ศบค.จ่อปรับโซนคุมโควิด

ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 8,452 ราย เสียชีวิต 57 ราย "กทม." ต่ำพันติดต่อกัน 6 วัน "ศบค." กังวลบุคลากรการศึกษาพื้นที่แดงเข้ม-แดงไม่ได้ฉีดวัคซีน 1.3 แสนคน ชี้เปิดสอนที่โรงเรียนได้ครูต้องฉีด 2 เข้มอย่างน้อย 85% จับตา "บิ๊กตู่" ประชุม "ศบค.ชุดใหญ่" 29 ต.ค. ถกแผนรองรับเปิดประเทศ พร้อมปรับระดับโซนสีใหม่ "อนามัยโพล" ระบุ 17 จว.นำร่องท่องเที่ยวกังวลเปิด ปท. 75.8% ห่วงโควิดระบาดใหม่ ขอเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็ม ครอบคลุมทุกจังหวัด 70% ขึ้นไป

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,452 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,285 ราย ระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,654 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 631 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 160 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,875,315 ราย ผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 8,449 ราย ยอดรวมหายป่วยสะสม 1,758,297 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98,096 ราย อาการหนัก 2,355 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย เป็นชาย 28 ราย หญิง 29 ราย เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 46 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย มากที่สุด กทม. 9 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 18,922 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนวันที่ 26 ต.ค. 812,009 โดส ฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 72,049,529 โดส

สำหรับผู้ติดเชื้อมากที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. 859 ราย, สงขลา 551 ราย, ปัตตานี 532 ราย, ยะลา 475 ราย, จันทบุรี 358 ราย, นครศรีธรรมราช 345 ราย, นราธิวาส 331 ราย, สมุทรปราการ 306 ราย, ชลบุรี 297 ราย และเชียงใหม่ 270 ราย

"กทม.มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่าพันรายแล้วเป็นวันที่ 6 แต่ยังคงพบคลัสเตอร์ต่างๆ ในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูง เช่น คลัสเตอร์แคมป์คนงานใน จ.จันทบุรี คลัสเตอร์งานศพใน จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่เชียงใหม่ยังพบคลัสเตอร์ในตลาดชุมชน แคมป์คนงาน และโรงงาน จึงขอให้ทุกคนเฝ้าระวังและเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล" พญ.สุมนีกล่าว

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนการฉีดวัคซีนเด็กนักเรียนตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นมา ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านคน จากที่มีการแสดงความประสงค์ 4.5 ล้านคน จึงต้องระดมการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง รวมถึงต้องระดมฉีดให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ครบ 2 โดส อย่างน้อย 85% ถึงจะให้เปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ซึ่งจากการสำรวจพบบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องมาฉีดเพิ่มอีก 131,238 คน

พญ.สุมนีระบุด้วยว่า ในที่ประชุม ศปก.ศบค.มีการรายงานความก้าวหน้าสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีทิศทางแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง รวมทั้งที่ประชุมมีการเร่งรัดเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดให้มีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องวัคซีนเป็นภาษาพื้นถิ่นผ่านช่องทางต่างๆ 2.ต้องมีการจำกัดวงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ มีจังหวัดที่ครอบคลุมวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 50% ได้แก่ สงขลาและยะลา ขณะที่นราธิวาส 43.9% และปัตตานี 45.7% ส่วนความครอบคลุมในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ค่าเฉลี่ย 4 จังหวัดในผู้สูงอายุ 59.4% ในผู้มีโรคประจำตัว 57.9% ทั้งนี้ หากใครไม่สามารถมาฉีดได้ ให้แจ้งผู้นำชุมชนเพื่อให้หน่วยบริการมาฉีดได้ที่บ้าน

"ศบค.มีความเป็นห่วงผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และกว่า 90% ของกลุ่มผู้เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นเป้าหมายหลักในการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการระดมเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวให้ได้มากที่สุด" พญ.สุมนีกล่าว

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 29 ต.ค. เวลา 09.30 น. จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน

มีรายงานว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ครั้งนี้ ทางศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 และทางสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19, การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร, การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ, ความก้าวหน้าแผนรองรับการเปิดประเทศและการระบาดโควิด-19 ของปี 2565

นอกจากนั้น จะมีการรับรองประกาศออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 35และฉบับที่ 36 และยังมีคำสั่ง ศบค. เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามข้อกำหนดฉบับที่ 15, พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ที่ออกตามข้อกำหนดฉบับที่ 18, แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 16 และฉบับที่ 17

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวมาตรการ UP เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศ ว่า กรมอนามัยได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน หรืออนามัยโพล เรื่อง “ความกังวลกับการเปิดเมืองเปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564” ระหว่างวันที่ 14-25 ต.ค.2564 ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด พบว่า มีความกังวล 92.4% เรื่องที่กังวลมากที่สุด ได้แก่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.8% รองลงมา ประชาชนการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง 49.7%, สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 45.10%, กลัวตนเองและครอบครัวติดเชื้อ 41%, มาตรการการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศอาจไม่ดีพอ 39.6%, กังวลว่าจะเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.1%, จำนวนเตียงไม่พอเพียง 31.7% และอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพวัคซีน 2.1%

ส่วนสถานประกอบการกิจการใดที่กังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ส่วนใหญ่ระบุสถานบันเทิง ผับ บาร์ 89.2%, ขนส่งสาธารณะ 43.1%, สถานที่ท่องเที่ยว 39.8%, สถานศึกษา 39.2%, ตลาด 37.4 %, ห้างสรรพสินค้า 34.1%, ร้านอาหาร 28.8%, โรงแรมรีสอร์ต 24%, ร้านสะดวกซื้อ 17.9%, ศาสนสถาน 16.4% อย่างไรก็ตาม มีเพียง 5.5% ที่ไม่กังวลว่าจะมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น

"มาตรการที่ประชาชนเห็นว่าควรที่จะเพิ่มเพื่อทำให้เชื่อมั่นจะปลอดภัย คือเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนทั่วประเทศครบ 2 เข็มครอบคลุมทุกจังหวัด 70% ขึ้นไป 72.53 % คุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 60.58% กำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการและประชาชนอย่างเคร่งครัด 55.10% เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวครบ 2 เข็ม ครอบคลุม 70% ขึ้นไป 52.72% และสนับสุนนชุดตรวจ ATK ให้ทุกคนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ 49.41%" อธิบดีกรมอนามัยระบุ

จ.นราธิวาส นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.อำเภอสุไหงโก-ลก มีมติออกมาตรการให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาอย่างน้อย 1 เข็ม จากแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือไลน์หมอพร้อม มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ยกเว้นกรณีเร่งด่วนด้านการแพทย์ หรือมีเหตุจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกอย่างเด็ดขาด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.64 เป็นต้นไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง