ปลุกหยุดวงจรรัฐประหาร

ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35 ชูธง 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวงจรอุบาทว์ คิดต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตย สร้างความปรองดอง  เพื่อสังคมสันติสุข "ปริญญา" ถอดบทเรียนต้องคิดแบบฝ่ายเผด็จการ ยกร่าง รธน.เพื่อไม่ให้ฉีกได้อีก "จตุพร" ปลุกบอยคอตนักการเมืองสยบยอมเผด็จการ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์  ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หัวข้อ "หยุดวงจรอุบาทว์ คิดต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตย สร้างความความปรองดอง เพื่อสังคมสันติสุข" ระบุว่า เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย มีทั้งคนตายและคนหาย และก็นำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์ที่สุด แต่ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด สาเหตุมาจากนักการเมืองที่ฉ้อฉลและทหารที่ทำการรัฐประหาร กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้  

การจัดงานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรม โดยคณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมปี 2565 จึงเน้นสืบสานภารกิจ 30 ปีวีรชนพฤษภา 35 หยุดวงจรการรัฐประหารเพื่อสร้าง “ประชารัฐธรรมนูญ” ยุติบทบาททหารกับการแทรกแซงการเมืองไทย โดยได้มีการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน  มาแลกเปลี่ยนความเห็นถอดบทเรียนร่วมกัน ในการจัดงานทุกปีได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมกิจกรรม รวมทั้งประชาชนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35 มาร่วมกิจกรรมเหมือนเช่นทุกปี โดยไม่มีการแบ่งแยก และเชิญตัวแทนรัฐบาลมาร่วมงานด้วย “เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนามรัฐ”

สังคมไทยมีประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงาม คนไทยทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุข แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด จุดยืนทางการเมืองต่างกัน จนเกิดความขัดแย้ง  บางครั้งนำไปสู่ความรุนแรงเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่คนไทยก็ให้อภัยและอโหสิกันได้เสมอ เช่นเดียวกับญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่ได้อโหสิให้กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร  เพื่อให้เกิดความปรองดองและสันติสุขขึ้นในสังคมไทย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด คือ 19  กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกร้าวลึกถึงระดับเด็กเยาวชน และยังส่งผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากทุกฝ่ายไม่ถอดบทเรียนและหาทางออกร่วมกันเพื่อขจัดเงื่อนไขความรุนแรง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ขึ้นอีก และจะรุนแรงกว่าทุกครั้ง

ในฐานะประธานคณะกรรมญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ และเชิดชูเกียรติเหล่าวีรชนที่สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อประชาธิปไตย  ได้ประสานงานและร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่างๆ มาโดยตลอด เพื่อให้สังคมไทยเกิดความสามัคคีปรองดอง ยุติความขัดแย้ง ร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง สร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนให้เป็นจริง การทำงานท่ามกลางสังคมที่แตกแยกทางความคิดเช่นนี้ต้องเปิดใจให้กว้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งคิดต่างกันได้แต่ไม่ควรแตกแยก ไม่สร้างความเกลียดชัง

"งานรำลึก 30 ปีพฤษภาประชาธรรม คงจะได้ถอดบทเรียนร่วมกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง  หยุดวงจรอุบาทว์ ทั้งนักการเมืองที่ฉ้อฉลและทหารที่รัฐประหาร และหวังว่ารัฐบาลจะตระหนักและขจัดเงื่อนไขความรุนแรง ทำให้สังคมไทยเกิดความสามัคคีปรองดอง ด้วยการนิรโทษกรรมตามแนวทางที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยเสนอไว้ เพื่อสังคมไทยจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอด ไป" แถลงการณ์ระบุ

วันเดียวกัน ที่ลานกิจกรรมใต้อาคารศิลาบาตร ม.รามคำแหง เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยจัดกิจกรรม  “รำลึก 30 ปี พฤษภาทมิฬ 2535” โดยมีทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันทยอยขึ้นเวทีกล่าวรำลึกเหตุการณ์ ก่อนเสวนาเรื่อง  “รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน”

โดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า  จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ถือว่ามีความเลวร้ายที่สุด เพราะให้อำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ อีกทั้งยังมีการเขียนเอาไว้ให้มีการแก้ไขได้ยากที่สุด ทั้งนี้หากย้อนไปในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจ ขอให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แต่ตอนนี้เหลือเพียงอีก 3 เดือนจะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ครบ 8  ปี จากนี้สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก่อนเลือกตั้ง คือการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนจะแก้ไขตรงไหนนั้น ตนคิดว่าร่างใหม่ทั้งฉบับดีกว่า เชื่อว่าโอกาสจะเปิดอีกครั้งเมื่อ ส.ว.ชุดนี้หมดอำนาจในอีกสองปีข้างหน้า

"ฝ่ายประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียนโดยคิดแบบฝ่ายเผด็จการ คือยกร่างอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้เผด็จการจะปกครองเราไม่ได้ หากเราปกครองตัวเองเป็น ซึ่งผมเชื่อว่าประชาธิปไตยกลับมาแน่  เพราะประชาชนมีความตื่นตัว แม้วันนี้ทุกอย่างจะถอยหลังไปมาก” ดร.ปริญญากล่าว

ดร.ปริญญากล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขอำนาจ คือการรวมศูนย์อำนาจ เพราะทราบหรือไม่ว่าขนาดผู้ว่าฯ  กทม.ที่กำลังจะเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. รมว.มหาดไทยยังมีอำนาจในการสั่งปลดผู้ว่าฯ กทม.และสั่งยุบสภา กทม.ได้ ไม่ต้องพูดถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หากเป็น ปฏิปักษ์ถูกสั่งปลดหมด ดังนั้นต้องแก้ไขให้มีการกระจายอำนาจ และแก้ไขกฎหมายที่มีการให้ตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกฯ

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า  ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ยากถ้าเราก้าวไม่พ้นความกลัว  เพราะความกลัวทำให้เสื่อม และความเสื่อมทำให้กลัว วันนี้นักการเมืองจำนวนมากไม่กล้าท้าทายเผด็จการ ไม่ว่าจะหาเสียงได้คะแนนเท่าไหร่จะกลัวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.), ศาลธรรมนูญ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นจึงตามไปเข้าคอกเผด็จการ หากมายืนอยู่ข้างประชาธิปไตยจะมีแต่หายนะ ฉะนั้นตนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  เป็นไปได้ยากไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีใครยอมปลดอำนาจตัวเอง เหมือนกับความคิดที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เป็นไปได้ยากเพราะมีการล็อกเอาไว้ 3-4 ชั้น ดังนั้นวันนี้เราต้องปลุกประชาชนให้มีความกล้าที่จะไม่เลือกนักการเมืองประเภทที่สยบยอม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง