ธุรกิจการเมืองทำปชต.สะดุด

รำลึก 30 ปี พฤษภา'35 "ชวน" ชี้ "ธุรกิจการเมือง" ทำประชาธิปไตยสะดุดถูกยึดอำนาจเพราะพฤติกรรมของบุคคล ลั่นหลักที่ดีคนที่ดีต้องไปด้วยกัน "ชลน่าน” ซัดรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์ “อานันท์ยกประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังใช้เป็นบทเรียน หวังทุกฝ่ายใช้สติหันหน้าเข้าหากัน มี รธน.ฉบับใหม่ที่เป็น ปชต. เวทีเสวนาจวกกองทัพจ้องสืบทอดอำนาจ "โภคิน" แนะเขียน รธน.ให้รัฐประหารต้องถูกลงโทษ “มาร์ค” หนุนปลดล็อก 250 ส.ว.เลือกนายกฯ หวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 จัดงานพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรม โดยมีตัวแทนองค์กรและหน่วยงานต่างๆ มาร่วมพิธี มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธาน

นายชวนกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 30 ปีเกิดความเปลี่ยนแปลงมาก เวลาส่วนใหญ่ก็เป็นของประชาธิปไตย แม้จะมีการยึดอำนาจถึง 2 ครั้ง แต่กว่า 20 ปีเป็นเวลาของประชาธิปไตย เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไปมีทั้งดีและร้าย และเกิดการสะดุดด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด คือ ธุรกิจการเมือง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยสะดุด ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า ในรอบ 30 ปี แม้มีรัฐธรรมนูญที่ว่าดีอย่างรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ถูกยึดอำนาจ เพราะปัญหาพฤติกรรมบุคคล 

"ดังนั้นข้อสรุปหนึ่งที่อยากเรียนคือ หลักที่ดี คนที่ดี และกฎหมายที่ดีต้องไปด้วยกัน เพราะหากดีเพียงส่วนเดียว เราก็เห็นแล้วว่าในที่สุดเกิดปัญหา แม้รัฐบาลมาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่ยึดแนวประชาธิปไตยจะเป็นเงื่อนไขติดตามมา อย่างเช่นเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ มาจากการไม่ยึดหลักนิติธรรมตามหลักกฎหมาย"

ประธานรัฐสภากล่าวว่า ข้อสรุปที่เป็นบทเรียนเพื่อฟันฝ่าสู่การเป็นประชาธิปไตยต่อไปนั้น นอกเหนือจากหลักที่ดี คนก็ต้องดีด้วย ฝากถึงญาติวีรชนและทุกคนว่า การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้สูญเปล่า แต่ขอเพียงอย่าหวั่นไหวหรืออย่าท้อ ขอให้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเราตัดสินใจเรื่องนี้มานาน 90 ปี และจะไปสู่ปีต่อๆ ไปด้วยระบอบนี้

ภายหลังจากที่นายชวนกล่าวเปิดงาน ได้นำพวงหรีดมาวางเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรชนพฤษภา'35 บริเวณด้านหน้าของอนุสรณ์สถานด้วย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า คนที่มาร่วมกันตรงนี้ในปี 2535 มีจุดประสงค์เพื่อจะเรียกร้องความถูกต้องให้เกิดขึ้นคือ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่การเรียกร้องการต่อสู้ครั้งนั้นจบด้วยการสูญเสีย เพราะมีทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง ผ่านมา 30 ปี แต่สิ่งที่เราพบก็คือ ประเทศนี้ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยได้เรียนรู้ หรือถอดบทเรียนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่หลายคนเรียกว่าวงจรอุบาทว์ และในการรัฐประหารแต่ละครั้งก็มีข้ออ้างที่แตกต่างกัน เป็นความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ทุจริตคอร์รัปชัน ล้มล้างสถาบันเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการต่อสู้และเรียกร้อง ซึ่งเป็นความเห็นต่างในวิถีประชาธิปไตยจะเกิดความสมานฉันท์ ปราศจากการใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดินนี้ต่อไป เพื่อให้บ้านเมืองก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมดุลและแท้จริง" นพ.ชลน่านกล่าว

ต่อมา นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 กล่าวเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา'35 ตอนหนึ่งว่า ความทรงจำเรามีอยู่ เราไม่ลืม แต่เราต้องเดินข้ามไปแล้ว อนุสรณ์ที่เราทำขึ้นมาก็เป็นการปลุกให้คนระลึกถึงว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความเคียดแค้น แต่เป็นอนุสรณ์ของการสร้างบทเรียนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลานของผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรงได้ระลึกเสมอว่า ครั้งหนึ่งได้มีการต่อสู้เพื่อประชารัฐและเพื่อประชาคมเรียกร้องหาสิทธิเสรีภาพ หาโอกาสที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดความอยุติธรรม

หวังทุกฝ่ายใช้สติปรองดอง

"คนเราความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีความแตกแยก มีการต่อสู้ มีการใช้กำลังกันแล้วถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เรามีบทเรียนแบบนี้หลายครั้ง การไม่อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ทำให้ความขัดแย้งที่ลุกล้ำเข้าไปถึงจิตใจประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โมโห โทสะ อย่างรุนแรง ถ้าเราไม่เรียนจากประวัติศาสตร์ว่าสิ่งที่ผ่านมาผิดตลอดเวลา เมืองไทยเราจะหาความสุขสงบได้ยาก เพราะความปรองดองต้องสร้างขึ้นจากพวกเราทั้งหลาย โดยการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะไม่เป็นมิตร แต่สร้างความไม่เป็นศัตรูซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความพยายาม รวมถึงใช้สติ หวังว่าเหตุการณ์ประเภทนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก" นายอานนท์กล่าว 

จากนั้นนายอานันท์ให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองไทยว่า หวังว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทั้งตัวหนังสือและจิตวิญญาณจะเป็นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในแง่สิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคม เป็นเครื่องมือหรือแนวนโยบายขั้นพื้นฐานที่จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่ทุกรัฐบาลควรตระหนักว่าปัญหาการเมืองมีแต่ปัญหาปากท้องประชาชน เศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน จึงอยากเห็นรัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และทำจริงจัง ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและปัญหาปากท้องประชาชนค่อนข้างมากจนมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมรับผิดชอบ นายอานันท์กล่าวว่า ตนไม่มีข้อแนะนำ เพราะไม่มีตำแหน่ง อำนาจ และความรับผิดชอบ ดังนั้นจะพูดอะไรก็ต้องรู้อยู่เสมอว่าตนไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์

ถามว่ารัฐบาลในขณะนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะดูเหมือนความขัดแย้งยังฝังรากลึกอยู่ กังวลว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ นายอานันท์กล่าวว่า สื่อมีส่วนที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางวาทกรรม แต่ที่ร้ายแรงไปกว่าสื่อคือ แฟลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นคนหูเบา พอได้ยินอะไรมาก็ไม่ไตร่ตรอง รับไปเป็นความจริงทันที ตรงนี้ถือว่าอันตราย เรื่องการปรองดองอยู่ในบรรยากาศที่มีการทะเลาะกันในเรื่องสิ่งที่ไม่ควรทะเลาะ ก็ปรองดองลำบาก ดังนั้นทุกคนต้องจับเข่าคุยและหันหน้าคุยกัน เพราะความปรองดองจะปรองดองคนเดียวไม่ได้ อย่างน้อยต้อง 2 ฝ่าย

ช่วงบ่าย ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ โดยมีนายสมชาย หอมลออ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า  รัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้งก็วางรากฐานสืบทอดอำนาจ เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ที่เคยรัฐประหารมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบันเกือบจะ 8 ปีแล้ว และยังออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อจะให้รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจต่อไป ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง

แนะปลดชนวนขัดแย้ง

ด้านนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า พลังศักดินานิยมต้องการจะอยู่อย่างมั่นคง ปลอดภัย และสิ่งที่พลังนี้หวาดเกรงคือการยึดอำนาจจากกองทัพ เพราะพลังฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพลังศักดินาได้เลย เพราะเป็นรูปของสถาบันที่คนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ สิ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหารง่ายในยุคนี้คือการที่ศาลยุติธรรมไปให้การรับรองว่าการรัฐประหาร หากทำสำเร็จก็จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และจะพัฒนาสุดโต่งไปจนถึงขนาดมีการเขียนนิรโทษกรรมการรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ  สำหรับทางแก้คือ 1.ทำอย่างไรเราจะขจัดความคิดอำนาจนิยมได้ 2.เรื่องการมอบอำนาจให้ประชาชนคนตัวเล็กได้ สิ่งที่ตามมาคือ เขาจะไม่อยากมีความคิดอำนาจนิยมอีกต่อไป เพราะตัวเขาคือผู้สร้างประเทศ 3.ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง และต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต่อไปได้ว่าการรัฐประหารไม่อาจจะนิรโทษกรรมได้ และจะถูกลงโทษได้ตลอดเวลา

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้และแสวงหาทางออกคือ 1.ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในแนวทางที่ยึดประชาชน และหากมีความจำเป็นที่ต้องคัดค้านหรือประท้วงเป็นการประท้วงเฉพาะตัวรัฐบาล และไม่นำมาสู่การล้มตัวระบบที่เป็นประชาธิปไตย 2. ต้องมีค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองเข้ามาสนับสนุนด้วย หากต้องการเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย ปัจจุบันนี้เรากำลังเผชิญกับอะไรบ้างนั้นคือ การที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ส.ว.สามารถเลือกนายกฯ ได้ โดยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในกรณีที่ ส.ว. 250 คน ตนไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น และทำให้ย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ปี 2535

 “เพราะฉะนั้นล็อกที่จะต้องปลดอย่างเร่งด่วน คือรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้าผู้มีอำนาจเปิดใจกว้างแล้วยอมรับ ถ้าเสียงข้างมากของ ส.ส.เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลที่ส.ว.สนับสนุนก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เราไม่ควรที่จะปล่อยให้เกิดเงื่อนไขของความขัดแย้งเช่นนั้น แต่ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินและเลือกรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง การจะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือจะต้องยกร่างขึ้นใหม่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แล้วใช้โอกาสนั้นสร้างการเรียนรู้จุดบอดสำคัญของรัฐธรรมนูญคืออะไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง