า กรมวิทย์ติดตามและเก็บตัวอย่างการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อในไทยมาตั้งแต่ต้น เมื่อเราพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ในแต่ละพื้นที่ กรมวิทย์จะมีการชี้แจงมาตลอด ขอให้มั่นใจเรามีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งจากการติดตามยังไม่พบเชื้อตัวใดในไทยที่มีนัยสำคัญจนถึงต้องทบทวนเรื่องการเปิดประเทศ

"ขอย้ำว่าอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข้อมูลอย่างมีสติ ติดตามกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติตัวให้ถูกกับสถานการณ์" รมช.สธ.กล่าว

ส่วน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการได้ตรวจเรื่องการกลายพันธุ์ พบว่าระยะหลังประเทศไทยส่วนใหญ่พบสายพันธุ์เดลตา โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 1,000 รายเศษ เป็นเดลตา, อัลฟา 7 ราย และเบตา 9 ราย ภาพรวมประเทศ มีเดลตาร้อยละ 98.6 ส่วนคำถามว่า 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา กรณีที่ จ.ยะลา ระบุว่าพบอัลฟาเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วตอนนั้นยังตรวจตัวอย่างไม่มาก จึงพบเป็นอัลฟา แต่ขณะนี้เราตรวจเพิ่มขึ้น ก็พบว่าเดลตากินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ใน 4 จังหวัด เพราะสัปดาห์ล่าสุดพบอัลฟาเพียง 3 ราย, เดลตา 377 ราย และเบตา 9 ราย ฉะนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่าการระบาดทั่วทุกภูมิภาคเป็นเดลตา พบเบตาในภาคใต้เล็กน้อย และอัลฟาลดลงเรื่อยๆ

"ที่มีการพูดถึงสายพันธุ์เดิมคือ อัลฟา เดลตา แต่มีพลัสขึ้นมา ซึ่งหมายความว่ามีส่วนของสายพันธุ์เดิม แต่มีการเติมการกลายพันธุ์บางอย่างขึ้น เช่น ขณะนี้พบอัลฟาพลัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K โดยเป็นตำแหน่งหลบภูมิคุ้มกันได้ ทำให้อาการมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งพบตรวจจับได้ในระบบเฝ้าระวัง เราเจออัลฟาพลัสในช่วงปลายเดือน ก.ย.2564 จำนวน 2 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ต้องขัง ที่อาจมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และส่วนตะวันออก พบที่จันทบุรีและตราด ในล้งลำไย 16 ราย เป็นคนกัมพูชา 12 ราย อีก 4 รายเป็นคนไทย ซึ่งเราประสานกับพื้นที่เพื่อควบคุมโรค โดยจะมีการขยายการตรวจพื้นที่อื่นเพิ่มเติม" นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทย์กล่าวว่า การรายงานในจีเสด (GISAID) ถึงสายพันธุ์อัลฟาพลัส พบว่าจริงๆ แล้วส่วนใหญ่พบในประเทศใกล้บ้านคือกัมพูชา ซึ่งกำลังระบาดเป็นจำนวนมาก โดยการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484k ซึ่งพบอยู่ในเบตาและแกมมา ทำให้เกิดการหลบภูมิได้มากพอสมควร ดังนั้นอิทธิฤทธิ์ของอัลฟาพลัส คืออยู่ระหว่างเบตาและแกมมา ดังนั้นหากพบมากก็จะหลบภูมิ แต่โชคดีที่อัลฟาถูกเบียดโดยเดลตาทำให้อำนาจการกระจายไม่สูงเหมือนเบตาที่อิทธิฤทธิ์มากในภาคใต้ แต่ถูกเบียดและลดลงจำนวนลงเรื่อยๆ

"อัลฟาพลัสไม่ใช่เชื้อใหม่ แต่พบที่อังกฤษเป็นประเทศแรก เมื่อปลายเดือนธ.ค.2563 และก็ระบาดในกัมพูชาในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ขณะที่สายพันธุ์เดลตาพลัสมีความซับซ้อนเล็กน้อย เนื่อจากเดลตาปกติ (B.1.617.2) ที่ระบาดในอินเดียและทั่วโลกกว่าร้อยละ 80-90 มีตระกูลลูกหลานจาก .2 ก็เพิ่มเป็น .2.1, .2.3 เขาเห็นว่ายาวเกินไป เพื่อทำความเข้าใจได้มากขึ้นก็เปลี่ยนเป็น AY ซึ่งขณะมี AY1-47 ชนิด เป็นตามระบบการเรียกทั่วโลก โดยทุกอันต้องมีฐานคือเดลตาอยู่ก่อน เมื่อมีการกลายพันธุ์จุดอื่นก็เรียกเป็นเดลตาพลัส ส่วนสายพันธุ์ย่อยมีในประเทศไทย ตามระบบที่เราตรวจจับได้ เช่น AY3, AY4, AY10 เป็นต้น เจอมากน้อยต่างกันไป แต่ที่พบมากคือ AY30 กว่าพันราย และ AY39 อีก 83 ราย" อธิบดีกรมวิทย์กล่าว

เดลตาพลัสคนละตัวกับอังกฤษ

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ที่มีคนถามถึง AY4.2 หรือเดลตาพลัส ที่เป็นประเด็นในอังกฤษ พบการระบาดพอสมควร ทั้งในอังกฤษและยุโรปหลายประเทศ โดย AY4.2 คือเดลตา แล้วมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง Y145H และ A222V ที่เรากังวลคืออำนาจการกระจายเพิ่มจากเดลตาปกติประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งไม่มากหากเทียบกับอัลฟาที่มากกว่าสายพันธุ์จี 1.7 แล้วจากอัลฟามาเป็นเดลตา ก็ 1.4 หรือร้อยละ 40 อันนี้มากกว่าเดลตาร้อยละ 10-15 แปลว่าเร็วกว่าเล็กน้อย แต่วันนี้ไทยยังไม่พบ AY.4.2 ซึ่งอาจจะพบได้ในวันอื่นแต่วันนี้ยังไม่พบ

อธิบดีกรมวิทย์กล่าวว่า การพบเกิดจากได้รับข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ทหารที่ตรวจตัวอย่างใน จ.กำแพงเพชร เมื่อเดือน ก.ย.2564 จากผู้ป่วยชาย 1 ราย จาก จ.พระนครศรีอยุธยา มีการตรวจพบเป็นเดลตาพลัสที่เป็น AY.1 ที่เกิดการกลายพันธุ์ที่ K41.N ซึ่งเป็นคนละตัว 4.2 แต่ขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลในโลกว่า K41.N จะเกิดอิทธิฤทธิ์อะไรกว่าเดลตาอย่างไร ต่างกับ 4.2 ที่มีข้อมูลว่าแพร่เร็ว แต่ทั้งหมดยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าจะมีปัญหา แต่เรากลัวว่า K41.N จริงๆ ก็พบในเบตาเหมือนกัน ซึ่งเราต้องจับตาดู

"สรุปขณะนี้ไทยพบอัลฟาพลัส 18 ราย เดลตาพลัส AY.1 เพียง 1 ราย ส่วนเดลตาพลัสที่เป็น AY.4.2 ยังไม่พบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบของเราทำการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 450-500 ตัวอย่าง และส่งข้อมูลเข้าจีเสดภายใน 1 สัปดาห์ ขณะนี้ส่งไปแล้วกว่า 5,000 ตัวอย่าง ข้อมูลจึงเปิดเผยโปร่งใส เพื่อให้เห็นภาพรวมการกลายพันธุ์ของโลก” อธิบดีกรมวิทย์กล่าว

วันเดียวกัน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงกรณีมีหนังสือตอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นา 3 ล้านโดสจากโปแลนด์ มายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้ร่วมมือในการนำเข้าและให้สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอร์ซอ อำนวยความสะดวกและตรวจสอบวัคซีนว่า กต.ไม่เคยขัดขวางใดๆ แต่ กต.ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางจึงได้แนะนำให้ธรรมศาสตร์หารือกรมควบคุมโรคให้คำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินการแทน

จ.สงขลา สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) สงขลา รายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่ 620 เพิ่มขึ้นจากวันที่ 25 ต.ค. ที่พบผู้ติดเชื้อ 586 คน ยอดสะสม 45,412 คน รวมผู้ติดเชื้อในเรือนจำและเดินทางจากต่างประเทศ ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 39,200 คน เสียชีวิตสะสม 179 คน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ใน 8 อำเภอ มี อ.จะนะ หาดใหญ่ รัตภูมิ เมืองฯ เทพา นาทวี สิงหนคร สะบ้าย้อยและ อ.สะเดา

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงการแพร่ระบาดโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สภาพชุมชนของ 4 จว.ชายแดนภาคใต้ใกล้เคียงกับชุมชนแออัดใน กทม. บ้านเรือนจะค่อนข้างหลังเล็กและใกล้ชิดกัน และคนที่อยู่ในบ้านหลังหนึ่งจะอาศัยอยู่กันหลายคนและหลายช่วงอายุ ถือเป็นการระบาดในชุมชน

“ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะนะขณะนี้ 1 ใน 3 เป็นเด็ก ซึ่งอาการไม่มากตามทฤษฎี เพียงแต่เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการแพร่โรค ซึ่งพบว่าบางครอบครัวผู้ใหญ่ดูแลตัวเองดีมาก ไม่ยุ่งกับใคร แต่ติดจากลูกเพราะลูกไปเล่นกับเพื่อนบ้าน และนำเชื้อมาสู่ครอบครัว การเพิ่มวัคซีนคือทางแก้ปัญหาโควิด 4 จังหวัดชายแดนใต้” ผอ.รพ.จะนะกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง