กอ.มติเอกฉันท์ ให้ออก‘เนตร’ ผิดวินัยร้ายแรง

ก.อ.มีมติเอกฉันท์ให้ออก “เนตร นาคสุข” ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบสั่งไม่ฟ้อง “บอส” ขับรถชน ตร.ตาย ชี้ผิดวินัยร้ายแรง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าทุจริตในการสั่งคดี

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนเเจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ. โดยในที่ประชุมได้มีลงมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต ซึ่งได้มีการส่งผลการสอบสวนให้นายพชร หลังหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

โดยภายหลังการประชุม นายพชร กล่าวว่า ที่ประชุม ก.อ.มีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ซึ่งมี ก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนวินัยนายเนตรจำนวน 6 คน ที่ประชุมจึงให้งดออกเสียง โดยกรรมการที่มีสิทธิลงมติจึงเหลือ 8 คน ซึ่งกรรมการทั้ง 8 คนมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่านายเนตรขาดความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี และไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (อันเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา) เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบ (พ.ร.บ.) ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 และความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

ส่วนความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำครั้งเดียวผิดวินัยหลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่าควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหา “ปลดออกจากราชการ” แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการรับราชการ พบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับราชการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ก.อ.ทั้ง 8 ซึ่งรวมตนด้วย จึงมีมติเเละคำสั่งให้ลงโทษนายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหา ในสถาน “ให้ออกจากราชการ” ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 85, 87

ประธาน ก.อ.กล่าวว่า มติ ก.อ.วันนี้ถือว่าสิ้นสุดแล้วในส่วนของการดำเนินการทางวินัย หากนายเนตรไม่เห็นด้วยกับมติ ก.อ. ยังสามารถใช้วิธีทางปกครองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้ คำสั่งให้ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้ว สำหรับการดำเนินคดีอาญากับนายเนตร ในส่วนของสำนักงานอัยการนั้นคงไม่มีแล้ว คงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์นั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมีนายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง

เป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใดต้องรอดูผลสอบสวน

เมื่อถามว่า การลงโทษนายเนตร นาคสุข แค่ให้ออกจากราชการ มองว่าเป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ นายพชรยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะนายเนตรนั้นในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดีว่าจริงๆ แล้วนายเนตรไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการสั่งคดีนั้นมีการทุจริตตรงไหน นายเนตรถือเป็นอัยการที่มือสะอาด แต่การใช้ดุลพินิจในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ซึ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น และต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม

 “องค์กรอัยการเราอยู่มาถึง 140 กว่าปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้ เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน เป็นข้าแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรมไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว” ประธาน ก.อ.ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของนายเนตร ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ได้ให้เหตุผลในการสั่งคดีว่า จากคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีนายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่สอง ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาในช่องทางเดินที่ 1 (ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 นายจารุชาติชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือ แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไป ในช่องทางเดินรถที่ 3 ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 2 ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์